26 กุมภาพันธ์ 2565
5,342

เช็กสัญญาณเตือน 8 อาการ "โอมิครอน" ติดเชื้อแล้วทำอย่างไรในยุคเตียงเต็ม

เช็กสัญญาณเตือน 8 อาการ "โอมิครอน" ติดเชื้อแล้วทำอย่างไรในยุคเตียงเต็ม
Highlight

ยอดติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นทุกวันในลักษณะเร่งตัว ไม่เลือก ชนชั้น วรรณะ ลักษณะของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ติดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า แม้ว่าความรุนแรงจะน้อยกว่าและจำนวนผู้เสียชีวิตจะน้อยกว่าถึง 10 เท่า แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอาจจะนำเชื้อไปติดคนอื่นที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก และพบว่าโควิดโอมิครอน ชนิดไม่แสดงอาการมีถึง 48%


กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยได้เผยถึงอาการป่วยของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ว่า สายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดย 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ

1. อาการไอ 54 %
2. เจ็บคอ 37 %
3. มีไข้ 29 %
4. ปวดกล้ามเนื้อ 15 %
5. มีน้ำมูก 12 %
6. ปวดศีรษะ 10 % 
7. หายใจลำบาก  5 %
8. ได้กลิ่นลดลงมีเพียง  2 %
และพบว่า 48% ไม่มีอาการ

20220226-a-03.jpg

หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อ 23 ก.พ. 65 โดยระบุว่า เรื่องน่ารู้สำหรับการระบาดโควิดของไทย

หนึ่ง วันนี้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา มีจำนวนถึง 209 คน (ชาย 37 คน หญิง 172 คน)

สอง จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 39 คน ราวครึ่งหนึ่งเสียชีวิตภายใน 7 วันหลังทราบว่าติดเชื้อ

กลุ่มที่เสียชีวิตนั้น มีถึง 8 คน (21%) ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และมี "5 รายที่ไม่มีโรคประจำตัว"

ทั้งนี้ผู้ที่เสียชีวิตนั้น 13 คนเคยมีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน โดยที่ 5 คนได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม และ 3 คนได้รับวัคซีน 2 เข็มมาแล้วไม่เกิน 4 เดือน

ที่เล่ามาข้างต้น อยากให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร

การใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง นพ.ธีระ กล่าว

กทม.อัพเดท “เบอร์แจ้งผู้ป่วยโควิด" 

สถานการณ์ระบาดในพื้นที่ กรุงเทพมหานครมหานครกำลังเร่งตัว จน กาม. ต้องเตรียมสำรองเตียงไว้รองรับ เมื่อติดเชื้อโควิด และต้องเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ คนติดโทรเบอร์ไหนได้บ้าง เช็คได้เลย

  • สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
  • สายด่วน 1669 กด 2
  • สายด่วยโควิด (EOC) 50 เขต
  • เพจเฟซบุ๊ก “เทศกิจอาสา”

20220226-a-02.jpg

นพ.วีรพันธ์ สุวรรณนามัย หรือ หมอวี ประสาทศัลยแพทย์ ผู้ผลิตรายการ Dr.V Channel มีผู้ติดตาม 6.47 แสนราย ทางยูทูบ ได้ออกมาทำคลิปแนะนำในรายการ Your Friend is a Doctor แก่ผู้ติดเชื้อ,ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และวิธีป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิดโอมิครอนที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ว่า

ยังมีคนที่ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว ไม่ได้ตรวจอีกจำนวนมาก หรือคนที่มีอาการเล็กน้อย แล้วไม่ได้ตรวจอีกจำนวนมาก เหล่านี้ไม่ได้รายงานเข้าไปในส่วนกลางรวมๆ แล้วมีคนติดเชื้อโควิดวันหนึ่งเกือบๆ แสนคน มีการคาดเดาว่า จะพีคสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ นี้ หลังจากนั้นต้นเดือนมีนาคม ก็จะเริ่มลง”

ติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไร?

นพ.วีรพันธ์ กล่าวว่า มีคนติดเชื้อมากมายติดต่อมา แล้วถามว่า ถ้ายังหาเตียงไม่ได้  ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

“ขนาดที่ว่ามีเงินทองมีเส้นมีสาย ก็ยังหา Hospitel อยู่ยากเลย แสดงว่าในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด ผมเลยทำคลิปนี้ขึ้นมา โดยรวบรวมขั้นตอนไว้" นพ.วีรพันธ์ กล่าว

คนที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อ ให้ทำ Isolation ก่อนเลย แยกตัวเองออกจากครอบครัว แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัว ในระหว่างที่แยกก็พยายามตรวจว่าเราติดเชื้อหรือเปล่า ตรวจ ATK ทุกวัน ถ้า 5 วันไม่ติดเชื้อ ก็ผ่านไปได้

การทำ Home Isolation

นพ.วีรพันธ์ อธิบายว่า คนที่ทำ Home Isolation  ไม่ใช่ทุกคนทำได้ คนที่ทำได้จะต้องมีร่างกายแข็งแรงและอายุไม่มาก

  1. การทำโฮมไอโซเลชั่นได้ ต้องแข็งแรง ไม่อ้วน มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือ BMI ไม่เกิน 25 ถ้า BMI เกิน 30 ไม่ควรทำเด็ดขาด

  2. ถ้าอายุมากกว่า 60 ปีไม่แนะนำให้ทำโฮมไอโซเลชั่น ให้ติดต่อ รพ.

  3. ต้องมีคนที่เราสามารถติดต่อ โทรหาได้เวลาฉุกเฉิน หรือคนที่อยู่ใกล้เคียงที่ติดต่อได้ หากอาการเปลี่ยนแปลงจะได้โทรหาหรือบอกได้ว่าอาการแย่ลง จะได้เตรียมตัวเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล

  4. ต้องไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ เช่น หอบหืด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต หรือโรคระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ

20220226-a-04.jpg

อาการแบบไหนต้องติดต่อคนอื่น 


นพ.วีรพันธ์แนะว่า ระหว่างทำ Home Isolation ถ้ามีอาการรุนแรงต้องติดต่อโรงพยาบาลทันที

  1. เมื่อมีไข้สูง รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ให้ติดต่อโรงพยาบาล

  2. เมื่อมีอาการหายใจเร็วขึ้น เกิน 25 ครั้ง มีอาการหอบเหนื่อย เริ่มหายใจแรง เริ่มใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ หายใจแล้วตัวโยกๆ

  3. บางคนมีอาการท้องร่วง ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน จะสูญเสียน้ำและเกลือแร่

  4. ถ้ามีเครื่องวัดออกซิเจนติดปลายนิ้วหรือนาฬิกาที่จับออกซิเจนได้ ให้นำมาใช้ หากมีออกซิเจนลดลงให้ติดต่อ รพ.ทันทีหรือติดต่อคนที่ท่านมีเบอร์ฉุกเฉินไว้ หรือคนในบ้านที่แยกกันอยู่

การเตรียมตัวดูแลตัวเอง

เรื่องการดูแลตัวเอง แม้จะไม่สามารถอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แนะนำว่า

“ผมจะแบ่งเป็น คู่ชีวิต กับ สามแม่ทัพ ถ้าติดโควิดโอมิครอน แล้วโฮมไอโซเลชั่นเรียบร้อย ติดต่อหน่วยงานรัฐแล้วยังเข้าสู่ระบบไม่ได้ ต้องดูแลตัวเอง

ให้นึกถึงคู่ชีวิตและแม่ทัพที่จะไปสู้กับโควิด คู่ชีวิต คือ ฟ้าทะลายโจร เพราะเราไม่สามารถหายาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ได้ ก็ให้เตรียมคู่ชีวิตคือ ฟ้าทะลายโจรไว้แต่เนิ่นๆ

1. ฟ้าทะลายโจร กินเมื่อติดเชื้อเท่านั้น (อย่ากินป้องกัน) หรือกินหลังจากสัมผัสคนติดเชื้อ แล้วมีอาการเหมือนหวัด แม้ผลตรวจ ATK จะเป็นลบ แต่ถ้ามีอาการเจ็บคอ คัดจมูก หลังสัมผัสคนติดเชื้อ ให้กินฟ้าทะลายโจร ปริมาณสาร Andrografolite 180 mg/วัน ในแต่ละยี่ห้อจะไม่เท่ากัน โดยแบ่งเป็นสามมื้อ กินติดต่อกัน 5 วัน

2 สามแม่ทัพ คือ Vit C, Vit D, Zinc ให้เตรียมไว้ ให้กิน วิตามินซี 1000 mg/ วัน (ส่วนคนที่ติดเชื้อแล้วให้กินเช้า-เย็น) ในช่วงนี้กินป้องกันไปก่อนหนึ่งเดือน หลังจากพ้นช่วงพีคแล้วค่อยว่ากันใหม่

วิตามินดี กินในปริมาณ 1000-10000 IU/วัน สักครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนนี้กินไปก่อน ปลอดภัยกว่า ส่วนคนที่ป่วยให้กิน Zinc สังกะสี อย่างน้อย 15mg ต่อวัน

สำหรับคนที่ติดแล้ว รักษาหายแล้ว คุณหมอแนะนำว่า ให้กักตัวต่อไปอย่างน้อยอีก 7 วัน ให้อาการดีขึ้น หายแน่นอนแล้ว ค่อยออกจากบ้านแต่ต้องใส่แมสปิดตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด

ถ้ารอภาครัฐ อาจไม่ทันการ 

นพ.วีรพันธ์ บอกว่า ในขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก ควรต้องดูแลตัวเอง

“สรุปสั้นๆ อันดับแรก Isolationไอ, คู่ชีวิต, สามแม่ทัพ พกเอาไว้ครับ สิ่งเหล่านี้เราพอจะหาได้ ถ้ามัวแต่รอภาครัฐมาช่วยเหลือ บางทีเรารอ จนแย่ไปซะก่อน ในตอนที่คนเป็นหวัดวันละแสนคน อะไรที่เราพอจะเตรียมการไว้ก่อนได้ เตรียมไว้เถอะครับ ”นพ.วีรพันธ์ กล่าว 

20220226-a-01.jpg

ด้านสภากาชาดไทย สั่งด่วนกำชับถึงผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้าน - ชุมชน ทุกจังหวัด

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ได้กำชับนายกเหล่ากาชาดทุกจังหวัดให้ประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีแนวโน้มเริ่มแพร่กระจายหลายจังหวัดให้ช่วยส่งอาหารถึงบ้านพักที่กักตนเอง

ตามรายงานระบุว่า ข้อความสั่งการในไลน์มีเนื้อหาว่า ขณะนี้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด สายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายจังหวัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและศบค.ได้แนะนำให้ประชาชนที่ตรวจด้วยเอทีเคแล้วพบว่าตนเองเป็นผู้ป่วยโควิดนั้น ในขั้นแรกขอให้ประชาชนพักรักษาตัวในบ้านพักของตนเองก่อน เนื่องจากยังไม่มีอาการรุนแรง 

โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้จัดให้มีแพทย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ (telemedicine) พร้อมส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อรักษาตามอาการเบื้องต้นก่อน 

ทั้งนี้ สภากาชาดไทยโดยสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้รับการประสานจากกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.จะสนับสนุนให้เหล่ากาชาดจังหวัดเป็นหน่วยงานสนับสนุนส่วนราชการอื่นๆ ในระดับพื้นที่จังหวัด 

โดยร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในการสนับสนุนอาหารและยา พร้อมทั้งเครื่องเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตนเองที่บ้านพักเป็นเวลา 10 วัน รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องนอนสำหรับเตียงผู้ป่วยที่พักรวมในชุมชน (Community Isolation) ด้วย อีกทั้ง สภากาชาดไทยได้มีหนังสือกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการช่วยเหลือประชาชนไปแล้วตามหนังสือสภากาชาดไทยด่วนที่สุดที่ สล.ว.126/2565 ลว.1 ก.พ.65

เรื่อง โครงการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) โดยในหนังสือดังกล่าวได้แจ้งแนวทางปฏิบัติงานสรุปสาระสำคัญ

1. ขอให้นายกเหล่ากาชาดจังหวัดหารือกับที่ปรึกษาเหล่ากาชาดจังหวัด(ผวจ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อพิจารณาให้เหล่ากาชาดจังหวัดเป็นหน่วยงานสนับสนุนให้บริการอาหาร ยารักษาโควิดและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตนเองที่บ้านพัก(Home Isolation) และเครื่องนอนประกอบเตียงสนามผู้ป่วยที่พักรวมในชุมชน (Community Isolation)

2. ขอให้นายกเหล่ากาชาดและหรือเลขานุการเหล่ากาชาดจังหวัด ขอความร่วมมือกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดและสมาชิกยุวกาชาดหรืออาสาสมัครสภากาชาดไทย ในพื้นที่มาร่วมดำเนินงานตามโครงการดูแลผู้ป่วยที่บ้านพักด้วย อาจมอบหมายภารกิจให้รับผิดชอบงานต่างๆ เช่น ทำหน้าที่ให้เป็นผู้ประสานงานตรวจสอบคุณภาพและความเหมาะสมของอาหารและเวชภัณฑ์ 

รวมทั้งเครื่องนอนที่ส่งให้ผู้ป่วยทั้งในบ้านพักหรือที่พักรวมประจำชุมชน ทำหน้าที่ในการประสานงานกับสถานีกาชาดพื้นที่หรือสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ เป็นต้น

3. เหล่ากาชาดสามารถเบิกจ่ายงบประมาณค่าอาหาร, ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องนอนตลอดจนค่าจ้างแรงงานในการส่งอาหาร, ยาและเวชภัณฑ์มายังสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหนังสือสั่งการข้างต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดครั้งนี้เป็นสาธารณภัยประการหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
 
สภากาชาดไทย จึงขอให้เหล่ากาชาดจังหวัดได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนเหล่านั้นด้วยความพร้อมเพรียงกันให้เหมาะสมกับการรณรงค์ทำกิจกรรมเพื่อขอรับบริจาคจากประชาชนในยามปกติที่พวกเรามักใช้คำว่า "เราช่วยกาชาด กาชาดช่วยเรา"

อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหา อุปสรรคหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฎิบัติงานหนังสือสั่งการข้างต้น ให้รีบโทรศัพท์หารือมายังผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือผู้อำนวย สน.สล.ได้ตลอดเวลาการปฏิบัติงาน

เกร็ดความรู้ในการดูแลตัวเองช่วงโรคระบาดกำลังเข้าสู่ช่วงพีค อาจมีความไม่สะดวกหลายประการสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน การดูแลตัวเองในเบื้องต้น หรือ Home Isolation อาจจะช่วยบรรเทาความแออัดในโรงพยาบาล ได้ระดับหนึ่ง

ติดต่อโฆษณา!