10 เมษายน 2565
3,078

เมษา หน้าร้อน ต้องระวัง "โรคฮีทสโตรก"

เมษา หน้าร้อน ต้องระวัง "โรคฮีทสโตรก"
Highlight

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นช่วงพีค ในบางจังหวัดอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ได้ยินพูดกันจนชินว่า “ร้อนหูดับตับไหม้” ในแต่ละปีจะมีคนเป็นโรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก ราว 3,000 คน เสียชีวิต เฉลี่ยปีละ 38 คน ดังนั้นจึงควรระวังหากต้องทำกิจกรรมกลางแดด เป็นเวลานานเพราะอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


เดือนเมษา หน้า(สุด)ร้อน ต้องระวัง ‘โรคฮีทสโตรก’ โรคที่มีอันตรายถึงชีวิต ที่หลายคนอาจยังไม่เห็นถึงอันตรายของโรค รู้จักความเสี่ยงของโรคให้มากขึ้น พร้อมแนวทางการป้องกันการป่วยและเสียชีวิตในการดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากอันตราย เมื่อต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัด

‘เดือนเมษายน’ ถือเป็นช่วงพีคของฤดูร้อนบ้านเรา หลายจังหวัดในประเทศไทยมีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จากสภาพที่ร้อนจัดดังกล่าว ทำให้ต้องเผชิญกับโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต ที่หลายคนอาจยังไม่เห็นถึงอันตรายของโรค

จากสถิติข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกเฉลี่ยปีละ 38 คน และมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากพาทุกคนมารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมวิธีป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

รู้จัก โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ให้มากขึ้น

‘ฮีทสโตรก’ (Heat Stroke) หรือ ‘โรคลมแดด’ คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ควรระวัง! สัญญาณเตือน ‘โรคฮีทสโตรก’

สำหรับสัญญาณสำคัญของ ‘โรคฮีทสโตรก’ คือ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ตัวจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก มีอาการกระหายน้ำมาก ใจสั่น หัวใจ - ชีพจรเต้นเร็ว วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป

กลุ่มใดบ้าง? ที่มีความเสี่ยงเกิดโรค ‘ฮีทสโตรก’

1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬา เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

2. ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน

3. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

4. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

5. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว

มาดู 6 วิธีป้องกัน รู้ทันภัยร้ายช่วงหน้าร้อน

1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน

2. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ และก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง

3. จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6 - 8 แก้วต่อวัน ถึงแม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย

4. เมื่อต้องเผชิญกับอากาศร้อน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

5. เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง

6. สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก

การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีทสโตรก ควรดูแลให้ดีก่อนนำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นหากคนไข้มีภาวะความรู้สึกที่ผิดปกติไป ให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจคนไข้ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร. 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด

สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ ให้รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด และให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายเสื้อผ้าให้หลวม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะๆ และรีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง

นอกจากนี้ ถ้าใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่มฮีทสโตรก มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวสวนขึ้นเข้าทางหัวใจ โดยให้เช็ดทางเดียว และถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมเพื่อระบายความร้อนได้

อ้างอิง : โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลวิภาวดี, bangkokbanksme.com

ติดต่อโฆษณา!