อัพเดท "สิทธิประกันสังคม" ม.33 ม.39 ม.40 ติดโควิดไม่ต้องกังวล เบิกประกันสังคมได้
Highlight
ประกันสังคมพิจารณาลดหย่อนเงินการสมทบของทั้งนายจ้างและลูกจ้างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม นอกจากนี้ ค.ร.ม. ได้อนุมัติ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อให้สิทธิผู้ประกันตน สามารถเลือกได้ในรูปแบบ 3 ข. คือ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ระบาดของโควิด และภาวะค่าครองชีพสูงเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยอยู่ระหว่างแก้ไขกฏหมาย
สร้างหลักประกันชีวิตกับ “ประกันสังคม” สำหรับผู้ประกันตนที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลายกรณี
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ประกาศลดหย่อนการจัดเก็บเงินประกันสังคม การลดหย่อนเพื่อให้เงินกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ
รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คุณลัดดา แซ่ลี้ กล่าวว่า ผู้ประกันตน ตามการประกันสังคม มีอยู่ 3 มาตรการ คือ มาตรา 33,39 และ 40 ซึ่งกำลังจะได้รับการดูแลเพิ่มเติมดังนี้
ผู้ประกันตน มาตรา 40 ลดการสมทบเงินเข้ากองทุนตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และมาประกาศลดอีกครั้งในเดือน กุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม แต่ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจาเลยช้า และเพิ่งประกาศในเดือนพฤษภาคมนี้
“ดังนั้นใครจ่าย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นเวลา 3 เดือน ในอัตราเดิม พอในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ก็จ่ายเป็นอัตราใหม่ ที่ลดเงินสมทบจาก 70 บาท 100 บาท 300 บาท เป็น 42 บาท 60 บาท และ 180 บาท สามารถจ่ายได้เลยในอัตราใหม่
ในส่วนที่จะขอคืน ก็คือเดือน 3 เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ที่จ่ายไปก่อนหน้า ก็สามารถขอคืนได้เลย ที่สำนักงานประกันสังคม”
โดยผู้ประกัน Download แบบฟอร์ม ที่ www.sso.go.th พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ส่งทางไปรษณีย์ จากนั้นสำนักงานประกันสังคมก็จะโอนคืนให้ ในส่วนที่จ่ายเกินไป
ในส่วนมาตรา 33 และ 39 ซึ่งประกาศลดเงินสมทบ 3 เดือน คือช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 โดยปัจจุบันนายจ้างสมทบ 5% ลูกจ้างสมทบ 5% ลดการสมทบลงเหลือฝ่ายละ 1%
ดังนั้นหากเคยจ่ายเงินสูงสุด เงินเดือน 15,000 บาท จาก 750 บาทก็เหลือเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตน มีเงินเหลือ 600 บาทต่อเดือน รวม 3 เดือนก็มีเงิน เหลือ 1,800 บาท ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ที่จะบริหารจัดการ เป็นมาตรการของสำนักงานประกันสังคมที่จะดูแลสมาชิกในยามเดือดร้อน
คุณลัดดา กล่าวว่า ที่ ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่ฮ็อตฮิตที่สุดคือเรื่อง 3 ข. คือ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ เพราะในช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ และช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย เป็นช่วงที่สมาชิกเดือดร้อนมากๆ ก็มีการมาร้องขอเงินชราภาพที่เก็บไว้บางส่วนได้หรือไม่?
ทางสำนักงานประกันสังคมก็นำมาพิจารณาว่ามันเป็นการเปลี่ยนเจตนารมย์สิทธิประโยชน์ของการจ่ายเงินประกันสังคมหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่มาเปิด 3 ข. ให้สมาชิกเลือกนั้น ถ้าเขาจ่ายสมทบ 180 เดือน อายุ 55 ปี ออกจากงานขอเลือกเป็นบำเหน็จได้หรือไม่?
ซึ่งกฎหมายของประกันสังคมก็เปลี่ยนการประกันบำนาญชราภาพ ซึ่งคุ้มครองบำนาญ 60 เดือน หมายถึงการประกันชราภาพว่า ถ้าจ่ายเดือนที่ 1 หรือเดือนที่ 2 ออกไปแล้วแล้ว ทายาทต้องได้รับเพียง 58 หรือ 59 เดือน จากที่เหลือทั้งหมดใน 60 เดือนนี้
เรื่องการขอคืนก็จะไม่มีปัญหา คือ ขอคืนได้บางส่วน ถ้าจะรับเงินก้อนเหมือนข้าราชการ อย่างเช่น กบข. หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็ขอรับเงินก้อนได้ แต่ต้องมีเงินส่วนลด กองทุนประกันสังคมรับประกัน 60 เดือน ก็ขอรับ 60 เดือนได้เลย แต่ถ้ารับถึง 60 เดือนไปแล้ว ยังไม่เสียชีวิต ก็ขอรับบำนาญต่อไปตลอดชีวิตอีกได้ ดังนั้นก็จะไม่เปลี่ยนเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่มีทางเลือกให้ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น
มีคำถามว่า ถ้าทุกคนขอคืนแล้วเสถียรภาพของกองทุนจะมีหรือไม่ คุณบัดดา กล่าวว่า การขอคืนต้องมีกฏหมายลูกอีก ต้องมีหลักเกณฑ์เป็นไปตามสำนักงานประกันสังคมกำหนด คือขอคืนได้ไม่เกิน 30% ของเงินสมทบที่ลูกจ้างส่งมา
และมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขว่า หากเกษียณต้องหักเงินในส่วนนี้คืน ดังนั้นเงินบำนาญจะได้น้อยลง ต้องพิจารณาเองว่าทางเลือกนี้เหมาะกับตนเองหรือไม่
ส่วนการขอกู้ สำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้เอาเงินสดไปให้ลูกจ้างกู้ แต่ MOU กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการปล่อยกู้แทน โดยที่สำนักงานประกันสังคมรับรองให้ว่าผู้ประกันตนรายนี้ มีเงินสมทบเท่าไหร่ ก็จะเป็นผู้ค้ำประกันให้
ผู้ประกันตนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราต่ำที่สุดที่ตกลงกับธนาคารได้ ถ้าหากผู้ประกันตนไม่คืนเงินกู้ให้กับธนาคาร กองทุนประกันสังคมในฐานะผู้ค้ำประกัน ก็ต้องคืนเงินให้กับธนาคารแทน โดยการถอนเงินของผู้ประกันตนออกไปให้ ดังนั้นในส่วนนี้จะไม่กระทบกับเงินกองทุนเลย
การขอคืนเงินบางส่วนก็มีเงื่อนไข ต้องประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน เช่นกรณีน้ำท่วม ก็มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอุทกภัยจากน้ำท่วม โดยประกาศให้สมาชิกจังหวัดนั้นๆกู้ได้เป็นการเฉพาะกิจ ไม่ได้ปล่อยกู้ตลอด ต้องมีเงื่อนไข
สำหรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 33 มี 7 กรณีคือ คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
สิทธิประโยชน์ของมาตรา 39 มี 6 กรณียกเว้น ว่างงาน เพราะว่างงานอยู่แล้ว
ส่วนมาตรา 40 ซึ่งมีให้เลือกสมัคร ใน 3 กรณี คือ 70 บาท 100 บาท และ 300 บาท สิทธิประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไป ทั้งแบบ 100 บาท และ 300 บาท มีเงินออม ส่วนแบบ 70 บาทไม่มีเงินออม
ในส่วนที่แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับที่ 5 เป็นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ กรณีลูกจ้างลาคลอดบุตร ลาหยุด 90 วันตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานออกมาใหม่ว่ากรณีคลอดบุตร เปลี่ยนจากการรับเงินค่าคลอดบุตร 50% จาก 90 วันเป็น 98 วัน กองทุนประกันสังคมก็ปรับเปลี่ยนให้
กรณีทุพพลภาพ ปกติกองทุนประกันสังคมจ่าย 50% เปลี่ยนเป็น 70% ตลอดชีวิต ก็ปรับเพิ่มให้ ซึ่งปกติ มีอยู่ 2 กองทุนคือกองทุนทดแทน กับกองทุนประกันสังคม ถ้าทุพพลภาพในงานก็จ่าย 70% จากกองทุนทดแทน
กรณีสงเคราะห์บุตร ก็ได้รับเงินเพิ่ม มาตรา 33 และมาตรา 39 คุ้มครองต่อหลังลาออกอีก 6 เดือน ตอนนี้ให้ใช้การจัดระเบียบเดียวกัน ผู้ประกันตนที่ลาออก ก็คุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน ถ้าใครอยากให้กองทุนประกันดูแลต่อให้ หากบุตรยังไม่ครบ 6 ปีบริบูรณ์ ก็สมัครเป็นมาตรา 39 ประกันสังคมก็ดูแลต่อให้
หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก สามารถโทรสอบถามได้ที่ 1506 กด 1 ถ้ากด 7 เป็นการหาเตียงผู้ป่วยโควิด
เงื่อนไขการดูแลกรณีติดเชื้อโควิด
ช่วงนี้มีการระบาดของโควิดโอมิครอนที่ติดง่าย คนที่ติดโควิดช่วงนี้ ถ้าเป็นมาตรา 33 คือมีนายจ้าง ตามกฏหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วย 30 วันโดยได้รับค่าจ้างเต็ม 100% ใน 1 ปี เขาต้องรับ 100% จากนายจ้างก่อน แต่ถ้าเกิดป่วยเพิ่มขึ้นอีก เกิน 30 วัน จึงจะมารับประกันสังคม 50% ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง จะจ่ายปีละไม่เกิน 365 วัน
ถ้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่มีนายจ้าง หมอให้หยุดงานกี่วันมาเบิกจากประกันสังคมได้ 50% ฐานเงินเดือนของมาตรา 39 ที่ส่งต่อประกันสังคมอยู่ที่ 4,800 บาท เพราะฉะนั้น 50% ของ 4,800 บาทคือ 2,400 บาท ตกวันละ 80 บาท
มาตรา 39 ถ้าติดโควิด ก็รับวันละ 80 บาท ถ้าหมอให้หยุด 10 วันก็มารับเลย 800 บาท เอาใบรับรองแพทย์มารับ
มาตรา 40 ถ้าหยุดงาน หรือถ้าป่วย แล้วเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้รับเงินวันละ 300 บาท ทางเลือกที่หนึ่งกับทางเลือกที่สอง ได้ 30 วัน แต่ถ้าเป็นทางเลือกที่สามได้ 90 วัน ถ้าเลือกนอนโรงพยาบาลได้รับชดเชยวันละ 300 บาท ถ้ารักษาตัวที่บ้านมีใบรับรองแพทย์ให้พักเกิน 3 วันได้รับเงินวันละ 200 บาท
คุณลัดดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกันสังคมมีคณะกรรมการแพทย์ ที่ไปตรวจสอบโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายทุกโรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยหรือผู้ประกันตนร้องเรียน ก็จะมีการตรวจโรงพยาบาลนั้น ปีหนึ่งจะมีออกตรวจโรงพยาบาล ต้องมีการทำโทษโรงพยาบาลเหมือนกันหากมีการกระทำผิดหรือบกพร่อง เพราะโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมไม่ได้มีเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ แต่มีโรงพยาบาลของเอกชนด้วย
เพราะฉะนั้นการรักษาของโควิด ก็ยึดตามแนวทางรักษาของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นกรณี เจอ แจก จบ ก็ทำตามนั้น แต่จะมีปัญหาเรื่องใบรับรองแพทย์ ถ้า เจอ แจก จบ แล้วไปคลีนิก แต่คลีนิกไม่ใช่สถานพยาบาลที่นอนรักษา เพราะฉะนั้นคลีนิกจะไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยหยุดงานได้
ประกันสังคมจะช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างไร ก็กำลังแก้ไขอยู่ในเรื่องนี้ โดยจะให้คลีนิกออกใบรับรองแพทย์ได้ ถ้าหากคลีนิกรายนั้นเข้าโครงการ MOU กับกระทรวงสาธารณสุข “เราก็แจ้งผู้ประกันตนว่า ช่วงนี้ถ้าได้ใบรับรองแพทย์จากคลีนิก เก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งทิ้ง พยายามแก้ให้เบิกได้ เพราะเป็นช่วงวิกฤต ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะกาล”
คุณลัดดากล่าวทิ้งท้ายว่า ให้เชื่อมั่นในประกันสังคม การทำงานมีคณะกรรมการอนุมัติ ทุกอย่างมีการพิจารณาและออกเป็นกฏหมาย ดังนั้นหากตอนนี้ผู้ประกันตนที่กำลังจะไปขอกู้ หรือ ขอคืน ก็ยังทำไม่ได้ ขอเลือกก็ยังเลือกไม่ได้ ยังต้องใช้แบบเดิมไปก่อน สิ่งที่ออดมาแค่เป็นแนวทางที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานคุณสุชาติ ชมกลิ่น เห็นความสำคัญผู้ใช้แรงงานที่มีความเดือดร้อน เมื่อเวลาเกิดโรคระบาดขึ้น จึงพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้าง