โอมิครอนลูกผสม XE แพร่เร็วกว่าทุกสายพันธุ์ เจอในไทยแล้ว
Highlight
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยพบผู้ป่วยโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ชาวไทย 1 ราย คาดว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่าย และรวดเร็วกว่าไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ที่ประสบมา ส่วนความรุนแรงของเชื้ออยู่ระหว่างศึกษา WHO ชี้ว่าการอุบัติขึ้นของแปดสายพันธุ์ลูกผสมก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด อาจควบคุมยาก และดื้อยา
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ‘Center for Medical Genomics’
ความว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่าย และรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เราเคยประสบมา
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อ ชาวไทย 1 ราย และจากการตรวจกรองด้วยเทคโนโลยี “Massarray Genotyping” พบสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน (เดลตา X โอมิครอน)” อีก 1 ราย ซึ่งต้องยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง
โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม" XE " ซึ่งเป็นการติดเชื้อระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 เบื้องต้นพบว่า XE แพร่เชื้อเร็วกว่า BA.2 ถึง 10 เท่า และแพร่เร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก ถึง 43 เท่า จึงมีความเป็นไปได้ที่ XE จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักระบาดแทน BA.2 ส่วนความรุนแรงของโรคต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ระบุว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย จากการสอบถามแพทย์ผู้รักษาทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่ม "สีเขียว" มีอาการเล็กน้อย ปัจจุบันหายจากอาการโควิดแล้ว มีการสุ่มตรวจ ATK คนรอบข้างไม่พบใครติดเชื้อ
ตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่งถูกส่งมาตรวจกรองหาสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการตรวจ 40 ตำแหน่งกลายพันธุ์สำคัญบนจีโนมด้วยเทคโนโลยี "Massarray Genotyping" ซึ่งตรวจได้รวดเร็วและประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบสายพันธุ์ลูกผสม "เดลตาครอน (เดลตา & โอมิครอน)" อีก 1 ราย ซึ่งต้องยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกครั้งหนึ่ง
โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยมีการถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง
ตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Services Agency) หรือ "UKHSA" ยืนยันเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า “BA.2” ประมาณ 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43%
คงต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่
การจัดหมวดหมู่ลูกผสมโดย Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak Lineages (PANGOLIN) ประกอบด้วย
หมวด 1 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “Delta + BA.1” ประกอบด้วยสมาชิก 2 สายพันธุ์
I. XD-เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง Delta + BA.1 lineage พบในฝรั่งเศส ประกอบด้วยยีน S ที่สร้างหนามแหลม ส่วนอื่นเป็นจีโนมจากเดลตา
II. XF-จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.1 กับส่วน 5’ จากจีโนมของเดลตา
หมวด 2 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง BA.1 + BA.2 ประกอบด้วยสมาชิก 6 สายพันธุ์
I. XE-พบในอังกฤษ จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.2 กับส่วน 5’ จากจีโนมของ BA.1 แสดงอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือ BA.2 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีถอดรหัสพันธุกรรมพบแล้ว 1 ราย
II. XG-พบในเดนมาร์ก
III. XH-พบในเดนมาร์ก
IV. XJ-พบในฟินแลนด์
V. XK-พบในเบลเยียม มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" เกือบ 100 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์ ยังไม่พบในประเทศไทย
VI. XL-พบในอังกฤษ
องค์การอนามัยโลกระบุ การอุบัติขึ้นของแปดสายพันธุ์ลูกผสมก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจส่งผลต่อ 5 สถานการณ์ดังต่อไปนี้
- การควบคุมการระบาด
- การตรวจกรองด้วย ATK PCR ที่อาจไม่ถูกต้อง
- การป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีนที่อาจด้อยประสิทธิภาพลง
- การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนติบอดีสังเคราะห์ที่อาจไม่ได้ผล
- ผลกระทบต่ออาการ "ลองโควิด"
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า โควิดยังไม่หมดไปง่ายๆ แต่จะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และโอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย การพยายามประกาศว่าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โควิดยังคงอันตราย ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันจนกว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศความปลอดภัย
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" เมื่อ 3 เมษายน 65 โดยระบุข้อความว่า ล่าสุด ไทยพบ Omicron XE รายแรกแล้ว
จากที่องค์การอนามัยโลกได้รายงานการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยใหม่คือ Omicron XE ซึ่งเป็นลูกผสมที่เกิดจากการรวมกันของสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) และสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2)
โดยเริ่มพบที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565 จำนวน 637 ราย และได้รายงานอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น
ข้อมูลเบื้องต้น (ที่ยังไม่สามารถจะสรุปอย่างเป็นทางการได้) พบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (OMC XE : Omicron XE) มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2 10% และแพร่เร็วกว่าไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์หลักเดิม (B.1.1.529) 43%
จึงทำให้ทุกประเทศจะต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่กันอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพราะในทุกครั้งที่มีการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์หลักเดิม ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดของไวรัสสายพันธุ์หลักของการระบาดในที่สุด ได้แก่
1. ไวรัส Alpha แพร่เร็วกว่าอู่ฮั่น 70% ในช่วงเมษายน 2564 ประเทศไทยก็มี Alpha เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์อู่ฮั่น
2. ไวรัส Delta แพร่เร็วกว่าไวรัส Alpha 60% ในช่วงปลายปี 2564 Delta ก็เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์ Alpha
3. ไวรัส Omicron แพร่เร็วกว่าไวรัส Delta 4-8 เท่า ในช่วงมกราคม 2565 ไวรัส Omicron ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนไวรัส Delta
ในช่วงที่ Omicron ระบาดนั้น ช่วงแรกสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) เป็นสายพันธุ์หลักก่อน ในเวลาไม่นานนักสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) ก็ปรากฏขึ้นในประเทศไทย และด้วยความสามารถที่แพร่เร็วกว่า 30-40% ในขณะนี้ BA.2 ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปเรียบร้อยแล้ว
ถ้าไวรัสสายพันธุ์ย่อยลูกผสม Omicron XE แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) จริง ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแพร่ระบาด ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ของไทย ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัส Omicron XE เคสแรกของประเทศไทยแล้ว
โดยเป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย ที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวคือ มีอาการเล็กน้อย และหายดีเรียบร้อยแล้ว
เมื่อพบเคสแรกแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า จะมีการแพร่ระบาดต่อไปในที่สุด
ส่วนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
เพราะถ้าสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่า ก็จะส่งผลกระทบ ทำให้การเข้าสู่จุดสูงสุดในระลอกที่สี่หรือระลอกมกราคม 2565 ล่าช้าออกไปอีก
ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค การดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป
ในกรณีที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในมิติการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค ตลอดจนการดื้อต่อวัคซีน ทางองค์การอนามัยโลกก็จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกโบราณลำดับถัดไปคือ “พาย” (Pi)
อ้างอิง :
https://cov-lineages.org/resources/pangolin.html
https://github.com/cov-lineages/pango-designation/issues/454
https://www.who.int/publications/m/item/weekly-epidemiological-update-on-covid-19---29-march-2022 จากนั้นคลิก click download
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital)