24 กุมภาพันธ์ 2565
1,471

ศบค.เผย 2 ปี รัฐจ่ายค่ารักษาโควิดไปแล้วกว่าแสนล้านบาท! ล่าสุดยอดพุ่งกว่า 45,000 ราย รวมตรวจ ATK

ศบค.เผย 2 ปี รัฐจ่ายค่ารักษาโควิดไปแล้วกว่าแสนล้านบาท!  ล่าสุดยอดพุ่งกว่า 45,000 ราย รวมตรวจ ATK
Highlight

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดตัวเลขค่ารักษาโควิดตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา พบรัฐจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 101,344 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 มี.ค. 65 มีการปรับราคาใหม่เป็นค่าเฉลี่ย ส่วนโควิดโอมิครอนอยู่ในช่วงขาขึ้น ติดเชื้อพุ่งต่อเนื่อง


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ศบค.ยังคงระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร การแบ่งพื้นที่สียังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

20220224-a-01.jpg

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ถือโอกาสเปิดเผยข้อมูลการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2565 เป็นดังนี้

ปี 2563
มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวม 3,841.15 ล้านบาท แบ่งเป็นกรมบัญชีกลาง 232.19 ล้านบาท ประกันสังคม 306.87 ล้านบาท และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,302.09 ล้านบาท

ปี 2564
รวม 97,747.94 ล้านบาท แบ่งเป็นกรมบัญชีกลาง 3,652.97 ล้านบาท ประกันสังคม 42,917.39 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 51,177.58 ล้านบาท

ปี 2565
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 32,488 ล้านบาท (อยู่ระหว่างเสนอขอรับงบเพิ่ม 51,065.13 ล้านบาท) รวม 32,488 ล้านบาท

20220224-a-03.jpg

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยอดการจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีโควิด ปี 2563 - มกราคม 2565 ประกอบด้วยสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 3,506 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 70,994 ล้านบาท คงเหลือยังไม่เบิกจ่าย 3,090 ล้านบาท โรงพยาบาลเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 27,160 ล้านบาท คงเหลือยังไม่เบิกจ่ายอีก 100 ล้านบาท รวมแล้วใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 101,344 ล้านบาท

20220224-a-02.jpg

หากแบ่งตามผู้ป่วยในระดับสีต่างๆ นั้น ค่าเฉลี่ยจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยสีเขียวภาครัฐต่อราย 23,248 บาทต่อคน ส่วนเอกชน 50,326 บาทต่อคน ขณะที่ผู้ป่วยสีเหลืองภาครัฐ 81,844 บาทต่อคน ภาคเอกชน 92,752 บาทต่อคน และผู้ป่วยสีแดงภาครัฐ 252,182 บาทต่อคน เอกชน 375,428 บาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 มี.ค. 65 มีการปรับราคาใหม่เป็นค่าเฉลี่ย โดยค่ารักษาผู้ป่วยสีเขียวรายละ 12,000 บาท สีเหลืองรายละ 69,300 บาท และสีแดงรายละ 214,400 บาท

นอกจากนี้ เมื่อแยกสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP COVID แยกรายสีผู้ป่วย พบว่า มีประชาชนเข้าใช้บริการเป็นจำนวน 768,491 ครั้ง เป็นผู้ป่วยสีเขียว 88% เข้าใช้สิทธิการรักษาเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยสีเหลือง 11% ผู้ป่วยสีแดง 1% ยังคงให้รักษาแบบ UCEP แต่ให้ปรับรูปแบบใหม่ และให้กระทรวงสาธารณสุขกลับมานำเสนอ ครม. อีกครั้ง

20220224-a-04.jpg

ล่าสุด 24 ก.พ.ยอดติดเชื้อพุ่งกระฉูด 45,797 คน รวมชุดตรวจ ATK

สถานการณ์ล่าสุด 24 ก.พ. สถิติใหม่! นิวไฮอีกวัน ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ (24 ก.พ.) เพิ่ม 23,557 ราย ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 228 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย ผลตรวจ ATK บวกเพิ่มอีก 22,240 ราย รวมกับตัวเลขผู้ป่วยใหม่ยอดรวมพุ่งกระฉูด 45,797 คน

วันที่ 24 ก.พ. 2565 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาลและศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ประจำวันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรวม 23,557 ราย จำแนกเป็น

  • ผู้ป่วยจากในประเทศ 23,329 ราย
  • ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 228 ราย
  • ผู้ป่วยสะสม 570,915 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

วันนี้มีหายป่วยกลับบ้าน 16,131 ราย หายป่วยสะสม 422,095 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 180,993 ราย และเสียชีวิต 38 ราย

20220224-a-07.jpg

โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครรวม 10 ราย รองลงมาเป็นภาคใต้ที่ภูเก็ต กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง สตูล รวม 8 ราย ภาคกลางและตะวันออกได้แก่ ลพบุรี จันทบุรี ระยอง สมุทรสงครามและสระบุรีรวม 7 ราย 

ภาคเหนือที่ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก รวม 7 ราย นครปฐมและสมุทรปราการรวม 4 ราย และภาคอีสาน ที่นครพนมและบุรีรัมย์รวม 2 ราย

ทางด้านกรมควบคุมโรครายงานผลตรวจ ATK วันนี้ว่าพบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่มอีก 22,240 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยร้อยละของการตรวจพบเชื้อเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 27.82% กล่าวคือยิ่งตรวจยิ่งเจอผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม
ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมีจำนวน 905 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 240 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้รักษาตัว 180,993 รายนั้น เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 73,700 คน อยู่ในโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ รวม Home Isolation และ Community Isolation มีจำนวน 107,223 คน

20220224-a-06.jpg

ผู้ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต โอมิครอนน้อยกว่าเดลต้า 10 เท่า 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 430 ล้านราย  วันนี้รายใหม่ 1.8 ล้านราย เสียชีวิตสะสมเกือบ 6 ล้านคน 

ซึ่งสัปดาห์เดียวมีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 11 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 6.4 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม เกือบทั่วโลกติดสายพันธุ์โอมิครอน จึงทำให้การติดเชื้อแพร่เชื้อรวดเร็ว แต่ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยหนักไม่มากเท่าเดลต้า 

ปัจจัยหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และมาตรการการป้องกันโรคของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ซึ่งจากนี้ต้องติดตามอาการผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเป็นสำคัญ

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตของไทยและต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไรนั้น เปรียบเทียบประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงไทย โดยเปรียบเทียบอัตราป่วยและเสียชีวิตต่อประชากรล้านคน ข้อมูลสะสมตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงตอนนี้ อย่างของไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยมีตัวเลขเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 324 คนต่อล้านคน 

ขณะที่ เวียดนามเสียชีวิตสะสมที่ 402 คนต่อล้านคน มาเลเซีย 981 คนต่อล้านคน เยอรมนี 1,453 คนต่อล้านคน แอฟริกาใต้ 1,633 คนต่อล้านคน เป็นต้น หากเทียบสัดส่วนนี้ ถือว่ามาตรการป้องกันโรค มาตรการการฉีดวัคซีน การป้องกันตัวเองของทุกคน การรักษาพยาบาลก็มีส่วนช่วยให้อัตราการเสียชีวิตของไทยน้อยกว่าหลายประเทศ

“ขณะนี้จะเห็นช่วงขาขึ้นของโอมิครอนในไทยและรอบๆบ้านเรา ขณะนี้กลยุทธ์ที่จะมาดูสถานการณ์ร่วมกันจะเน้นหนักไปที่ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต โดยผู้ป่วยอาการหนักจะมีตั้งแต่ปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะช่วยติดตามสถานการณ์ระยะต่อไปนี้ให้มากขึ้น 

เนื่องจากเราฉีดวัคซีนไปมากกว่า 130 ล้านโดสแล้ว โดยหลักการการป้องกันการป่วยหนักจะสามารถทำได้ ส่วนการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศก็พบ ก็ต้องมาดูว่าตัวโอมิครอนมีการแพร่เชื้อเร็วอยู่แล้ว แต่อาการไม่มาก จนกระทั่งอาจไปเจอกลุ่มเสี่ยง มีโรคร่วมก็อาจทำให้อาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจจะเป็นประเด็นสำคัญหลังจากนี้ไป” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า วันนี้ไทยมีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 905 ราย เมื่อ 14 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 569 ราย ซึ่ง 2 สัปดาห์เพิ่มขึ้น 2 เท่า ใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า 

ดังนั้น 14 วันที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนกระทั่งไปเจอกลุ่มเสี่ยง ติดเชื้อมีอาการหนักได้ ส่วนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าสอดคล้องกับปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ 

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักนั้นมีเปอร์เซ็นต์ไม่มาก ประมาณร้อยละ 10-20 สำหรับคนอาการน้อยหรือไม่มีอาการแต่เข้ามาอยู่ใน รพ.นั้นมีถึง ร้อยละ 55.7 หากกลุ่มนี้สามารถทำ HI ได้ก็ดีมาก 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในยอดการติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกัน จากเชื้อเดลต้า 1,800 ราย ส่วนโอมิครอน 188 ราย ห่างกัน 10 เท่า แต่ทั้งนี้ หากเราปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้อย่างรวดเร็วถึง 10 เท่า ก็เสี่ยงที่จะมีคนป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าเช่นกัน จึงต้องคงมาตรการเข้มไว้

20220224-a-05.jpg

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมรณรงค์ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความล่าสุด เกี่ยวกับการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อช่วยประชาชนลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ 

โดยบาคงามดังกล่าวระบุว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อและจากวัคซีนสามารถเสื่อมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่ได้เจอเชื้อโรคเป็นเวลานาน ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อมก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรค เช่น วัคซีนโรคหัดจะให้ภูมิคุ้มกันสูงสุดได้นานมาก หรือวัคซีนไข้เหลืองเข็มเดียวสามารถปกป้องเราได้ตลอดชีวิต 

แต่เนื่องจากโรคโควิดเพิ่งจะระบาดเมื่อปี 2019 เราเลยยังมีข้อมูลไม่มากว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราและวัคซีนจะรับมือกับเชื้อนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเรานำวัคซีนที่มีมาใช้และเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีโอมิครอน ข้อมูลที่เรามีระบุว่าวัคซีนต้านโควิด 19 สายพันธุ์ก่อนโอมิครอน จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงป้องกันการป่วยหนัก การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต

เหตุผลที่สองที่เราต้องรับเข็มกระตุ้นก็เพราะว่าเชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้เร็ว หากการกลายพันธุ์ทำให้โปรตีนที่เปลือกหุ้มของไวรัสเปลี่ยนไป ภูมิคุ้มกันของเราอาจจะจดจจำเชื้อโรคไม่ได้ เพราะอย่างนี้ เราถึงต้องฉีดไวรัสต้านไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์บ่อยมาก 

ข้อมูลที่เรามีชี้ว่าวัคซีนต้านโควิด 19 ที่เรามีป้องกันการติดเชื้อจากโอมิครอนได้ไม่ดีเท่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ถึงอย่างนั้น วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังปกป้องเราไม่ให้ป่วยหนักจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโควิด 19 รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากที่รับเข็มพื้นฐานไปแล้วประมาณ 4-6 เดือน เหตุผลก็เพราะว่าวัคซีนจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามกาลเวลา และปกป้องเราจากการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจากโอมิครอนได้น้อยลง 

วัคซีนต้านโควิด 19 ยังคงปกป้องเราจากการป่วยรุนแรงได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรับวัคซีนเมื่อถึงคิว

อ้างอิง : ศบค. องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข

ติดต่อโฆษณา!