21 มีนาคม 2565
1,322

เตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอเบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แนะอย่าประมาท!

เตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอเบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แนะอย่าประมาท!
Highlight

US CDC ระบุว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการเป็น "โรคเบาหวาน" ชนิดที่ 1 (IDDM) เพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ติดเชื้อถึง 166% หรือ 2.66 เท่า เยอรมันพบว่าผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) สูงกว่าคนทั่วไป 1.28 เท่า ในที่หมอมนูญกล่าวว่าทุกคนอาจจะติดโควิดโอมิครอน และเชื้อจะค่อยๆ หายไปเอง ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อก็น่ากังวลเช่นกัน


หมอธีระ เตือน ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แนะการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญมาก

โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคที่มีผู้ป่วยสูงที่สุดในประเทศไทย และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 90% โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้ชีวิตแบบตามใจตัวเอง และการเลือกทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารรสจัดโดยเฉพาะรสหวาน 

นอกจากนั้นโรคเบาหวานยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆอีกด้วยเช่น พันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้หลายคนยังเข้าใจว่า เบาหวานจะเกิดในคนอ้วนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม ก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น ติดโควิด-19 เสี่ยงเบาหวาน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่" ระบุว่า

หากจำกันได้ US CDC ได้ระบุให้ทราบก่อนหน้านี้แล้วว่า เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการเป็น "โรคเบาหวาน" ชนิดที่ 1 (IDDM) เพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ติดเชื้อถึง 166% หรือ 2.66 เท่า

แต่ล่าสุด งานวิจัยจากเยอรมัน เพิ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากลด้านโรคเบาหวาน Diabetologia เมื่อ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) สูงกว่าคนทั่วไป ที่เคยมีประวัติติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน จากสาเหตุอื่น ๆ ถึง 28% หรือ 1.28 เท่า

หากเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์ "เบาหวาน" ชนิดที่ 2 ที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 กับอัตราในผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุเฉลี่ยพอ ๆ กัน ซึ่งเคยสำรวจในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน เมื่อปี 2010 จะพบว่า เกิดเบาหวานมากกว่าถึง 81% หรือ 1.81 เท่า 

จากข้อมูลทางการแพทย์ที่มีจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ดังนั้น การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญมาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
 
โควิด-19 เกาะติดเซลล์ภูมิคุ้มกันในเลือด คล้าย HIV ทำลายเซลล์ได้

หมอธีระ เผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ โควิด-19 โดยอธิบายว่าไวรัสสามารถเกาะติดเซลล์ภูมิคุ้มกันในเลือดได้เหมือนเชื้อ HIV พร้อมเข้าทำลายเซลล์ได้เรื่อยๆ ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หลังจากที่ไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 แล้ว 4 รายเป็นชาวต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย ทั้งหมด อาการไม่รุนแรงและตอนนี้หายป่วยแล้ว ยังเฝ้าระวังหลังฮ่องกงระบาดหนัก  

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระบุว่า    
ไวรัสโรคโควิด-19 ติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ CD4 T cell ได้ 

ทีมวิจัยจากจีนเพิ่งเผยแพร่งานวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า ไวรัสโรคโควิด-19 สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ภูมิคุ้มกัน CD4 T cells ได้โดยตรง 

ก่อนหน้านี้เชื่อว่าไวรัสจะติดเข้าเซลล์ในระบบต่างๆ ผ่านตัวรับ ACE2 หรือ TMPRSS2
แต่ล่าสุดพบว่าสามารถติดเข้าสู่เซลล์ภูมิคุ้มกัน CD4 ในเลือดของผู้ป่วยได้ และนำไปสู่การทำลายเซลล์ในเวลาต่อมา

คาดว่ากลไกการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ CD4 นั้นน่าจะผ่าน Lymphocyte function-associated antigen 1 (LFA-1)

เราทราบกันดีว่า CD4 T cells นั้นเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันในเลือดที่มีความสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค ดังเช่นในโรคเอชไอวีที่หากมีการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์นี้ถูกทำลายไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา จนนำไปสู่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

สำหรับ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งงานวิจัยนี้พิสูจน์ว่าสามารถติดเชื้อเข้าสู่ CD4 ได้นั้น คงต้องมีการติดตามต่อไปว่าเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และจะมีกลไกพยาธิกำเนิด ส่งผลต่อร่างกายผู้ติดเชื้อในระยะยาวหรือไม่

หมอมนูญ บอกไม่ต้องกังวลได้ติดโควิดทุกคน 

วันที่ 9 มกราคม 2565 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า ผมเคยเขียนคาดการณ์ไว้เมื่อไม่นานนี้ ก่อนหน้าที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนดังนี้

โควิด-19 จะอยู่กับเราและเป็นส่วนหนึ่งกับเรา และจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ จะได้รับเชื้อจากมัน

เราต้องยอมรับในวันใดวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว พวกเราทุกคนจะต้องโดนมันเล่นงาน แต่ถ้าหากว่าเราป้องกันตัวเองได้ดี ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หรือถ้าหากว่าเราได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส เราก็อาจจะโดน แต่ช้าหน่อยหรือเบาหน่อย แต่ถ้าเราติดเชื้อ เราก็รักษากันไป

เมื่อเราทุกคนเลี่ยงที่จะไม่เจอกับโควิดไม่ได้ เราต้องยอมรับ และอยู่กับมันอย่างมีสติ ไม่ต้องกลัวมัน

ปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ยังคงอยู่ในระดับสูง และการติดเชื้อเกิดจากการแพร่ระบาดในครัวเรือนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อเดลต้าก่อนหน้านี้  นอกจากนี้ยังมีการกลายพันธุ์ออกเป็นสายพันธุ์ย่อยเพิ่มขึ้นอีก 

สำหรับสายพันธุ์ ที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ  BA.2.2 ซึ่งระบาดหนักที่ประเทศฮ่องกง และได้พบในประเทศไทยแล้วจำนวน 4 ราย ซึ่งยังอยู่ในระยะการเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด 

สธ.เผยผลศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ลดเสียชีวิต-อาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงได้จริง

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในระดับที่ สธ. คาดหมาย และยังสามารถรับมือได้อยู่

ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค. 65 มีทั้งหมด 2,464 ราย โดยพบว่าในจำนวนนี้ ยังไม่ได้รับวัคซีนถึง 57%, ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 31%, ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 8% และได้รับวัคซีน 3 เข็ม 4% ดังนั้น ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า มีประชาชนที่มีความลังเลที่จะแนะนำผู้สูงอายุให้ฉีดวัคซีน โดยพบว่าประชาชนมีความเชื่อ คือ ญาติอายุมากแล้ว อยู่แต่ในบ้านไม่ได้ไปไหน คงไม่เสี่ยงโควิด แต่ความจริง คือโควิด-19 ปัจจุบันติดต่อง่ายมาก แม้จะระวังอย่างดีก็ตาม โดยการอยู่บ้านกันหลายคน และมีคนเข้าออกตลอด ทำให้คนที่อยู่บ้านอาจติดเชื้อได้ ซึ่งการระบาดระลอกปัจจุบัน ประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 29% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่มีความสงสัย และความกังวลว่า ญาติอายุมากแล้ว ฉีดวัคซีนจะอันตราย ซึ่งความจริง คือ วัคซีนโควิด-19 ผ่านการวิจัยมีความปลอดภัยสูง และจากการฉีดในประเทศไทยมากกว่า 120 ล้านโดส จึงยืนยันได้ว่าปลอดภัย และโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงมีน้อยมาก และมีระบบดูแลเป็นอย่างดี

“ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อยังมาจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ส่วนปัจจัยของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ คือผู้สูงอายุ ถ้าบวกกับมีโรคประจำตัว ก็จะมีความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และเสียชีวิตมากขึ้น ดีที่สุดคือต้องรับวัคซีน ทั้งนี้ จากการสอบถามหลายท่านที่ไม่รับวัคซีน คือ เห็นว่าตนเองสูงอายุ และไม่ได้ไปไหน ซึ่งไม่จริง เพราะโรคโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วแล้ว การฉีดวัคซีนก็เหมือนเรือ พาหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่ปลอดภัย ถ้าไม่ฉีดวัคซีน ก็เหมือนรอน้ำท่วม เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว


ที่มา : Thira Woratanarat, Cr. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์
Shen, XR., Geng, R., Li, Q. et al. ACE2-independent infection of T lymphocytes by SARS-CoV-2. Sig Transduct Target Ther 7, 83 (2022)
ไทยรัฐ, infoquest

ติดต่อโฆษณา!