หญิงตั้งครรภ์ ติดโควิดเพิ่มขึ้นมาก เหตุฉีดวัคซีนน้อย เสี่ยงเกิดครรภ์เป็นพิษ!
Highlight
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มการติดเชื้อโควิดโอมิครอนของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ มีแนวโน้มสูงขึ้น ผลสำรวจพบ 98% มีความกังวล และกว่า 80%ไม่ฉีดวัคซีนทำให้ยอดติดเชื้อ เสียชีวิตสูงขึ้น หากมีอาการท้องแข็งบ่อย เลือดออกทางช่องคลอดให้ระวัง ติดเชื้อโควิดอาจเกิดครรภ์เป็นพิษ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 – 5 มี.ค. 65 พบหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ ติดเชื้อโควิดสะสมจำนวน 7,210 ราย
ในจำนวนนี้มีเสียชีวิต 110 ราย คิดเป็น 1.5% ขณะที่มีทารกแรกเกิดที่คลอดจากหญิงกลุ่มนี้ มีจำนวน 4,013 ราย พบทารกแรกเกิดติดเชื้อโควิด 319 ราย คิดเป็น 8% เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น 1.6%
ทั้งนี้ แนวโน้มการติดเชื้อของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ มีแนวโน้มที่เริ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอน
โดยข้อมูล 4 สัปดาห์ย้อนหลัง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6-12 ก.พ. 65 เป็นต้นมา จะพบการติดเชื้อของหญิงกลุ่มนี้รายสัปดาห์ที่ 59 คน 71 คน 157 คน และ 224 คน ตามลำดับ
แสดงให้เห็นถึงอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตให้น้อยลง เพราะจากข้อมูลผลการสำรวจอนามัยโพล ต่อประเด็นความกังวลของหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ภาพรวม 98% มีความกังวลต่อสถานการณ์ โดยมีความรู้สึกกังวล ตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปถึง 70%
ซึ่งเรื่องที่ทำให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ รู้สึกกังวลมากที่สุดคือ การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รองลงมาคือ สังคมการ์ดตกในการดูแลป้องกัน และกังวลว่าสถานที่ต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด
ในส่วนของการเฝ้าระวังความเสี่ยงตนเองของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จากผลสำรวจอนามัยโพล พบว่ากว่า 80% มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงของตนเองเป็นประจำ โดยสิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือ สังเกตอาการตนเองเบื้องต้น พบถึง 82%
รองลงมาคือหากพบว่าตนเองเสี่ยง จะตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) มีการตรวจวัดอุณหภูมิตนเอง ประเมินตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือการใช้แอปพลิเคชันอื่นๆ
“การป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพื่อสร้างความปลอดภัย ซึ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ ที่ติดเชื้อโควิด จำนวน 7,210 ราย พบว่ากว่า 87% ไม่ได้รับวัคซีน แต่หากได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะมีอัตราตายที่ลดลงเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยข้อมูลข้อมูลการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ ในภาพรวมล่าสุด พบได้รับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว จำนวน 117,385 คน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งฉีดวัคซีนโควิดเชิงรุกแก่หญิงตั้งครรภ์ ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยการฉีดวัคซีนนั้น หญิงตั้งครรภ์รับการฉีดวัคซีนได้ทุกอายุครรภ์ และสามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ที่จำเป็นในขณะตั้งครรภ์ได้
ส่วนหญิงที่มาคลอด และยังไม่เคยได้รับวัคซีน ให้ฉีดวัคซีนโควิดก่อนกลับบ้าน ในกรณีที่ยังไม่สมัครใจฉีด ก็ขอให้ฉีดบุคคลในครอบครัวให้ครบตามเกณฑ์ก่อน
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลหญิงตั้งครรภ์ในกรณีติดเชื้อ หากไม่มีโรคประจำตัว หรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูง สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ แต่ให้งดเยี่ยมระหว่างแยกกักตัว รักษาระยะห่าง งดการสัมผัสกับผู้สูงอายุและเด็ก แยกห้องพัก ที่นอน ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากที่พัก ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่สัมผัสกับผู้อื่น และหยิบจับของ แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอนด้วยสบู่หรือผงซักฟอก
ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้คนสุดท้าย หมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ เตรียมถังขยะส่วนตัวที่มีฝาปิดมิดชิด และของใช้ส่วนตัว ทั้งในบริเวณที่นอน และห้องน้ำ
อาการที่ควรเฝ้าระวัง
สำหรับอาการที่ควรเฝ้าระวังในกรณีแยกกักตัวที่บ้าน คือ 1. ท้องแข็งบ่อย เลือดออกทางช่องคลอด น้ำใสๆ ไหลออกทางช่องคลอด 2. อาการของครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่
อาการที่ควรแจ้งแพทย์ทันที
นอกจากนี้ อาการที่ควรแจ้งแพทย์ และเข้ารับการรักษาทันที คือ กลุ่มผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว ซึ่งมีอาการดังนี้
1. ระบบหายใจมีปัญหารุนแรง ทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอ็กซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง
2. เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลง ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลง 3% จากค่าที่วัดได้ในตอนแรก และ
3. แน่นหน้าอกตลอดเวลา และหายใจเจ็บหน้าอก ตอบสนองช้า หรือไม่รู้สึกตัว
โรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดพบแพทย์ตามนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่เครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป รับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นโควิด-19 จะต้องเข้าระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด
ความเสี่ยงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
- ครรภ์เป็นพิษ
- คลอดก่อนกำหนด
- เลือดแข็งตัวผิดปกติ
- ทารกที่เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อน้อยกว่าทารกในครรภ์ที่คุณแม่ใกล้คลอด
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุด (8 มี.ค.) อยู่ที่ 3,088,873 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 24,747 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 23,438 ราย