15 เมษายน 2565
1,260
สธ.เผยคนไทยการ์ดตก-เสี่ยงติดโควิด เตือนระวัง! ภาวะลองโควิด ทำสมองตื้อ!
Highlight
โควิดมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจำหน้าตาสายพันธุ์เดิมไม่ได้ ทำให้ติดเชื้อโควิดซ้ำ สำหรับภาวะลองโควิด ปัจจุบันพบมีกว่า 50 อาการ บางราย พบอาการสมองตื้อ ไม่เฉียบคมเหมือนเดิม
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้ประชาชนการ์ดตก เนื่องจากเชื้อโควิด-19 มีการแพร่กระจายได้ง่าย และมีโอกาสกลายพันธุ์ หากมีการแพร่ระบาดจนมีจำนวนที่มากขึ้น
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคโควิด-19 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด
ทั้งนี้ ดำเนินการสำรวจช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. 64 จำนวน 272,486 คน และดำเนินการสำรวจช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 5-31 มี.ค. 65 จำนวน 113,847 คน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทำการเปรียบเทียบการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ผลการสำรวจพบว่า 5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคโควิด-19 ของคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ
1. พฤติกรรมไม่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งอยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 4.8%
2. พฤติกรรมใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 2.6%
3. พฤติกรรมใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 1.5%
4. พฤติกรรมไม่เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 1.1%
5. พฤติกรรมกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น หรือไม่ใช้ช้อนกลางส่วนตัว มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 0.6%
“จากผลการสำรวจสะท้อนคนไทยการ์ดตก จึงขอให้ทุกคนให้ความสำคัญในการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ทั้งอยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ” นพ.ธเรศ ระบุ
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายต่อกันได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องใส่ใจ เข้าใจ และเรียนรู้กับโควิด-19 ซึ่งไม่สามารถทราบได้เลยว่าผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือบุคคลภายนอก มีใครบ้างที่ติดเชื้อโควิด-19
ดังนั้น จึงเน้นย้ำการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และปฏิบัติตนเองให้เป็นวิถีใหม่ที่ยังคงเน้นมาตรการ VUCA คือ Vaccine ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด, Universal Prevention ป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล, COVID Free Setting มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อมีความเสี่ยง รวมถึงมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด
พิษลองโควิด ‘สมองตื้อ’ ไม่เฉียบเหมือนเดิม หมอประสิทธิ์เตือนระวัง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงโควิด-19 สายพันธุ์ผสมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า สำหรับไวรัสโควิด-19 ที่มีการผสมสายพันธุ์กัน (Recombinant) เป็นการไขว้กัน (Cross) จะระบุชื่อขึ้นต้นด้วย X ขณะนี้มีตระกูล X อย่างน้อย 8 ตัว อาทิ XD, XE, XJ เป็นต้น
ทั้งนี้ การผสมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความรุนแรงขึ้นเสมอ หรือกระจายได้เร็วขึ้น เพราะส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับจุดของการ กลายพันธุ์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเอเชีย บางประเทศพบติดเชื้อใหม่วันละ 1-2 แสนราย ขณะที่ประเทศไทยยังคงที่ ไม่พุ่งขึ้น
“ข้อมูลการติดเชื้อจะดูแค่เลขรายวันไม่ได้ แต่ต้องดูย้อนหลังเฉลี่ย 7 วันประกอบด้วย ตอนนี้สายพันธุ์ XE เป็นที่เฝ้ามองเพราะว่าเป็น 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่เจอในอังกฤษ เริ่มเห็นตัวเลขและข้อมูลว่าอาจกระจายได้เร็วขึ้นกว่า โอมิครอน BA.2 แต่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ารุนแรงกว่า
เราต้องเฝ้าติดตามข้อมูลทุกวัน คาดว่าก็คงมีการแทนที่กันในอนาคต เช่นเดียวกับเดลต้าที่เราเคยกลัวมาก ตอนนี้ก็หายไปแล้ว หรือแม้กระทั่งโอมิครอน BA.1 ตอนนี้ก็แทนที่ด้วย BA.2 แล้ว ฉะนั้น โควิด-19 ก็จะไปเช่นนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
สำหรับคนที่คิดว่าตนเองเพิ่งหายจากการติดเชื้อ จะไม่ติดซ้ำในระยะ 1-3 เดือนนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า เชื้อโอมิครอนได้ประกาศลบคำพูดนี้ไปเรียบร้อยแล้ว คือ ผู้ติดเชื้อแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้ อย่างที่เกิดขึ้นในหลายกรณี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราจำหน้าตาไม่ได้ ก็สามารถติดเชื้อใหม่ได้
เพียงแต่ว่าหากฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อแล้ว อาการจะไม่รุนแรง ก็ไม่น่ากังวล และหากมองอีกมุมหนึ่งคือ ก็จะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ย้ำว่าการป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรื่องของลองโควิด เป็นเรื่องที่เรามีข้อมูลชัดเจนว่าเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นกว่า 50 อาการ เป็นภาวะทางกาย ที่เกิดการอักเสบต่อเนื่องในผู้ป่วยบางราย ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลระยะยาวนานแค่ไหน
“ลองโควิดยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ทั่วโลกติดตามอยู่ นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องระวัง ดูแลไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ บางคนมีเรื่องสมองตื้อ สมองไม่เฉียบเหมือนเดิม ฉะนั้น ดีที่สุดคือป้องกันอย่าให้ติดเชื้อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว