24 เมษายน 2565
2,438

ศบค. ชี้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้ เมื่อเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% นาน 2 สัปดาห์

ศบค. ชี้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้ เมื่อเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% นาน 2 สัปดาห์
Highlight

เงื่อนไขการกำหนดโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ในระยะใกล้อาจสำเร็จยากเพราะผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ แต่เมื่อผ่านช่วงเฝ้าระวังหลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ยอดการติดเชื้ออาจลดลงเข้าสู่เป้าหมายได้ อย่างไรก็ตามแพทย์ห่วงประชาชนจะเข้าใจผิด คิดว่าเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้วความรุนแรงจะลดลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังแสดงความกังวล โดยขอให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันและสวมหน้ากอกอนามัยตามปกติ


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 ( ศบค.) เปิดเผยว่า การที่เราจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วประเทศต้องต่ำกว่า 0.1% เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดกัน แต่ขณะนี้ยังอยู่ที่ 0.31%  นอกจากนี้สถานการณ์ในประเทศต้องสอดคล้องกันแต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีสถานการณ์ที่หลากหลาย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. จังหวัดที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังเป็นขาขึ้นมี 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน  แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลยอุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี

2. จังหวัดที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทรงตัว 44 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรี ตาก สมุทรสงครามสมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง  สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

3. จังหวัดที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เป็นขาลงแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระยอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลาปัตตานี และนราธิวาส  

"การจะประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น อัตราผู้เสียชีวิตถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้องน้อยกว่า 0.1% เป็นเวลาหนึ่งหรือสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่ำมากกว่านี้ เพื่อจะได้นำไปสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็หลุดออกมาจากบัญชีที่เฝ้าระวังสูงๆ ของสหรัฐอเมริกาแล้ว  สำหรับการติดเชื้อใหม่ของไทยเมื่อ 22 เมษายน อยู่ที่ 21,808 ราย เสียชีวิต 128 ราย กำลังรักษาตัว 190,780 ราย โดยผู้ที่มีอาการหนัก 1,985 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 913 ราย อัตราการใช้เตียงสีเหลืองและแดง 25.3% หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น เนื่องจากใช้ระบบการดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งดูแลแล้ว 1,777,974 คน ทำให้เตียงเหลืองและแดงมีเพียงพอ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประเทศไทยมียอดติดเชื้อโควิดสูง 2 ช่วง คือ เม.ย. 2564 และ ม.ค. 2565 ซึ่งทิศทางขณะนี้คล้ายกำลังจะลง แต่ผู้เสียชีวิตยังทรงๆ เหมือนดูสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ปอดอักเสบยังอยู่เหนือเส้นคาดการณ์สีเขียว ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่เหนือเส้นสีเหลือง และผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่เส้นสีเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับวัคซีนและมีโรคประจำตัว

โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งโรคประจำถิ่นของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ แม้ว่าคำว่า “โรคประจำถิ่น” จะฟังดูเบากว่า “โรคระบาด” แต่องค์การอนามัยโลกเตือนว่า โควิดไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาทั่วไป เจ็บป่วยถึงตายหากไม่รักษาทันท่วงที 

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 4 ประเทศประกาศอยู่ระหว่างเตรียมการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นคือ สเปน-อินเดีย-รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ- จีน เตรียมแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนไทยรอลุ้น ต้องพิจารณารอบด้าน และประกาศสู่เป้าหมายไว้เป็น 1 ก.ค.

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงอะไร

โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่อยู่ในประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือ โดยเป็นวาระต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

ในแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ซึ่งจัดทำในปี พ.ศ.2559 

ได้มองเห็นอนาคตเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งงบประมาณด้านการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคระบาดต่างๆ รวมอยู่ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

โรคโควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ ก็ต่อเมื่อ

1. เชื้อลดความรุนแรง วัดจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด

2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน หรือภูมิที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อมาก่อนแล้ว

3. การดูแลจัดการสาธารณสุขที่ควบคุมและชะลอการระบาดได้

ศัพท์ตามหลักระบาดวิทยาได้แบ่งการระบาดออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้

2. การระบาด (Outbreak) คือ การระบาดที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นผิดปกติ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2562

3. โรคระบาด (Epidemic) คือ การระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนเกินคาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่เกิดการระบาดในทวีปแอฟริกาข้ามไปยังทวีปอื่นๆ พ.ศ.2557-2559

4. การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ลุกลามไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสเปน พ.ศ.2461 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2553 รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันด้วย

ติดต่อโฆษณา!