06 พฤษภาคม 2565
1,939

กทม. เปิด 9 โรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย "ลองโควิด" เช็ค วัน เวลาเปิดทำการได้ที่นี่!

กทม. เปิด 9 โรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย "ลองโควิด" เช็ค วัน เวลาเปิดทำการได้ที่นี่!
Highlight
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่พบว่ามีเพียง 29% ที่หายป่วยสนิทไม่มีอาการตกค้างข้างเคียง ส่วนผู้ที่มีอาการหลงเหลืออยู่ ที่เรียกว่าภาวะ Long Covid (ลองโควิด) ยังส่งผลต่อสุขภาพและต้องดูแลรักษาสุขภาพกันในระยะยาว มีตั้งแต่อาการเบาไปจนถึงอาการหนัก มากกว่า 200 อาการ โดยบางรายอาจรักษายาวนานถึง 2 ปี กรุงเทพมหานครตระหนักถึงเรื่องนี้ เปิด 9 โรงพยาบาลบริการประชาชนเพื่อเข้าถึงการรักษา


สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เตรียมเปิด คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2565 เป็นต้นไป ทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแบบออนไลน์ (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชั่น หมอ กทม.

คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID เปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์ วันและเวลาราชการ ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น)

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID โดยดำเนินการตามแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลันและยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย 

ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine) โดย   เปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 9 พ.ค. 65 เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ

20220506-a-01.jpg

สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิก Long COVID จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป การให้บริการจะเน้นไปทางติดตามอาการที่เกิดหลังจากหายป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้ 

1. ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long COVID และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว และ 

2. ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเองและเข้ามารับบริการที่คลินิก Long COVID โดยตรง รูปแบบการให้บริการแบบ One stop service จัดให้มีการบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว กรณีที่ต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์ จะให้มีการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้าพบแพทย์ 

ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID จะแบ่งเป็น 

1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID ประกอบด้วย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกายภาพบำบัด เป็นต้น
 
2. กรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง รายละเอียดดังนี้

20220506-a-02.jpg

รายชื่อ 9 โรงพยาบาลสังกัด กทม.ที่เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID

1. โรงพยาบาลกลาง (คลินิกประกันสุขภาพ ) เปิดวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 - 16.00 น.
2. โรงพยาบาลตากสิน (ARI Clinic) เปิดวันจันทร์ เวลา 13.00 - 16.00 น.
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (คลินิกอายุกรรม) เปิดวันพุธ เวลา 13.00 - 16.00 น.
4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ (คลินิกอายุกรรม) เปิดวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 - 16.00 น.
5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ (คลินิกอายุกรรม) เปิดวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 - 16.00 น.
6. โรงพยาบาลลาดกระบัง (คลินิกอายุกรรม) เปิดวันอังคาร เวลา 08.00 - 12.00 น.
7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ (ARI Clinic) เปิดวันพุธ เวลา 13.00 - 16.00 น.
8. โรงพยาบาลสิรินธร (คลินิกวัณโรค) เปิดวันอังคาร เวลา 08.00 - 12.00 น.
9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน (คลินิกอายุกรรม) เปิดวันพุธ เวลา 13.00 - 16.00 น.

โดยสามารถนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ

ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยโควิดหายขาดเพียง 29%

เว็บไซต์ข่าว เจแปน ไทมส์ รายงานว่า ผลการศึกษาซึ่งมีการนำเสนอที่การประชุมสภาจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดต่อแห่งยุโรป (ECCMID 2022) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ชี้ว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 29% เท่านั้น ที่หายจากโรคโดยสมบูรณ์หลังจากออกโรงพยาบาลแล้ว 1 ปี พร้อมเตือนว่า ภาวะลองโควิด อาจกลายเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปทั้งหนัก-เบา

รู้จักภาวะ Long COVID

ภาวะ Long Covid คือการที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือนหลังติดเชื้อ ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ระยะเวลาของอาการมีตั้งแต่หลายเดือนจนถึงเป็นปี หลายอาการรักษาได้ แต่หลายอาการต้องรักษาระยะยาว และอาจจะส่งผลต่อร่างกายถาวร
 
Long Covid จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีความเป็นไปได้ 4 สาเหตุ 

1. มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่างๆทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง
2. การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติถาวร ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว 
3. ผลกระทบจากการรักษาและนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานานๆ 
4. ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ภายหลังจากการติดเชื้อ
 
อาการ Long COVID

อาการ Long COVID หลังจากการติดเชื้อพบได้หลากหลายในทุกระบบของร่างกาย แต่ละคนอาจมีอาการไม่เหมือนกัน ดังนั้นยังไม่ควรประมาทโควิด แม้อาการป่วยอาจไม่รุนแรง แต่ผลกระทบจากลองโควิดยังเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

20220506-a-03.jpg

อาการ Long COVID แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1. อ่อนเพลีย
2. หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
3. ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุม ความคิด อารมณ์และพฤติกรรมลดลง 
 
นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่นๆอีก เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตันในอวัยวะต่างๆ ปวดหูหรือมีเสียงในหู ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไม่ได้กลิ่นรับรสได้ไม่ดี ผื่นตามตัว ผมร่วง รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ

ระยะเวลาในการรักษา Long COVID 

การรักษา  Long Covid แบ่งเป็น 2 กลุ่มขึ้นกับสาเหตุและอาการ คือ

  • กลุ่มที่มีอาการและมีความผิดปกติของอวัยวะ เช่น มีอาการเหนื่อยและตรวจพบเนื้อปอดมีพังผืด เส้นเลือดอุดตัน หัวใจอักเสบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเข้ารักษาในระบบและติดตามอาการในระยะยาว
     
  • กลุ่มที่มีอาการแต่ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะ เช่น อาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะรักษาตามอาการและให้ข้อแนะนำเรื่องการฟื้นฟูและการปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยเพื่อรักษาผู้ป่วยอาการ Long Covid แพทย์จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มดังกล่าวตามสาเหตุและอาการของโรค เพื่อจะได้เลือกวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป ส่วนนานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
 
ส่วนวิธีการป้องกัน อาการ Long Covid ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และฉีดวัคซีน เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นวิธีดีที่สุดในการป้องกันเราจากการติดเชื้อและอาการ Long Covid ได้

Long COVID ผลกระทบมากกว่าที่คิดไม่ติดจะดีกว่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึง สถานการณ์โควิด-19 วันนี้ (5 พฤษภาคม 2565) ระบุถึง อาการ Long COVID กับผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด

หมอธีระระบุว่า ทีมงานจาก Department of Cardiology, Kaiser Permanente San Francisco Medical Center สหรัฐอเมริกา ทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Current Atherosclerosis Reports เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
 
สรุปให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อ และมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเนื่องไประยะยาวในลักษณะของ Long COVID
 
ภาวะผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เกิดได้มากมายหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว (เป็นได้ทั้งด้านซ้ายและขวา) ลิ่มเลือดอุดตัน (ในปอด หรือในหลอดเลือดดำ) โรคหลอดเลือดสมอง
 
นอกจากนี้ยังพบว่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการต้องมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเรื่องหัวใจล้มเหลว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
 
ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน ยืนยันอีกครั้งว่า โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่กระจอก
 
Long COVID is real การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ
 
โควิด...ติด...ไม่จบแค่หายและตาย แต่ปัญหาระยะยาวคือ Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตต่อทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
 
อย่าหลงไปกับคำลวงด้วยกิเลส จะโยนหน้ากากทิ้ง จะทำให้ประจำถิ่น ดี๊ด๊าโดยไม่ป้องกันตัว สุดท้ายคนที่รับกรรม ตกกับดัก และได้รับผลกระทบคือตัวคนที่หลงเชื่อ ติดเชื้อ และเผชิญกับ Long COVID ด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครมารับผิดชอบ
 
แม้คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็ควรป้องกันตัวเช่นกัน เพราะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้
 
ใส่หน้ากากนะครับ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง นี่คือหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้เราพอจะใช้ชีวิต ศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน ไปได้อย่างปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่ยังมีความเสี่ยงระดับสูง หมอธีระระบุ

ข้อมูลจาก : สสส., เฟซบุ๊ก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์,ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร

ติดต่อโฆษณา!