21 กุมภาพันธ์ 2565
1,958

โอมิครอน BA.2 รุนแรงเท่าเดลตา สายพันธุ์ที่ต้องกังวลตัวใหม่

โอมิครอน BA.2 รุนแรงเท่าเดลตา สายพันธุ์ที่ต้องกังวลตัวใหม่
Highlight

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการของนายเคอิ ซาโตะ นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ของญี่ปุ่น พบว่า  สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ทั้งในแง่อาการ และการเสียชีวิต ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอมิครอน ชี้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดความรุนแรงได้


ผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการของนายเคอิ ซาโตะ นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ของญี่ปุ่น พบว่า  สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ทั้งในแง่อาการ และการเสียชีวิต

จากการศึกษาพบว่า สายพันธุ์รอง BA.2 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน และยังต่อต้านกับการรักษาด้วยยา Sotrovimab หรือชื่อทางการค้าว่า Xevudy ซึ่งเป็นยารักษาโควิดด้วยแอนติบอดี ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท GlaxoSmithKline (GSK) ของสหราชอาณาจักร และบริษัท Vir Biotechnology จากสหรัฐฯ

ผลการศึกษาทั้งหมดตามข้างต้น ได้ถูกเก็บไว้ใน bioRxiv ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงเอกสารงานวิจัย และผลการศึกษาทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่วงการแพทย์ทั่วโลกใช้เป็นที่อ้างอิง

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น หรือวัคซีนบูสเตอร์ ช่วยเสริมภูมิคุ้มให้สูงขึ้น ช่วยลดการเจ็บป่วยในอัตราร้อยละ 74

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ CDC เปิดเผยว่า สายพันธุ์ "โอไมครอน"  BA.2 มีความสามารถในการแพร่ระบาดระหว่าง 30-50%  มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนในปัจจุบัน 

ข้อมูลถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 สายพันธุ์ โอมิครอน รอง BA.2 ระบาด 74 ประเทศ และระบาด 47 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา  

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยรายงานการระบาดโรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ ล่าสุดว่า สำหรับในต่างประเทศนั้น ประเทศที่พบการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รอง BA.2 เป็นสายพันธุ์หลัก ได้แก่ บังคลาเทศ บรูไน(อาเซียน) จีนแผ่นดินใหญ่ เดนมาร์ก กวม อินเดีย มอนเตเนโกร เนปาล ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ นั่นหมายถึง  พบการระบาดในทวีปเอเชียเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Anan Jongkaewwattana 

ระบุว่า อีกไม่นาน โอมิครอน BA.2 อาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ โอมิครอน BA.1 ซึ่งเป็นโอมิครอนสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ซึ่งไวรัสโอมิครอน BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า โอมิครอน BA.1 ประมาณ 30-40%

โอมิครอน BA.2 หนีภูมิได้ดีกว่า BA.1 

ความแตกต่างระหว่างโอมิครอน BA.2 กับโอมิครอน BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามสไปค์ที่ต่างคนต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวของตัวเองแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปค์อาจมีส่วนทำให้ โอมิครอน BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า โอมิครอน BA.1

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่นมีผลการทดลองที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่นเมื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไวรัส โอมิครอน BA.1 และโอมิครอน BA.2 พบว่า โอมิครอน BA.2 หนีภูมิได้สูงกว่า เช่น ภูมิจาก โมเดอร์น่าถูกโอมิครอน BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ โอมิครอน BA.2 หนีได้ 18 เท่า และ ภูมิจาก แอสตร้าเซนเนก้า ถูกโอมิครอน BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่โอมิครอน BA.2 หนีได้ 24 เท่า

2. ที่น่าสนใจคือ ภูมิจากการติดเชื้อ โอมิครอน BA.1 มา ดูเหมือนจะถูก โอมิครอน BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งๆที่หลายคนเชื่อว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอมิครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิจากโอมิครอน BA.1 ถูกไวรัสโอมิครอน BA.2 หนีได้มากถึง เกือบ 3 เท่า 

ผลจากหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปค์ของโอมิครอน BA.1 ก็ถูก โอมิครอน BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่า โอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้ซะทีเดียว

โอมิครอน BA.1 เป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไวรัสเปลี่ยนไปจนจับโปรตีนตัวรับของสัตว์ทดลองไม่ได้ดี หรือ ไวรัสลดความรุนแรงลงจนติดปอดหนูไม่ได้ดีเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ โอมิครอน BA.2 ติดหนูแฮมสเตอร์ได้ดีกว่า โอมิครอน BA.1 มาก

ทีมวิจัยเชื่อว่าโอมิครอน BA.2 อาจจะไม่ใช่โอมิครอนทั่วไปเหมือน โอมิครอน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และ ความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอมิครอน

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล  กล่าวว่า ศูนย์จีโนม ได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ทั้งตัวจากส่งตรวจพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ช่วง ม.ค.-ก.พ.2565 จำนวน 192 ตัวอย่าง พบเป็น

  • โอมิครอน BA.1 จำนวน 169 รายหรือ 88%
  • BA.1.1 จำนวน 5 ราย หรือ 5%
  • โอมิครอน BA.2 จำนวน 2 รายหรือ 1.05%
  • เดลตา AY 85 จำนวน 14 รายหรือ 7.3%
  • อัลฟาจำนวน 2 ราย หรือ 1.04%
  • หากเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำยังพบเป็นเดลตาเกือบ 100%

ขณะที่ฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISIAD ช่วง 40 วันที่ผ่านมาที่ สถาบันการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมและอัปโหลดเข้าไป พบ เป็น

  • โอมิครอน BA.1.1 จำนวน 60% 
  • BA.1 หรือตัวแม่เดิมลดลงเหลือ 19%
  • BA.2 จำนวน 2%
  • เดลตา AY85 จำนวน 14 %

ทั้งนี้ BA.1.1 เป็นการแตกกิ่งก้านจากสายพันธ์ุหลัก BA.1 เล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลก่อให้เกิดอะไรมากขึ้น

ทั้งนี้โอมิครอน BA.2 ในไทยขณะนี้น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่ติดตามพบคุณสมบัติ BA.2 มีการกลายพันธ์ุมากที่สุด จึงส่งผลต่อการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อได้ไวที่สุด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคหรือเสียชีวิตต่างจากโอมิครอนหลัก

ขณะที่ ค่าเฉลี่ยผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นหรือค่า R-0 สายพันธ์ุอู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5 เดลตา 6.5-8 โอมิครอน BA.1 อยู่ที่ 8-15 แต่ BA.2 น่าจะเทียบเคียงหัดอาจจะถึง 18 เพราะไวมาก แต่การติดเชื้อไวในระยะหลังจะเห็นว่าไม่ได้แปรไปตามความรุนแรง

ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นโอมิครอนมากที่สุดขณะนี้คือ เดนมาร์ก ตามด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ส่วนแอฟริกาใต้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปมาก ส่วน อัตราเสียชีวิตจากโอมิครอนก็ต่ำกว่าเดลตา อัลฟาอย่างมาก

สำหรับ ประเทศไทย โอมิครอนเข้ามาประมาณ ก.พ.ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเป็น BA.1 แต่อัตราผู้เสียชีวิตน้อยมาก เพราะมีการฉีดวัคซีนมาก รวมถึงมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปค้นหาช่วยเหลือผู้ป่วยเชิงรุก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ มาจาก BA.2 ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น คาดว่าไม่เกินครึ่งเดือนหรือประมาณปลาย ก.พ.ตัวเลขน่าจะลง เทียบเคียงจากประเทศอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ระบาดมาก่อน

กรมวิทย์เผยยังไม่พบสัญญาณ “โอมิครอน BA.2” รุนแรงในไทย

กรมวิทย์เผยยังไม่พบสัญญาณ “โอมิครอน BA.2” รุนแรงทำคนป่วยหนักกว่าเดลตา แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีที่มีการระบุข้อมูลเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ โอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงเทียบเท่ากับเดลตา ว่าข้อมูลที่จะบอกว่า โอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงกว่า BA.1 หรือมีลักษณะความรุนแรงอย่างไรจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ในไทย 

ซึ่งกรมวิทย์สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวช่วงวันที่ 5-11 ก.พ. จากผู้ติดเชื้อ 1,975 ตัวอย่าง พบ BA.2 ประมาณ 400-500 ราย คิดเป็น 18.5% จึงได้ประสานกับกรมการแพทย์ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อ BA.2 เพื่อให้แพทย์เก็บข้อมูลทางคลินิก อาการของผู้ติดเชื้อ โดยปกติจะใช้เวลามากกว่า 14 วัน ทั้งยังดูอาการหลังจากหายแล้วต่ออีก

“BA.2 ยังอยู่ในลำดับชั้นโอมิครอนเดิม แต่มีการจับตามอง (Interesting) ส่วนการตรวจรักษาไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ เรารักษาตามอาการ วัคซีนยังลดความรุนแรงได้ทั้งเดลตาและโอมิครอน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามถึงธรรมชาติของไวรัสจะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หรือเบาลดลง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง หากไวรัสแรงเกินไป ในอดีตเราเห็นว่าไม่เคยอยู่ได้นาน เพราะคนติดเชื้ออาการรุนแรงเสียชีวิต ไวรัสเองก็ตาย เช่น ไข้หวัดนก ป่วย 25 ราย ตาย 17 ราย โรคเมอร์ส โรคซาร์ส ที่อัตราเสียชีวิตสูง 10-20% ก็จะจบเร็ว ไวรัสที่จะเจ๋ง คือ ทำให้คนเสียชีวิตพอสมควร 3-5% แล้วแพร่เชื้อได้เรื่อยๆ ซึ่งโอมิครอน อัตราป่วยตายเริ่มต่ำลง ข้อมูลตอนนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไรเลย

“เห็นชัดว่าโอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลตา ตอนนั้นติดเชื้อ 1 หมื่นราย เสียชีวิต 200 กว่าราย ตอนนี้ติดเชื้อหลักหมื่นเท่ากัน แต่เสียชีวิต 20 ราย ส่วนความกังวลว่า BA.2 จะรุนแรงหรือไม่ ก็ต้องติดตาม แต่ยังไม่พบสัญญาณจะทำให้คนป่วยหนัก” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ติดต่อโฆษณา!