15 มีนาคม 2565
1,870

นักวิจัยคาดชาวฮ่องกงเกือบครึ่งหนึ่งอาจติดโควิดแล้ว ไทยเฝ้าระวัง!

นักวิจัยคาดชาวฮ่องกงเกือบครึ่งหนึ่งอาจติดโควิดแล้ว ไทยเฝ้าระวัง!
Highlight

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงประเมินว่า ชาวฮ่องกงประมาณ 3.6 ล้านคนจากทั้งหมด 7.4 ล้านคนอาจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว โดยอ้างผลจากการประเมินความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระลอกปัจจุบันในฮ่องกง ทั้งนี้ผู้นำฮ่องกงกล่าวว่า ไม่อาจปิดเมืองแบบจีนได้ ในขณะที่ไทยพบผู้อาจติดเชื้อโควิดโอมิครอน BA.2.2 แล้ว 4 ราย


ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงประเมินว่า ชาวฮ่องกงประมาณ 3.6 ล้านคนจากทั้งหมด 7.4 ล้านคนอาจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว รายงานระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวนับถึงวันที่ 14 มี.ค. โดยเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ประมาณ 1.8 ล้านคนเมื่อนับถึงวันที่ 7 มี.ค. เมื่ออ้างอิงจากแบบจำลองโรคและการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบัน

นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันจะถึงจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ผู้คนอีกมากจะติดโควิด-19 ก่อนที่การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลง โดยจำนวนรวมมีแนวโน้มจะสูงถึงประมาณ 4.5 ล้านคน

นอกจากนี้ นักวิจัยยังคาดการณ์ด้วยว่าจะมีประชาชนกว่า 5,100 คนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อนับถึงวันที่ 1 พ.ค. เพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้าที่ 5,010 คน โดย 59% ของผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา

20220315-a-01.jpg

ผู้นำฮ่องกงลั่นไม่มีศักยภาพพอที่จะสั่งล็อกดาวน์สกัดโควิดแบบเซินเจิ้น

นางแคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเปิดเผยว่า ฮ่องกงไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการออกมาตรการล็อกดาวน์ และไม่มีระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภาคบังคับที่รวดเร็วเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยว่า ประชาชน 1.7 ล้านคนในเมืองเซินเจิ้นทางภาคใต้ของประเทศจีนต้องเผชิญมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา และทางการจีนจะออกปฏิบัติการตรวจหาเชื้อทั่วเมืองทั้งหมด 3 รอบในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

“เราไม่อาจใช้มาตรการเช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ หากทุกท่านขอให้ฮ่องกงดำเนินการเช่นเดียวกับเซินเจิ้น โดยเร่งปูพรมตรวจหาเชื้อภาคบังคับทั่วทั้งเมือง 3 รอบภายในเวลาไม่กี่วัน ดิฉันเกรงว่าเราไม่ได้มีศักยภาพมากพอที่จะดำเนินการเช่นนั้น”

ในช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ก่อน นางลัมประกาศว่าประชาชนทุกคนในฮ่องกง ซึ่งมีประชากร 7.4 ล้านคน ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อ 3 ครั้งในเดือนมี.ค. แต่สุดท้ายต้องเลื่อนแผนการนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุก่อนและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ นางลัมกล่าวเมื่อวานนี้ว่า แม้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อเมื่อไม่นานมานี้ แต่ฮ่องกงยังคงสามารถเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อได้เพียง 200,000 – 300,000 รายการต่อวันเท่านั้น และจะประสบกับความล่าช้าพอสมควร

20220315-a-02.jpg

จีนปิดเมืองสกัดโควิดลุกลามหลังพบพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงทำนิวไฮ

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยในวันนี้ว่า จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 5,154 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดที่จีนพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่า 5,000 ราย 

โดยขณะนี้จีนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจล็อกดาวน์เมืองต่าง ๆ เพิ่มอีกหลายเมือง และใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังไม่ถือว่ามากเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากการที่จีนเคยสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ หรือ Covid Zero ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่

ข้อมูลของ NHC ระบุว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบล่าสุดนี้ มีกว่า 4,000 รายที่พบในมณฑลจี้หลินซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย โดยมณฑลจี้หลินซึ่งมีประชากรราว 24 ล้านคนได้ถูกล็อกดาวน์ตั้งแต่วันจันทร์ (14 มี.ค.) ขณะที่เมืองหลานฟางซึ่งอยู่ติดกับกรุงปักกิ่ง ได้ถูกล็อกดาวน์ในช่วงเช้าวันนี้ (15 มี.ค.) หลังจากที่มีการชัตดาวน์เมืองเซินเจิ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีนอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดที่สุดในขณะนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนสั่งล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นจนถึงวันที่ 20 มี.ค. โดยจะปิดระบบขนส่งของรถประจำทางและรถไฟใต้ดินทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคธุรกิจในเมืองนี้จะถูกสั่งให้ปิดทำการทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจบริการที่จำเป็น ส่วนบรรดาพนักงานจะถูกร้องขอให้ทำงานจากที่บ้านหากสามารถทำได้ และชาวเมืองเซินเจิ้นจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกเมือง

นอกจากนี้ เมืองตงกวนซึ่งเป็นเมืองสำคัญด้านการผลิตที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งได้ถูกสั่งให้ระงับการผลิตที่โรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทำไมฮ่องกงกำลังเผชิญการระบาดรุนแรงของโอมิครอน

ภาพคนไข้ที่นอนเรียงรายอยู่ด้านนอกศูนย์การแพทย์แคริทัสในฮ่องกง ได้สร้างความสลดใจให้ผู้ที่พบเห็น

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ที่ด้านนอกแผนกฉุกเฉิน มีเตียงค้นไข้หลายสิบเตียงตั้งอยู่ทั้งกลางแจ้ง และในเต็นท์ชั่วคราว ท่ามกลางเสียงร้องระงมของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย พวกเขาต่างเป็นผู้ต้องสงสัยว่าติดโควิด-19 หรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และกำลังรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

"มันให้ความรู้สึกราวกับเราอยู่ในค่ายผู้อพยพในช่วงสงคราม มันน่าหดหู่ใจ พวกเราอยากจะร้องไห้ แต่ก็ไม่มีที่ว่างพอในหอดูแลผู้ป่วย พวกเขาจึงทำได้แค่รอ และเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย" พยาบาลห้องฉุกเฉินคนหนึ่งเล่าถึงสภาพที่เกิดขึ้นให้ทีมข่าวบีบีซีฟัง

อีกหลายวันต่อมา คนไข้เหล่านี้ก็ได้รับการเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในตัวอาคารหลังจากนางแครี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ "ไม่อาจยอมรับได้" แต่ถึงอย่างนั้น โรงพยาบาลต่าง ๆ ของฮ่องกงยังคงท่วมท้นไปด้วยคนไข้ ในขณะที่มหานครแห่งนี้กำลังเผชิญการระบาดของโควิดระลอกใหญ่ที่สุด

20220315-a-03.jpg

ความสำเร็จในอดีต

ที่ผ่านมาฮ่องกงมักถูกยกให้เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปี 2021 เมืองที่มีประชากร 7.5 ล้านคนแห่งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อเพียง 12,650 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตไม่ถึง 220 คน
ความสำเร็จดังกล่าวช่วยสร้างความชอบธรรมในการที่รัฐบาลฮ่องกงดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ "โควิดเป็นศูนย์" ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การตรวจหาเชื้อแต่เนิ่น ๆ การติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งกฎการกักตัวและการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวด

การมาถึงของโอมิครอน

แต่แล้วฮ่องกงก็ต้องเสียท่าให้กับเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่สู่กันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอยู่ที่กว่า 66,000 ราย ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ผู้ติดเชื้อโอมิครอนกลุ่มแรก ๆ ของฮ่องกงเกี่ยวข้องกับกรณีลูกเรือสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค 2 คนที่ละเมิดกฎควบคุมโควิดเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นก็พบการระบาดแบบกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้นในโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัว

มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong หรือ HKU) คาดการณ์ว่า สถานการณ์การระบาดในฮ่องกงจะแตะจุดสูงสุดภายในช่วงกลางหรือปลายเดือน มี.ค. โดยจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงวันละกว่า 180,000 คน หากยังมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแบบในปัจจุบันต่อไป และคาดว่าภายในช่วงกลางเดือน พ.ค. ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งแตะ 3,200 คน

ศาสตราจารย์ แกเบรียล เหลียง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ของ HKU อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้ "เพราะความสำเร็จในอดีตของเรา ผู้คนจึงเกิดความเข้าใจผิด ๆ เรื่องความปลอดภัย"

20220315-a-04.jpg

ระบบสาธารณสุขใกล้พัง

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง จึงทำให้สามารถหายเองได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

แต่หน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกงยังคงยืนกรานให้ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการป่วย หรือมีอาการไม่รุนแรงต้องเข้ารับการกักตัวในศูนย์กักตัวต่าง ๆ ซึ่งเต็มอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลฮ่องกงก็ยังไม่ได้ออกแนวปฏิบัติที่ละเอียดและชัดเจนเกี่ยวกับการกักตัวที่บ้าน โดยระบุเพียงว่า ผู้ที่ติดเชื้อสามารถออกจากกระบวนการกักตัวได้หลังกักตัวไปแล้ว 14 วัน และตรวจไม่พบเชื้ออีก

ศาสตราจารย์ เหลียง กล่าวว่า "สิ่งที่เราต้องทำคือ การยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของเรากำลังจะพังทลายจากการแบกรับภาระนี้เอาไว้"

อย่างไรก็ตาม ทางการฮ่องกงยังคงไม่ยอมละทิ้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เพราะต้องการเอาใจรัฐบาลจีน ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

แต่ ดร.สิทธารถ ศรีธาร นักไวรัสวิทยาจาก HKU ชี้ว่าการยึดถือนโยบายดังกล่าวของรัฐ ทำให้แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิงในฮ่องกง "และตอนนี้ทุกคนกำลังตื่นตระหนก"

เขาระบุว่า หากฮ่องกงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ รัฐบาลก็ควรปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือคนไข้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะเข้าถึงอาหาร ชุดตรวจชนิดทราบผลเร็ว และยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน

ขณะที่ศาสตราจารย์ เหลียง แนะว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ ควรมีการคัดแยกผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐมีเตียงรองรับผู้ป่วยอยู่เพียง 2,000 เตียงเท่านั้น

20220315-a-05.jpg

ไทยว่าอย่างไร

สำนักข่าว บีบีซี ชี้ว่าการระบาดใหญ่ในฮ่องกง มีการระบุว่าอาจเป็นการระบาดของสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ชื่อว่า BA.2.2 หรือ B.1.1.529.2.2 แต่จนถึงวันที่ 14 มี.ค. แม้ยังไม่มีการยืนยันชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการจากระบบฐานข้อมูลโควิดสากล (GISAID) แต่ในประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังจากกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจเฝ้าระวังข้อมูลในไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมเข้าระบบ GISAID กว่า 500-600 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ พบว่ามี 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย หาก GISAID กำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการ ไทยก็จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ทางการของทั้ง 4 รายที่เข้าข่ายนี้ด้วย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า BA.2.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยตัวหนึ่งที่มีการกลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีน พบหลัก ๆ ตอนนี้ ที่ฮ่องกงกับสหราชอาณาจักร ซึ่งข้อมูลที่ป้อนเข้ามาในระบบมีน้อยกว่าที่ตรวจพบ โดยฮ่องกงตรวจพบ 386 ราย สหราชอาณาจักร ตรวจพบ 289 ราย แต่ทั้งสองประเทศมาจากคนละสาย แต่ว่าเป็นสายย่อยของ BA.2.2

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าปรากฏการณ์ที่ฮ่องกง ที่มีการให้ข้อมูลว่าพอเจอสายพันธุ์ BA.2.2 ทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างสูงนั้น ยังไวเกินไปที่จะสรุป เพราะการเสียชีวิตเป็นปรากฏการณ์ติดเชื้อเมื่อ 7-8 วันก่อน บางคนถ้ารักษายาวนานอาจจะเป็นเดือนก่อนด้วยซ้ำ 

ดังนั้น ต้องบอกว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารุนแรงขึ้นเพราะ BA.2.2 อีกทั้งตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ยังไม่มีเหตุผลทีสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเหตุให้ทำลายอวัยวะต่าง ๆ อย่างเช่น ปอดมากขึ้น การพิสูจน์ยังต้องใช้เวลาพอสมควร

ก่อนหน้านี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในอาเซียนพบในสิงคโปร์พบ 11 ราย อินโดนีเซีย 4 ราย บูรไน 2 ราย และกัมพูชา 1 ราย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์

20220315-a-06.jpg

ครม.อนุมัติปรับเปลี่ยนการจัดซื้อยารักษาโควิดจากโมลนูฯ เป็นฟาวิฯ และเรมเดฯ

สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังคงพบผู้ติดเชื้อในระดับสูง และอยู่หว่างตรวจผู้ติดเชื้อ 4 รายที่อาจเข้าข่ายติดเชื้อโอมิครอน BA.2.2 นอกจากนี้ยังปรับระบบการดูแลผู้ป่วยและปรับเปลี่ยนการสั่งยาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยา และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย. 64 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 17,065,457 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จำนวน 5,166 ขวด (Vial)

ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CPG COVID-19) กำหนดให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยา 87% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด และสำหรับยาเรมเดซิเวียร์ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีข้อห้ามในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ยา 2% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ได้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และขยายระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ จากเดิมระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 64 เป็น ต.ค. 64-ก.ย. 65

“กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าว ไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยา เพื่อดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน”

สำหรับความเป็นมาของโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะการระบาดระลอกเม.ย. 64 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64 โดยตามรายละเอียดโครงการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 528.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประกอบด้วยจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวนเงิน 500 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์รายการระบบหมอพร้อม จำนวนเงิน 28.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ต.ค.-ธ.ค. 64 แต่ต่อมา แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เป็นแปลงไปตามสถานการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวมาข้างต้น

อ้างอิง : BBC , ryt9 
ขอบคุณภาพจาก  BBC

ติดต่อโฆษณา!