26 พฤษภาคม 2565
1,670

ผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น จริงหรือ?

ผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น จริงหรือ?
Highlight

โรคฝีดาษลิง กลายเป็นโรคระบาดที่กำลังลุกลามอยู่ในยุโรป และแอฟริกา แพทย์ยืนยันว่าการติดต่อยาก กว่าโควิด-19 เพราะต้องเป็นการสัมผัส ติดเชื้อจากสารคัดหลั่ง กรมควบคุมโรคเผยยังไม่มียารักษาฝีดาษลิงโดยเฉพาะ จัดยาตามอาการ และในรายที่รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้  มีจ้อมูลออกมาว่า ผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงสุด เป็นความจริง เนื่องจากไม่เคยได้รับวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วย จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น


จากกรณีที่มีการแชร์ข่าวกันมากในโซเชียล เกี่ยวกับผู้ที่เกิดหลังปี 2523 ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมออนไลน์เรื่องผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น “เป็นข้อมูลจริง”

กรมควบคุมโรคเผยยังไม่มียารักษาฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่หายเองได้ อาการรุนแรงมักพบในเด็ก โดยอัตราการตายในแอฟริกาพบ 10% วัคซีนไข้ทรพิษช่วยป้องกันได้ 85% ซึ่งคนเกิดหลังปี 2523 ไม่ได้ปลูกฝีอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง

โดกรมควบคุมโรคได้กล่าวถึงโรคฝีดาษลิงว่า โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี และเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae อยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) 

ทั้งนี้ ไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็ติดโรคได้ คนจะติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

อาการที่เกิดขึ้นหลังรับเชื้อ

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน อาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มจากป้องกันตนเอง คือ

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
5. หลังกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแยกกักเพื่อมิให้แพร่กระจายเชื้อ

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้มีการฉีดวัคซีนหรือปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/ หรือโทร 02-590-3000

ยังไม่พบในไทย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (ณ วันที่ 24 พ.ค. 65) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย ทั้งนี้ มีการประเมินความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสพบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย เช่น ไนจีเรีย สหราชอาณาจักรอังกฤษ แคนาดา สเปน และโปรตุเกส

สำหรับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในประเทศไทย จะเน้นการเฝ้าระวังโรค ในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ, ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้ดูแลสัตว์ป่านำเข้าจากทวีปแอฟริกา ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งเตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรค และเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์แล้ว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับร่างแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงของประเทศไทย มีนิยามของผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง เพื่อการติดตามอาการป่วย และตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (สอบสวนโรครายบุคคล) คือ ต้องมีประวัติมีไข้ หรือร่างกายมีอุณหภูมิมากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ประกอบกับมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต

ทั้งนี้ อีกกรณีหนึ่ง คือ มีผื่น ตุ่มนูน กระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด ร่วมกับ ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ได้แก่ มีประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิง ภายในประเทศ (Local transmission), มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่าย/ยืนยันโรคฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
 
“ย้ำว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย หรือผู้ป่วยโรคนี้ โดยประเทศไทยจะเน้นเฝ้าระวังนักเดินทางจากต่างประเทศเป็นหลัก” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ระบาดหลายประเทศทั่วโลก

ด้านสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก (23 พ.ค. 65 ) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 65 มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 257 ราย แบ่งเป็นยืนยันแล้ว 169 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย โดยพบใน 18 ประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฝีดาษลิง จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลก พบว่า จากทั้งหมด 123 ราย เป็นเพศชาย 122 ราย เพศหญิง 1 ราย อายุ (n=61) ระหว่าง 20-59 ปี ส่วนอาการป่วย (n=57) คือ มีผื่น/ตุ่มนูน (98%), ไข้ (39%), ต่อมน้ำเหลืองโต (2%) และไอ (2%) โดยจากการตรวจสายพันธุ์ 9 ราย พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ซึ่งน้อยกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอาการรุนแรง และมีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 10%

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในส่วนของสัตว์รังโรค ขณะนี้ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะในสัตว์กัดแทะและลิง ส่วนการติดต่อจากสัตว์สู่คน มาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ส่วนจากคนสู่คน มาจากการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) ของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานว่าโรคฝีดาษลิง อาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

สำหรับอาการของผู้ป่วย จะมีระยะฟักตัว (วันที่สัมผัส ถึงวันเริ่มป่วย) 5-21 วัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการป่วยไม่รุนแรง ถึงรุนแรงปานกลาง 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเองได้ แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ ในเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น

ติดต่อโฆษณา!