หมอยง เผยโควิดระบาดหนักในสถานศึกษา คาดตัวเลขจริงสูงกว่ารายงาน 10 เท่า
Highlight
หลังเปิดเทอมมาได้เป็นเวลาเดือนเศษ พบว่าการระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากในสถานศึกษา แต่เนื่องจากอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการ ทำให้อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลง แต่พบว่าการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นมาก นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุตัวเลขติดเชื้อจริงอาจจสูงกว่า 10 เท่าที่รายงานอย่างเป็นทางการ ระบุเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่หลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้ปอดอักเสบได้และกำลังระบาดมากขึ้น ย้ำประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง แม้จะไม่มีการบังคับแล้วก็ตาม
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ต้องยอมรับความจริงว่าโควิด-19 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่นักเรียนเปิดเทอมแล้ว ซึ่งจะพบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการกระจายตัวติดในครอบครัว
“ในระยะนี้ พบผู้ป่วยที่มีการติดในครอบครัวร่วม 10 ราย และการลงตรวจเด็ก คนไข้นอก พบเด็กป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เหมือนฤดูกาลก่อนโควิดระบาด มีโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นมาก ในการตรวจจะแยกยากมากว่าเป็นโควิดหรือไม่ ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนตรวจเด็กโรคทางเดินหายใจทั่วไป ไม่ได้มีการใส่ PPE แล้ว ถ้าสงสัยจริงๆ ก็จะทำ ATK”
นพ.ยง กล่าวว่า อย่างที่เคยคาดไว้โควิด 19 จะระบาดมากตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป และจะขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะเริ่มลดลงในเดือนตุลาคม-ธันวาคม แล้วก็จะระบาดใหม่ในเดือนมกราคม เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ของทุกปี การระบาดจะเกิดขึ้น 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นช่วงของการเปิดเทอมแรกของนักเรียน ช่วงที่ 2 จะพบได้ต่ำกว่า เป็นช่วงตั้งแต่หลังเปิดเทอมที่ 2 แล้วประมาณ 1 เดือน คือเดือนมกราคม เป็นลักษณะของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาลของประเทศไทย
โรคโควิด 19 พบสูงมากนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ถ้าให้คาดการณ์วันนี้มีผู้ป่วยเท่าไร บอกได้แต่เพียงว่ามากกว่า 10 เท่าของตัวเลขที่รายงาน เพราะส่วนใหญ่มีอาการน้อย ตรวจ ATK รักษากันเอง และจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการ เพราะจากการศึกษาของเราในเด็ก โดยตรวจเลือด พบว่าเด็กประมาณครึ่งหนึ่งมีหลักฐานการติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ
“ถ้าจะทราบตัวเลขที่แท้จริง จะต้องใช้สถานที่ใดที่หนึ่ง ทำเป็นสถานที่ศึกษาว่ามีจำนวนผู้ป่วยเท่าไร (Sentinel) เพราะตัวเลขขณะนี้ จะเป็นตัวเลขที่รับไว้ในโรงพยาบาล หรือมีการตรวจ RT-PCR ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการน้อย การแพร่เชื้อจะน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อมีอาการที่มากกว่า และการกำจัดไวรัสก็เป็นไปได้เร็วกว่า”
สธ.แจงอย่าตื่นข่าวโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4-BA.5 รุนแรง ยังไร้ข้อมูลยืนยัน
ด้านสถานการณ์ การระบาดโควิด-19โอมิครอนสายพันธุ์ BA.4-BA.5 ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม
ขณะที่ฐานข้อมูลโลก GISAID พบ BA.5 สะสม 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% เหลือ 9%
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้ยังคงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้การที่ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อโซเชียลว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูงนั้น ข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐานและแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลต่อข้อมูลดังกล่าว
สำหรับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring : VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น
สธ.หนุนเอกชนเปิดคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจฯ รับมือสถานการณ์ในอนาคต
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 โดยรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทยอยลดลงจากเมื่อก่อนมาก รัฐบาลจึงได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคฝีดาษวานร โดยกรมควบคุมโรคได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษวานร เพื่อเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และสามารถป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้
สำหรับการเปิดให้บริการคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีความเข้มแข็ง รับมือกับโรคระบาดต่างๆ รวมถึงช่วยเสริมพลังในการเฝ้าระวัง ดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยรองรับการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาจากนโยบายเปิดประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าเมืองเพื่อรับการรักษา (Medical Tourism) จากนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
“ขณะนี้ประเทศไทยพยายามช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลเมดพาร์คมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามระบบ ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศได้ ถือเป็นการช่วยกันทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) เป็นคลินิกความดันลบ สร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ มีระบบบริหารจัดการแบบ One stop service เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคระบาดให้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น โดยขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ย 35-45 รายต่อวัน
ที่มา : กรมควบคุมโรค, infoquest