เปิดสิทธิรักษาพยาบาลอัพเดทล่าสุด ของ "บัตรทอง" ในมือ
Highlight
เปิดสิทธิประโยชน์บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ปี 2565 มีสิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 13 รายการ สปสช.ชี้ชัดประชาชนสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยในภาวะวิกฤต ในโรงพยาบาลของรัฐได้ทุกที่ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิ รับวัคซีนต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ปีนี้ดูแลเรื่องโควิด แต่จริงๆแล้วดูแลครอบคลุมแทบทุกโรค ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับความสวยงาม การผสมเทียม ซึ่งไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ แต่มีรายละเอียดย่อยๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นมา 13 รายการ
1. ตรวจยีนเพื่อตรวจสอบดูว่าแพ้ยาหรือไม่ ในกรณีเป็นผู้ป่วยโรคเก๊ารายใหม่ โดยปกติจะมีการให้ยาชนิดหนึ่งเพื่อไปลดยูริก แต่ยาตัวนี้อาจเกิดอาการแพ้ในบางคนได้ ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วย จึงเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองเพื่อตรวจดูว่ามียีนที่แพ้ยาหรือไม่
2. การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหรือปอดล้มเหลวเฉียบพลัน ด้วยเครื่องปอดและหัวใจเทียม เรียกว่า เครื่องเอคโม่ (ECMO) เป็นเครื่องพิเศษที่เพิ่มมาให้
3. การปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยตับแข็ง
4. การผ่าตัด ฝังประสาทหูเทียม สำหรับเด็กหูหนวกสนิททั้งสองข้าง
5. การรับบริการในหน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
6. ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ประชาชนชอบกันมาก เกี่ยวกับการดูแลรักษามะเร็งในรูปแบบนี้ เนื่องปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งค่อนข้างมาก กว่าที่ประชาชนจะเข้ารับการรักษาได้ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นจึงมีการจัดตั้ง เซ็นเตอร์ในแต่ละเขต ถ้าหากเป็นผู้ป่วยรายใหม่ เซ็นเตอร์จะหาข้อมูลให้เลยว่า เป็นมะเร็งที่อวัยวะใด และในเขตนั้นมีที่ใดเปิดให้บริการรักษาบ้าง เมื่อมีคิวว่างก็จัดส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นได้ทันที ทั้งนี้โรคมะเร็งบางชนิด ถ้าตรวจพบเร็ว รักษาเร็วมีโอกาสหายสูงมาก
7. การใช้กัญชาทางการแพทย์ การรักษา พาคินสัน ไมเกรน
8. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สำหรับผู้ป่วย HIV, โรคเอดส์
9. การบริการตรวจห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยบางโรค เช่น เบาหวานที่จะต้องตรวจแล็ปก่อนพบแพทย์ ซึ่งตามขั้นตอนผู้ป่วยต้องงดอาหารตั้งแต่ช่วงกลางคืนเพื่อตรวจผลเลือด แต่บางครั้งคนผู้ป่วยมีจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลารอนาน
ดังนั้นการอนุญาตให้ตรวจห้องแล็ปนอกโรงพยาบาลได้ ก่อนพบแพทย์ 1 วัน ผลแล็ปมีการนำขึ้นระบบคราวน์ไว้ ซึ่งแพทย์สามารถดูผลได้ ช่วยเพิ่มสะดวกและลดความแออัดในโรงพยาบาล
10. Telemedicine สามารถนัดหมายพูดคุยผ่านระบบออนไลน์
11. การจ่ายยาและเวชภัณฑ์ พร้อมจัดส่งทางไปรษณีย์ มีความสะดวกมากขึ้น ก็ได้บรรจุเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไว้ในสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นมาด้วย
12. การตรวจคัดกรองภาวะการได้ยิน สำหรับทารกแรกเกิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็บริการตรวจเพิ่มให้ด้วย
13. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Home Isolation หรือการไปรับยาที่เรียกว่า Self Isolation
ทั้ง 13 รายการเป็นสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้
ในกรณีที่เข้าเงื่อนไข ไม่ใช้ใบส่งตัว ไม่ถูกเรียกเก็บเงิน ขั้นตอนที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
โดยปกติผู้ป่วยที่ถือบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เมื่อเข้ารับบริการรักษา จะมีค่าใช้จ่าย ไม่ได้รักษาฟรี เพียงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ได้เรียกเก็บจากประชาชน โดยที่ สปสช.เป็นหน่วยงานที่รับหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน และมีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกปี
ดังนั้นจึงย้ำเสมอว่าเมื่อมีการเข้ารับการรักษาตามสิทธิประโยชน์แล้ว โรงพยาบาลอย่าเก็บเงินกับคนไข้เพิ่มเติม อาจมีบ้างในบางกรณี เช่นคนไข้ใน กรณีอาการหนักอาจอยู่ในโซน Nurse Station เพื่อพยาบาลจะได้ดูแลได้ง่ายๆ
แต่สำหรับห้องพิเศษ อาหารพิเศษไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ ต้องเสียค่าใช่จ่าย ถ้าหากโรงพยาบาลมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ สามารถสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การรักษาพยาบาลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- คนไทยที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48 ล้านคน
- สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของข้าราชการ 5 ล้านคน
- ประกันสังคม 12 ล้านคน
ในกรณีของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
คนไทยทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์นี้ เช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่น ปี 2565 นี้ กรมควบคุมโรคระบุว่า ให้ฉีดวัคซีนใน 7 กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถรับวัคซีนได้เลย, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, การให้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิด เป็นต้น
หลายคนมีคำถามว่า หากเป็นสมาชิกประกันสังคมอยู่ก่อน แต่ลาออกจากงาน อยากมาเป็นสมาชิกบัตรทอง ทำอย่างไร?
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ถ้าหากเราไม่ได้สมทบเงินประกันสังคมเกิน 6 เดือน จะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างอัตโนมัติ หรือกรณีเป็นข้าราชการที่ลาออกมาก่อนไม่ได้รับบำนาญ ก็จะมีสิทธิ เช่นกัน สปสช.จะมีฐานข้อมูลสิทธิประชาชนทุกคนจากกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ถ้าประชาชนต้องการทราบสิทธิของตนเองว่าอยู่ที่หน่วยใด ก็สามารถสอบถามจาก 1330 ได้ตลอดเวลา
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ คำจำกัดความของ “ภาวะฉุกเฉินวิกฤต” คืออะไร
ในกรณีเจ็บป่วยปกติ ก็จะไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน แต่ในกรณีที่เป็นการเจ็บป่วยในภาวะวิกฤต ที่ต้องรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
6 อาการที่ เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP
สำหรับอาการเจ็บป่วยที่จัดเป็นภาวะวิกฤตต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และทันท่วงที คืออาการที่เกี่ยวข้องกับ 3 อวัยวะสำคัญ ดังต่อไปนี้
- สมองได้รับความกระทบกระเทือน เลือดออกในสมอง
- หัวใจหยุดเต้น
- หยุดหายใจ
หากเกิดภาวะวิกฤตใน 3 กรณีนี้ อยู่ใกล้โรงพยาบาลไหนเข้าได้เลย ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบก็เข้ารับการรักษาได้ ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็จะมาเรียกเก็บจาก สปสช. อีกที หรือที่เรียกว่า UCEP
UCEP คือ (Universal Coverage for Emergency Patients) สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
แต่ในทางปฏิบัติคำว่า “ภาวะวิกฤต” อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ระหว่างผู้ป่วยเองกับคำนิยามทางการแพทย์ ดังนั้นจึงต้องมีคนกลางในการที่จะตัดสินว่า ภาวะนี้ใช่ UCEP หรือไม่ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินทำหน้าที่นี้
โดยโรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยก็จะโทรไปที่ 1669 เพื่อปรึกษากับทีมแพทย์เฉพาะกิจ เพื่อประเมินอาการ ว่าเข้าเกณฑ์ UCEP หรือไม่
ในปี 2565 นี้มีการเพิ่มสิทธิพิเศษการรักษาพยาบาลเกี่ยวโควิด-19 มากมาย ตอนนี้กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างรก็ตามในช่วงวิกฤตโควิด ได้เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการบริการมากขึ้น เช่น เรื่อง Telehealth การส่งยาไปที่บ้าน การตรวจแล็ปนอกโรงพยาบาล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นมิติใหม่ ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาพยาบาลเป็นเพียงแค่ทางหนึ่งเท่านั้น สปสช.ยังเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วย
สำหรับสิทธิประโยชน์ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้นแตกต่างกันออกไป โดยแยกออกเป็นกลุ่มวัย ยกตัวอย่าง เช่น วัยเด็กตั้งแต่ 0-5 ปี คนทำงาน ผู้สูงอายุ
การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อยากเราทราบรายละเอียดว่าตนเองมีสิทธิประโยชน์อะไร มีสิทธิอยู่กลุ่มไหน สามารถโทรไปสอบถามที่ Call Center สปสช. สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มสามารถเข้ารับบริการได้เลย ถ้าอยู่ กทม.สามารถได้เข้า App เป๋าตัง เช็คดูหน่วยบริการใกล้บ้านว่ามีที่ไหนบ้าง เราเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ สามารถจองคิวได้ ส่วนบริการอื่นๆ ใน App เป๋าตัง มีบอกไว้ละเอียด สามารถเปิดดูได้และรับบริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป