25 มิถุนายน 2565
1,279

ไทยเฝ้าระวังฝีดาษลิง หลังเชื้อลามถึงสิงคโปร์-เกาหลี แนะไม่ควรกินเนื้อสัตว์ป่า ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

ไทยเฝ้าระวังฝีดาษลิง หลังเชื้อลามถึงสิงคโปร์-เกาหลี แนะไม่ควรกินเนื้อสัตว์ป่า ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
Highlight

โรคฝีดาษลิงกำลังคืบคลานเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อที่สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดอีกหลายรายที่รอดูอาการ ประเทศไทยกำลังปลดล็อกประเทศ และมีนักท่องเที่ยวจากประเทศประเทศต้นทางกลุ่มเสี่ยงเดินทางเข้าประเทศได้หลายช่องทาง แม้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ จะติดตามและป้องกันอย่างเต็มพิกัด แต่อาจหลุดรอดไปได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังพบเพียงผู้สงสัยติดเชื้อ และยังตรวจไม่พบเชื้อ กรมควบคุมโรคย้ำประชาชนดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ความรู้โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เพื่อประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดตัวใหม่ที่กำลังแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นในฝั่งยุโรป และขณะนี้ได้ลุกลามเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ประเทศใกล้บ้านเราอย่าง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 
โรคฝีดาษลิง หรือ MONKEYPOX 

ติดจากสัตว์สู่คน เลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์
รวมทั้งติดโรคจากคนสู่คน โดยสัมผัสสารคัดหลั่ง
สัมผัสแผลหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโดยตรง
และสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้

การติดเชื้อ แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5 - 21 วันหลังจากได้รับเชื้อ
  2. ระยะไข้ 1 - 4 วัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
    และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
  3. ระยะผื่น 1 - 2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน 
    ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น  
    จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย
  4. ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

ป้องกันตนเอง

  • หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนอง
    ของสัตว์กินเนื้อสัตว์ปรุงสุก
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ป่าและไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

สิงคโปร์พบผู้ป่วยฝีดาษลิง รายแรกของประเทศ เกาหลีใต้พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโรคฝีดาษลิง 2 ราย

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สิงคโปร์แถลงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นพนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบินชาวอังกฤษ อายุ 42 ปี ที่บินเข้าออกประเทศสิงคโปร์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นผู้ป่วยโรคฝีดาษรายแรกในประเทศสิงคโปร์ที่มีความเชื่อมโยงกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่พบรายนี้มีอาการทรงตัว หลังจากมีผลตรวจโรคเป็นบวกว่าติดเชื้อในวันจันทร์ (20 มิ.ย.) ที่ผ่านมาและได้รับการแยกรักษาตัว

สื่อท้องถิ่นรายงาน มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงชาวอังกฤษรายนี้จำนวน 13 ราย ซึ่งเป็นลูกเรือและเพื่อนร่วมงานในสายการบิน โดยทั้งหมดได้ถูกแยกกักตัวแล้ว

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (เคดีซีเอ) แถลงเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนนี้ว่า เกาหลีใต้พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโรคฝีดาษลิง 2 รายแรกในประเทศ โดยขณะนี้กำลังทำการตรวจวินิจฉัยอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะแถลงข่าวในทันทีที่ผลตรวจเสร็จสิ้น

ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อรายแรก เป็นชาวต่างชาติและมีอาการมาตั้งแต่วันอาทิตย์ (19 มิ.ย.) ได้เดินทางเข้ามายังประเทศเกาหลีใต้ในวันจันทร์ (20 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้แยกตัวรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเมืองปูซาน ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกรายเป็นชาวเกาหลี ซึ่งมีอาการขณะเดินทางจากเยอรมนีกลับมายังเกาหลีใต้เมื่อช่วงบ่ายวันอังคาร(21 มิ.ย.) และได้ถูกนำตัวส่งไปยังศูนย์การแพทย์อินชอนเพื่อทำการรักษา

สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (เคดีซีเอ) ของเกาหลีใต้ แถลงว่า กำลังดำเนินการตรวจวินิจฉัยและสอบสวนทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงและหน่วยงานสาธารณสุขจะแถลงในทันทีเพื่อประกาศมาตรการและแผนตอบสนองในทันทีที่ผลตรวจออกมา แต่เคดีซีเอไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อต้นเดือนนี้ เกาหลีใต้ได้กำหนดให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อระดับ 2 จากที่มี 4 ระดับ โดยมีโรคติดต่อ 22 โรค ที่รวมถึงโรคโควิด-19 อหิวาตกโรค และอีสุกอีใส

ยอดติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดกว่า 3,200 คน ใน 48 ประเทศ

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ และมักพบในแถบป่าของภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันตก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus)

WHO แถลงเมื่อ 23 มิ.ย.65 เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงว่า ยืนยันผู้ป่วยสะสมมากกว่า 3,200 คน ในอย่างน้อย 48 ประเทศ และเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย พบที่ไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการพบผู้ป่วยหญิงติดเชื้อฝีดาษลิงมากที่สุด จำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษดังกล่าว กว่า 80% อยู่ในยุโรป และยังพบการระบาดในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้และออสเตรเลีย

สถานการณ์ในไทย เฝ้าระวัง! แม้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ

โดยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน แต่ได้รับรายงานจากด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน พบผู้ป่วยสงสัย รวม 10 ราย ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษลิง

ในจำนวนนี้ 6 ราย ได้รับการยืนยันการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus type 1) และทั้ง 6 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับการซ้อมมวยในสนามฝึกซ้อมมวยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และกระบี่ และอีก 4 ราย เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง

หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ประสานให้คำแนะนำสนามฝึกซ้อมมวยที่พบผู้ป่วยทุกแห่ง ให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อมและสถานที่เป็นประจำ หากผู้ที่มาฝึกซ้อมมวยมีอาการป่วย โดยเฉพาะมีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและร่วมกิจกรรมเสี่ยง

รวมถึงเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสเริม หรือ Herpes Simplex Virus ในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสอบสวนโรคเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยสงสัยรายล่าสุด ทางศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีฝีดาษลิง ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ

โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 พบผู้ป่วยสงสัย เพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพนักมวย ชาวออสเตรเลีย มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 มีประวัติได้ไปซ้อมมวยที่สนามฝึกซ้อมมวยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ และเริ่มมีผื่นแดง ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง บริเวณใบหน้า ลำคอ และแขน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษลิง ทั้งนี้กำลังเร่งตรวจหาสาเหตุของโรค

พร้อมย้ำว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อได้ยากกว่าโรคโควิด-19 เพราะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นระยะที่ปรากฏอาการแล้ว เช่น มีไข้ ตุ่มหนองตามผิวหนัง

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ข้อมูลCOVID19, ThaiPBS

ติดต่อโฆษณา!