21 พฤษภาคม 2565
2,026

กรมควบคุมโรคเตือนระวัง “โรคฝีดาษลิง” ติดจากสัตว์สู่คน แนะวิธีป้องกัน

กรมควบคุมโรคเตือนระวัง “โรคฝีดาษลิง” ติดจากสัตว์สู่คน แนะวิธีป้องกัน
Highlight

สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษ ที่หายไปนาน โรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน จากการถูกสัตว์กัด ขีด ข่วน  หรือคนก็เป็นพาหะได้ จากสารคัดหลั่ง อาการหลักๆ คือ ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ แอฟริกาจะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10 ปัจจุบันไม่มียารักษาโดยตรง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น ประชาชนคนไทยให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

นพ.โอภาส ระบุว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ 

หมอยง ย้ำโรคฝีดาษป้องกันได้ ด้วยวัคซีน และล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องฝีดาษลิงที่พบการติดเชื้อมากขึ้นในหลายประเทศ ว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว 

โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา มีความแตกต่างจากเชื้อผีดาษในคน ซึ่งติดต่อทางระบบทางเดินหายใจและสารคัดหลั่งจากการไอ จาม แต่ฝีดาษในลิงจะติดต่อจากการสัมผัสและบาดแผล ฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยโรคฝีดาษลิงนี้พบในลิงแอฟริกา มีพาหะคือหนู สัตว์ฟันแทะตระกูลหนู กระรอก ซึ่งการพบผู้ป่วยในต่างประเทศมาจากการเลี้ยงสัตว์แปลกหรือมีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การติดต่อของฝีดาษลิงถือว่าติดต่อได้ยาก เมื่อเทียบกับฝีดาษในคน เพราะต้องสัมผัสกับบาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีตุ่มแดงขึ้น จากนั้นพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ระยะเวลาการฟักเชื้อประมาณ 5-14 วัน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ พบประมาณ 10% 

“ดังนั้น โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไอ จาม ควรสวมหน้ากากอนามัย”  ศ.นพ.ยง กล่าว

โรคฝีดาษลิงสามารถใช้วัคซีนฝีดาษในคนป้องกันได้ แม้จะให้ผล 85% แต่ที่คนส่วนใหญ่ต้องเร่งขจัดโรคฝีดาษลิงไม่ให้แพร่ เนื่องจากการพบฝีดาษลิงในคน เท่ากับทำให้ไวรัสมีการพัฒนาข้ามสายพันธุ์ หากมากขึ้นก็อาจกลายพันธุ์ได้ ทำให้นานาประเทศต้องเร่งขจัด" ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่ต้องตื่นกังวลกับโรคนี้ เนื่องจากยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา ซึ่งการป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ไม่ได้แตกต่างกันจากโควิดที่เราผ่านมาได้ คือ สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ สำหรับฝีดาษในคน ประเทศไทยได้ขจัดโรคนี้จากการปลูกฝีและหมดไปในปี พ.ศ. 2517 ฉะนั้นเด็กที่เกิดหลังปี 2517 จะไม่พบโรคนี้อีก

อาการและระยะฟักเชื้อ

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

5 วิธีป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง 

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า

2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า

4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค

5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ 

อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

ติดต่อโฆษณา!