ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ดี ? แพทย์แนะนำฉีดเข็มกระตุ้น ปีละ 2 ครั้ง
Highlight
หมอนิธิ แนะนำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันโควิด-19 ปีละ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 6 เดือน โดยเข็มแรกฉีดช่วงกลางเดือน ก.ค. ไปจนถึงกลางเดือน ก.ย. ครั้งที่สองช่วงกลางเดือน ม.ค. ไปถึงกลางเดือน มี.ค. หรืออาจจะเหลือครั้งเดียวในอนาคต โดยฉีดวัคซีนอะไรก็ได้ ยกเว้นในอนาคตมีการผลิตขึ้นมาใหม่และครอบคลุม ด้าน ศบค.ระบุมีการระบาดรอบเล็กๆ หรือ Small Wave กรุงเทพ ปริมณฑล และภูเก็ต แนะนำประชาชนปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดป้องการการติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้คำแนะนำในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่างๆ ควรมีระยะห่างอย่างไร เมื่อ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า
“จากที่มีคนถามมาหลายรายเป็นระยะๆว่าจะต้องฉีดวัคซีน เข็มสามบ้าง สี่บ้าง ห้าหกบ้าง เมื่อไหร่ดี ผมจะขอพยายามปรับจังหวะเวลาการฉีดให้เข้าใจกันและจำกันได้ง่ายๆนะครับ
ถ้าใครติดตามที่ผมได้เล่าเรื่อง การระบาดของไวรัสโคโรนา2019 มา คงทราบดีว่าในระยะแรกๆที่การระบาดรุนแรงนั้นเราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแต่ขณะนี้มันเริ่มคาดการณ์ได้ ว่ามันจะเริ่มระบาดกันช่วงไหนโดยเริ่มมีรูปแบบที่เกือบแน่นอนแล้ว
ในประเทศหนาวก็จะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว ส่วนแถบบ้านเราก็จะเป็นช่วงปลายๆหน้าฝนต่อหน้าหนาว และบางทีอาจจะมีสองครั้งในปีหนึ่งๆ (โดยรอบที่สองเป็นการระบาดย่อยๆหลังจากเด็กเปิดเรียน) ซึ่งรูปแบบการระบาดแบบนี้เป็นรูปแบบการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
ด้วยประเภทและชนิดของวัคซีนที่เรามีอยู่ในขณะนี้ กับการกลายพันธุ์ และการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนของสายพันธุ์ใหม่ๆ(แต่วัคซีนทุกๆชนิดยังป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้ดีพอควร)นั้น ทำให้เรายังคงต้องฉีดวัคซีนกันไปเรื่อยๆ…..แต่ทำอย่างไรจะให้ได้พอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป…….?????และพอดีจังหวะป้องกันได้ทุกครั้งก่อนระบาด
ผมขอเสนอให้ฉีดวัคซีนกันจากนี้ไป ปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6เดือน และเพื่อป้องกันให้ได้พอดีก่อนการระบาดแต่ละครั้ง(ถ้าโชคดีอาจเหลือปีละครั้ง ถ้ามีวัคซีนใหม่ๆกระตุ้นภูมิได้อยู่นานขึ้นและการกลายพันธุ์นั้นเข้าข้างเรา คือพันธุ์ใหม่หลบภูมิคุ้มกันไม่ได้เก่งนักหรือไม่ได้เลย)
และปีละ 2 ครั้ง ในแถบประเทศเราควรจะเป็น ครั้งแรก กลางเดือนกรกฎาคม ไปจนถึง กลางกันยายน และครั้งที่สองคือช่วง กลาง มกราคมไปถึง กลางมีนาคม ส่วนใครที่ติดเชื้อไปแล้ว ก็รอสัก หนึ่งถึงสองเดือนหลังหายแล้วค่อย รับวัคซีนก็ได้ครับ
ตอนนี้วัคซีนอะไรก็ใช้ได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆถึงเวลานั้นเราค่อยปรับการรับวัคซีนกันใหม่ในตอนนั้น(โอกาสที่จะมีวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงๆในช่วงนี้เป็นไปได้ยากจนกว่าเราจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้) ตอนนี้มีอะไรฉีดไปก่อน ปีละสองครั้ง ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป” ศ.นพ.นิธิ กล่าว
ศบค.จับตา 23 จังหวัด แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดขาขึ้น คาด ก.ย.ระบาดระลอกเล็กเพิ่ม
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่เมื่อ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ถึงภาพรวมการติดเชื้อทั่วประเทศ มี 54 จังหวัดที่มีแนวโน้มลดลง และมี 23 จังหวัดที่เป็นขาขึ้น
โดยพบว่ามีการติดเชื้อระลอกเล็กๆ (Small Wave) ในบางจังหวัด อย่างเช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต ที่มียอดเพิ่มสูงพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดยอดผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ ในระยะของการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่ระยะ Post-pandemic (ก.ค.65-ธ.ค.66) มีการคาดการณ์ว่า อาจพบการระบาดระลอกเล็ก (Small Wave) ได้ โดยมีปัจจัย ได้แก่ ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลงหลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือน, ประชาชนลดการสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง, พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะหลังเทศกาล และการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ทั่วโลกและในประเทศ
“ผู้ป่วยรายใหม่อาจพุ่งขึ้นจากสัปดาห์นี้เป็นต้น จะเป็น wave สูงขึ้นในช่วง ก.ย.
65 และพ.ย.จึงแนวระนาบลงมา หากประชาชาชนช่วยกัน ฉากทัศน์ของจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็จะต่ำกว่าการคาดการณ์”
นพ.ทวีศิลป์ระบุว่าในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการให้ประชาชนได้ร่วมมือกัน เพื่อลดการระบาดและแพร่เชื้อดังนี้คือ
1.การสวมหน้ากากอนามัย
2.กรณีมีคลัสเตอร์ต่างๆ ขอความร่วมมือให้ลงไปดูกันอย่างรวดเร็ว ทั้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.การเดินทางเข้าประเทศ ขอให้ไปตรวจสอบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศที่เป็นคนต่างชาติมีอยู่จำนวนเท่าไหร่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
4. จุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชายแดนที่ไม่มีด่านควบคุมโรค ขอให้ไปหามาตรการและหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันรับผิดชอบและดูแลไปด้วยกัน
5.หากมีผู้เจ็บป่วย ขอให้มีการบริการดูแลให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอ-แจก-จบ เป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.-6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย และพบว่าในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนัก ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
พร้อมกันนี้ รมว.สาธารณสุขยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียงพอ โดยเตียงทุกระดับมีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อยมีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4% สามารถจัดสรรเตียงไปให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นได้
แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ที่รอรับมอบ ในปี 2565
1. วัคซีน AstraZeneca
• ปรับลดการจัดซื้อวัคซีน AZ จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5160 ล้านบาท
• เป็นการจัดซื้อวัคซีน AZ จำนวน 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท
• เปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท
• รับมอบวัคซีน AstraZeneca ไปแล้ว 8.3 ล้านโดส เหลือการรับมอบวัคซีน AstraZeneca 27.1 ล้านโดส
2. วัคซีน Pfizer
• เหลือการรอรับมอบ จำนวน 3.6 ล้านโดส (รับมอบแล้ว 26.4 ล้านโดส)
• พิจารณาปรับเป็นวัคซีน Pfizer (Maroon cap) สำหรับฉีดในกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 6 เดือน ถึงอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส
ที่มา : ศบค, ศูนย์ข้อมูล COVID19