ไทยพบเดลตาครอน 73 ราย สธ.อยู่ระหว่างการติดตามผล เชื่อว่าระบาดน้อย
Highlight
สธ.เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 กรณีสายพันธุ์เดลตาครอน พบแล้วในไทย 73 ราย อยู่ระหว่างการเฝ้าติดตามอาการ และการหลบภูมิคุ้มกัน เดลตาครอนเป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนกับเดลตา (BA.1 กับ AY.4) เริ่มพบการระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมัน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ในไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2.2 และ BA.2.3 เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 กรณีสายพันธุ์เดลตาครอน ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนกับเดลตา (BA.1 กับ AY.4) ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เริ่มพบการระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมัน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์
โดยข้อมูลจากฐานข้อมูล GISAID พบเดลตาครอนแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 65 ซึ่งเป็นช่วงที่เดลตายังไม่ลดลงมาก และโอมิครอนกำลังเริ่มต้น มีการรายงานข้อมูลเข้าไปที่ GISAID ประมาณ 4 พันคน แต่ที่ GISAID ยอมรับและสรุปว่าเป็นเดลตาครอนจริงๆ จะมีเพียง 64 คนเท่านั้น (ข้อมูลวันที่ 22 มี.ค. 65) ซึ่งส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศสประมาณ 50 กว่าคน
“ใน 4 พันคนนั้น ต้องรอการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนจริงหรือไม่ ที่เป็นลูกผสมระหว่าง BA.1 กับ AY.4 ซึ่งในจำนวน 4 พันกว่ารายนี้ รวมจำนวนที่ประเทศไทย summit ข้อมูลเข้าไปอีก 73 รายด้วย แต่ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะถ้าเดลตาลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะมา recombinant กับแบบนี้ก็จะยากขึ้น เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ไปผสมแล้ว” นพ.ศุภกิจกล่าว
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามว่าเดลตาครอนที่เจอใน 4 พันกว่ารายนี้ จะมีฤทธิ์เดชมากหรือไม่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดรวดเร็ว ในอนาคตก็จะเห็นเดลตาครอน เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดแทนโอมิครอนในปัจจุบัน แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นโอกาสนั้น
WHO ยังจัดชั้นของสายพันธุ์เดลตาครอน เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบัน WHO ยังจัดชั้นของสายพันธุ์เดลตาครอน เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม (Variant under monitoring) เท่านั้น ยังไม่ได้จัดชั้นให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือเป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลแต่อย่างใด โดยยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความรุนแรง และการหลบภูมิ
“เปรียบเทียบแล้ว เดลตาครอนก็ยังเป็นเหมือนเด็กประถม ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น ตกใจ หรือน่าสนใจมาก เพียงแต่ต้องติดตามดู” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับประเทศไทยปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นการระบาดจากสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว เนื่องจากข้อมูลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 มี.ค.) มีการตรวจหาสายพันธุ์ไป 1,982 คน พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 1 คน ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 พันคนที่สุ่มตรวจสายพันธุ์นี้ มาจากทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ, บุคลากรแพทย์, คลัสเตอร์ใหม่ และกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ เป็นต้น
“อาจเรียกได้ว่าโอมิครอน มีส่วนแบ่งเกือบ 100% ก็ว่าได้ ล่าสุดคือ 99.9% ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็เป็นโอมิครอนทั้งหมด ไม่เหลือเดลตาแล้ว” นพ.ศุภกิจ ระบุ
ทั้งนี้ นอกจากการตรวจพบว่าการระบาดในปัจจุบันมาจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 100% แล้ว โอมิครอนยังมีการแบ่งสายพันธุ์ย่อยอีก ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจเพื่อแยกหาสายพันธุ์ย่อยว่าเป็น BA.1 หรือ BA.2 ซึ่งพบว่าขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 และมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในประเทศ จากระดับ 18.5% ในช่วงต้นเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 83% ในปัจจุบัน
“BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า ดังนั้นในช่วงถัดไปจะเห็นการครองตลาดของ BA.2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ยังไม่มีข้อมูล หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 เพียงแต่แพร่เร็วกว่าเท่านั้น…ไม่ว่าจะตรวจจากคนกลุ่มไหน วันนี้ BA.2 ก็ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด และ BA.2 ก็ไม่ได้มีฤทธิ์เดชที่จะทำให้เสียชีวิตมากขึ้น” อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ระบุ
พบ BA.2.2 ในไทยเพิ่มเป็น 14 ราย
ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ย่อยลงไปอีก คือ BA.2.2 และ BA.2.3 นั้น พบว่าในส่วนของ BA.2.2 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 14 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ส่วน BA.2.3 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 21ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 34 ราย
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจายความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีนของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว
“การกลายพันธุ์นี้ ไม่ได้มีผลอะไรมากมาย ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจจะหายไป ไม่ได้มีประเด็นอะไรมาก” นพ.ศุภกิจระบุ
อย่างไรก็ดี มาตรการ Universal Prevention ยังมีความจำเป็น รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ควรรีบมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนช่วงสงกรานต์นี้
สธ. เน้นให้รับวัคซีนเจ็บป่วยรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต เนื่องจากการแพร่ระบาดยังสูงอยู่ และมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ
กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า มีผู้สูงอายุอีก 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด เร่งเดินหน้าให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนมีทะเบียนผู้สูงอายุอยู่ ต้องบูรณาการข้อมูลสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นฉีดวัคซีนโควิด หากช่วยกันคาด 1-2 เดือนนี้ตัวเลขสูงอายุรับวัคซีนจะเพิ่มขึ้น
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า มีประชาชนที่มีความลังเลที่จะแนะนำผู้สูงอายุให้ฉีดวัคซีน โดยพบว่าประชาชนมีความเชื่อ คือ ญาติอายุมากแล้ว อยู่แต่ในบ้านไม่ได้ไปไหน คงไม่เสี่ยงโควิด แต่ความจริง คือโควิด-19 ปัจจุบันติดต่อง่ายมาก แม้จะระวังอย่างดีก็ตาม โดยการอยู่บ้านกันหลายคน และมีคนเข้าออกตลอด ทำให้คนที่อยู่บ้านอาจติดเชื้อได้ ซึ่งการระบาดระลอกปัจจุบัน ประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 29% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่มีความสงสัย และความกังวลว่า ญาติอายุมากแล้ว ฉีดวัคซีนจะอันตราย ซึ่งความจริง คือ วัคซีนโควิด-19 ผ่านการวิจัยมีความปลอดภัยสูง และจากการฉีดในประเทศไทยมากกว่า 120 ล้านโดส จึงยืนยันได้ว่าปลอดภัย และโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงมีน้อยมาก และมีระบบดูแลเป็นอย่างดี
ทุกหน่วยงานออกไปให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นและนำมาฉีด หากช่วยกันช่วง 1-2 เดือนนี้จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนสูงขึ้น เป็นเกราะป้องกันผู้สูงอายุช่วงเทศกาลสงกรานต์รวมถึงช่วงปิดเทอม หากลูกหลานไปเยี่ยมจะได้ปลอดภัยมากขึ้น ในส่วนของเด็กแม้ป่วยมากแต่โอกาสเสียชีวิตน้อย แต่วัยประถม 5-11 ปี ใกล้ชิดผู่ย่าตายายผู้สูงอายุ หากเร่งฉีดจะเป็นเกราะป้อกันผู้สูงอายุอีกทาง และลดโอกาสการระบาดในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีเด็กนักเรียนที่ฉีดไปแล้ว 10% จากเป้าหมาย 5 ล้านคน