5 มาตรการโควิด19 ที่คนอยากยกเลิกมากที่สุด
Highlight
กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจความต้องการประชาชนต้องการยกเลิกมาตรการอะไรมากที่สุดหลังโควิดถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผลสำรวจพบว่าคนต้องการให้ยกเลิกมาตรการตรวจ ATK มากที่สุด รองลงมาคือไม่ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ และต้องการถอดหน้ากากอนามัย ในขณะที่ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมากและทำกิจกรรมทางสังคมเกือบเป็นปกติ โดยการสวมหน้ากากอนามัย
ผลสำรวจกรมควบคุมโรคล่าสุด พบ 5 มาตรการโควิด19 คนอยากยกเลิกมากที่สุดคือ หยุดตรวจ ATK ก่อนร่วมกิจกรรมมากที่สุด ไม่ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนถอดหน้ากากอนามัยอยู่อันดับ 3
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (RC DDC Poll Online) กรณีชีวิตที่ประชาชนต้องการเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ระยะ “โรคประจำถิ่น” ของโรคโควิด19 ครั้งที่ 1 โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 พ.ค. - 6 มิ.ย. 2565 จำนวน 3,194 คน
แบ่งเป็นเพศหญิง 69% และชาย 31% ช่วงอายุตั้งแต่ 13- 70 ปีขึ้นไป เป็นช่วงอายุ 50-59 ปีมากที่สุด 30.3% รองลงมาอายุ 40.49 ปี 29% พบว่า ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 2% ฉีดวัคซีนโควิด 1 เข็ม 1% ฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็ม 23% ฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็ม47% ฉีดวัคซีนโควิด 4 เข็ม 26% และมากกว่า 4 เข็ม 1%
เหตุผลที่ไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีกลุ่มตัวอย่างตอบ 741 คน พบว่า กังวลใจผลข้างเคียง 68.6% ประเทศจะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น 22.7% เชื้อโอมิครอนไม่มีความรุนแรง 13% และวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ 8.8%
ขณะที่ 28% เคยติดโควิด19และ72% ไม่เคยติดเชื้อ โดยช่วงที่ติดโควิด19 ได้รับการดูแลรักษาอย่างไรนั้น กลุ่มตัวอย่าง 892 คนให้ข้อมูลว่า 67.7% ได้รับการดูแลผ่าน Home Isolation , 11.4% ได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล ,9.5% ได้รับการดูแลที่ Hospitel ,7.6% หายเอง และ 3.7% Community Isolation
สอบถามกรณีถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องการให้ยกเลิกมาตรการใด มีกลุ่มตัวอย่าง 3,175 คน ให้ข้อมูล ดังนี้
อันดับที่ 1 คือ ต้องการเลิกตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม 33.4%
อันดับที่ 2 คือ ไม่ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ 30.8%
อันดับ 3 คือ ต้องการถอดหน้ากากอนามัย 26.2%
อันดับ 4 คือ ไม่จำกัดจำนวนคนร่วมงาน 24.8%
อันดับ 5 คือ ไม่ต้องตรวจประวัติการฉีดวัคซีนก่อนร่วมกิจกรรม 22.5%
อันดับที่ 6 คือ ไม่ต้องการให้มีการเว้นระยะห่าง 17.1%
อันดับที่ 7 ให้ยกเลิกทุกมาตรการ 15.8%
และอันดับที่ 8 ไม่ต้องฉีดวัคซีนก่อนเข้าไทย 10.5%
หมอยง แจงเมื่อโควิดเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด 19 เมื่อโรคเข้าสู่ประจำถิ่น หรือตามฤดูกาล
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยขณะนี้ตามตัวเลขที่เราทราบ จะเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจ RT PCR ที่จำนวนการตรวจน้อยลงอย่างมาก ขณะเดียวกันตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะมีอีกจำนวนมาก น่าจะเป็น 10 เท่า และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ รวมทั้งมีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการอีกจำนวนหนึ่ง
ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน มีภูมิต้านทานจากวัคซีน และจำนวนหนึ่งมีการติดเชื้อ การติดเชื้อจะสร้างภูมิต้านทานได้ดี และผู้ที่ได้รับวัคซีน ร่วมกับการติดเชื้อ จะมีภูมิต้านทานแบบลูกผสม สามารถลดความรุนแรงได้เป็นอย่างดี
ในเด็กอายุ 5 ขวบ ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เราตรวจเลือด (ในกรุงเทพฯ) พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วร่วม 20% ในจำนวนนี้มีการติดเชื้อแบบมีอาการประมาณครึ่งเดียว
แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน และการติดเชื้อ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างมาก อัตราการป่วยตายในปัจจุบัน เราไม่มีตัวเลขที่แท้จริง แต่จากการประเมินน่าจะอยู่ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือหนึ่งในพัน และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม
ชีวิตต้องอยู่กับโควิดตลอดไป การกักตัวในผู้ป่วย ก็จะใช้เวลาสั้นลง เป็น 7 วัน และดูแลป้องกันไม่ให้ติดคนอื่นด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออีกอย่างน้อย 3 วัน อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว มีภูมิต้านทานบางส่วน และเมื่อติดเชื้อการกำจัดเชื้อให้หายไป เร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
เด็กนักเรียน ในสิงคโปร์ ปีที่ผ่านมา 2564 เปิดเรียนตามปกติ ใครป่วย ให้หยุดเรียน 7 วันและถ้าไม่มีอาการแล้วให้กลับมาเรียนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ด้วย เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเรียนมาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรคในเด็กแล้ว น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก เด็กสร้างภูมิต้านทานได้ดี และมีความรุนแรงน้อย ยกเว้นเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มีวัคซีน และก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียน
ถ้าเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เราก็ใช้วิธีการให้หยุดเรียน จนกว่าไม่มีไข้ และอาการที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 วัน ก็สามารถไปโรงเรียนได้ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าต้องหยุดถึง 10 วัน
แนวโน้มในอนาคต เราจะต้องให้ความสำคัญของการศึกษา การหยุดเรียนของนักเรียน หรือการปิดโรงเรียน ควรจะต้องสั้นลง ถ้าเด็กส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เด็กเล็กที่ไปโรงเรียน ติดเชื้อ RSV เราก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องหยุด 10 วัน เช่นเดียวกันไข้หวัดใหญ่ก็เหมือนกัน
การติดเชื้อในเด็กนักเรียน ที่ได้รับวัคซีนมาครบแล้ว ควรจะหยุดเรียนอยู่บ้านเรียนออนไลน์ 7 วัน ก็น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการน้อย หรืออาการหายแล้ว