30 พฤษภาคม 2565
809

สธ.เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 12 รายสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง ยันยังไม่พบในไทย

สธ.เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 12 รายสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง ยันยังไม่พบในไทย
Highlight

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง ผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย 12 ราย ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แม้มีผู้ป่วยยืนยันเดินทางจากยุโรปไปออสเตรเลีย โดยแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไทยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้โดยสาร และลูกเรือจำนวน 12 ราย ส่วนต่างชาติ 5 รายที่ภูเก็ตพบเป็นโรคเริม ติดต่อกันเนื่องจากมาเรียนมวยและใช้อุปกรณ์ฝึกซ้อมร่วมกัน


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย 12 ราย ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เข้าข่ายสงสัย 5 คน ผลตรวจพบเป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวถึงความคืบหน้าโรคฝีดาษวานรว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แม้มีผู้ป่วยยืนยันเดินทางจากยุโรปไปออสเตรเลีย โดยแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไทยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้โดยสาร และลูกเรือจำนวน 12 ราย

“ถือว่าผู้โดยสาร และลูกเรือ 12 คน สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เสี่ยงสูง เพราะขณะที่อยู่ไทยยังไม่มีอาการ แต่ได้รับการยืนยันเมื่อไปถึงออสเตรเลีย ขณะนี้ติดตามมาแล้ว 7 วัน ยังไม่พบมีอาการป่วย โดยจะติดตามไม่เกิน 21 วัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ส่วนกรณีพบนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไอร์แลนด์ มีอาการเข้าข่ายสงสัย 3 ราย(พี่น้องกัน) และอีก 2 รายที่มีอาการใกล้เคียงกัน เข้ามาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต จากผลการเก็บตัวอย่างตรวจและการตรวจ RT-PCR และการสอบสวนโรคไม่ใช่เชื้อฝีดาษวานร แต่เป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง น่าจะติดต่อจากการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

ผลตรวจทางห้องแล็ป 2 แห่ง คือ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก จุฬาลงกรณ์ ยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ฝีดาษวานร และผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์และสถาบันบำราศนราดูร พบเป็นเชื้อเริม  โดยประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ 3 รายแรกเป็นชาวไอร์แลนด์เป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทย บินตรงที่จ.ภูเก็ต

“ฝีดาษลิงในไทย จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เพราะฉะนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้เสี่ยงต่ำ ให้ติดตามอาการตนเอง ไปทำงานได้ปกติ ถ้ามีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่ แต่กรณีที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกักตัวเองที่บ้าน 21 วัน ส่วนในการรักษาผู้ป่วยยืนยันจะให้การรักษาจนกว่าแผลตกสะเก็ด ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้แล้ว ก็จะให้ออกจากรพ. ซึ่งอาจจะเร็ว ช้ากว่า 21 วันก็ได้”นพ.จักรรัฐกล่าว 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร หากมีอาการเข้าข่ายให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติเสี่ยง โดยเฉพาะการร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ  

ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมและล้างมือบ่อยๆ  ทั้งนี้ สถานการณ์โรคขณะนี้ทั่วโลกยังต้องติดตามใกล้ชิดว่าสามารถแพร่คนสู่คนเร็วแค่ไหน และมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์หรือไม่ แต่ที่ตรวจพบสายพันธุ์ที่ระบาดตอนนี้เป็น West African Clade  อัตราป่วยเสียชีวิตราว 1 % 

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยว่า ซึ่งหากมีอาการดังต่อไปนี้อาจเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง

  • ต้องมีอาการไข้ อุณหภูมิมากกว่า 38 องศา 
  • ประกอบกับมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่น ตุ่มนูน โดยกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเด็ด ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา
  • เดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ
  • ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
  • สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา

ผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด กับผู้ป่วยฝีดาษลิง หากมีองค์ประกอบต่ลต่อไปนี้ มีโอกาสติดเชื้อสูง

  • สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย
  • สัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยภายในระยะ 2 เมตร

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ว่า แนวโน้มการติดเชื้อรายวันแม้จะลดลงตลอด แต่เริ่มช้า ในส่วน RT-PCR และ ATK ลักษณะทรงตัว ภาพรวมสถานการณ์ยังทรงๆ โดยสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาปรับระดับเตือนภัย ระดับ 2 ในบางจังหวัด ขอให้ติดตามว่ามีจังหวัดไหนบ้าง

นอกจากนี้จะมีการปรับระบบการรายงานสถานการณ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น เน้นการรายงานจำนวนผู้ป่วยรายวันจากค่าเฉลี่ย 7 วัน

สถานการณ์ฝีดาษลิงทั่วโลก

ข้อมูล ณ 29  พ.ค. 2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ

ติดต่อโฆษณา!