สธ.ห่วง โควิดระบาดช่วงหยุดยาว คาดเดือน ก.ย.ยอดพุ่ง จับตา 23 จังหวัดแนวโน้มการระบาดสูง
Highlight
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงช่วงหยุดยาวเสี่ยงโควิดกระจายจากพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อโอมิครอน ขณะที่สายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น คาดเดือนกันยายน ยอดพุ่ง ในขณะที่ 23 จังหวัดมีแนวโน้มการติดเชื้อสูง แนะนำกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนป้องกันความเสี่ยง สวมหน้ากากอนามัย
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าเทศกาลหยุดยาววันเข้าพรรษา 2565 ซึ่งมีวันหยุดตั้งแต่ 13-17 ก.ค. การติดเชื้อจะเกิดขึ้นใน กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ก่อน แล้วค่อยกระจายไปจังหวัดเล็ก จากเมืองกระจายไปชนบท
ดังนั้น ช่วงวันหยุดยาวอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น จึงต้องช่วยกันชะลอการแพร่เชื้อ เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว จะมีผู้ที่ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจจะกระทบกับเตียงหรือยาที่ใช้ในการรักษาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงระดับการเตือนภัยระดับ 2
ส่วนสัญญาณที่ทำให้ต้องมีการแจ้งเตือนและปรับเพิ่มมาตรการ คือผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิน 4 พันรายต่อวัน อาจต้องให้ใส่หน้ากาก 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการการรักษาและให้ยาเร็วขึ้น ผู้เสียชีวิตเกิน 40 รายต่อวัน
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเอง โดยใช้มาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล และ Universal Vaccination คือการฉีดวัคซีน
โดยยังสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนา แต่ให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ อยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608 หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 มีอาการป่วย ผลตรวจ ATK เป็นบวก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยา จะช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักได้
จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิต ช่วงวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2565 จำนวน 132 ราย เป็นกลุ่ม 608 ถึง 97% และส่วนใหญ่ไม่รับวัคซีน หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงเสียชีวิตสูง คือ โรคไตเรื้อรัง มะเร็ง อ้วน หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ
ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดมากขึ้นของสายพันธุ์ BA.4/BA.5 และมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อซ้ำ จึงขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ และผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ควรมารับเข็มกระตุ้นทุก 3-4 เดือน เพราะหากเกินช่วงเวลาดังกล่าวภูมิคุ้มกันอาจไม่เพียงพอ ทำให้ป่วยหนักได้
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนในบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก คือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่
โดยปอดอักเสบเพิ่มจาก 638 ราย เป็น 786 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจาก 290 ราย เป็น 349 ราย แต่ทั้งหมดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้
ประกอบกับมีการคืนเตียงผู้ป่วยโควิดไปใช้รักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเกิน 25% ได้แก่ นนทบุรี 42.6% กทม. 38.2% ชัยภูมิ 30.5% ปทุมธานี 29.3% สมุทรปราการ 29.8% และนครสวรรค์ 26% จึงต้องปรับการบริหารจัดการเตียง
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 หลายพื้นที่ทั่วโลกมีการระบาดแบบ Small Wave โดยขณะนี้เป็นระลอกเล็กๆ การเสียชีวิตก็ลดลงแม้จะมีสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ส่วนสถานการณ์ในไทยมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มในโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5
23 จังหวัดพบผู้ป่วยโควิดขาขึ้น
สำหรับผู้ป่วยใหม่ของประเทศไทยวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,144 ราย หายป่วย 1,946 ราย เสียชีวิต 20 ราย รักษาตัวในรพ.สะสม 25,082 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยหนัก 763 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 327 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 11.9% “หากพิจารณาตามรายสัปดาห์ตัวเลขป่วยใหม่ถือว่าลดลง แต่รายวันอาจเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ส่วนที่ว่าป่วยแล้วไม่เข้า รพ.นั้น กรมควบคุมโรคมีข้อมูลการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเจอ แจก จบ สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 207,643 คน เฉลี่ยวันละ 2.9 หมื่นคนทั่วประเทศ นี่คือตัวเลขป่วยจริง นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อแนะนำว่าตัวนี้มีความสำคัญที่ต้องสื่อสารประชาชนรับทราบว่าป่วยจริง ไปแสดงสิทธิเพื่อรับยาและการดูแล แต่กลุ่มนี้อาการไม่หนัก”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ 20 ราย ยังเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง 100% ส่วนจังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถานการณ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า 54 จังหวัดแนวโน้มลดลง
โดยมี 23 จังหวัด มีขาขึ้นแบบระลอกเล็กๆ ได้แก่ กทม. ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา จึงขอให้ทั้ง 23 จังหวัดนี้และคนในจังหวัดช่วยกันลดยอดระลอกเล็กๆ ลง
คาดยอดผู้ป่วยโควิดพุ่ง เดือน ก.ย.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ ระลอกเม.ย. - ส.ค. 2564 เป็นยอดระลอกหนึ่ง และมีระลอก ม.ค. 65 ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ก็คาดว่าหลังจากนี้จะมีการเกิดยอดภูเขาเล็กๆ ขึ้นมาได้ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ขึ้นกับเหตุปัจจัยคือ ภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก และการรวมกลุ่มกันทำกิจการกิจกรรม และลักษณะของเชื้อคือ BA.4/BA.5
ย้ำประชาชน เรื่องหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน และการรวมกลุ่มแม้จะผ่อนคลายได้ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันดูแลภาพรวมด้วยกัน จะได้ไม่เจอเวฟที่สูงกว่านี้ รายใหม่อาจเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะไปสูงช่วง ก.ย. และ พ.ย.น่าจะมีแนวระนาบลงมา หากพวกเราช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็อาจจะกดให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ การเสียชีวิตก็จะเพิ่มช่วง ก.ย.เช่นกัน
เน้นกลุ่ม 608 มารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิต
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใน ตลอดสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งยังมีเตียงรองรับเพียงพอ แม้มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทั้งประเทศจำนวน 327 ราย ส่วนเสียชีวิตรายสัปดาห์แม้ลดน้อยลง แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ขอให้กลุ่ม 608 มารับวัคซีน คนที่เอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุคือลูกหลานที่ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน ยังขอความร่วมมือสวมหน้ากากกันให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตของสูงอายุ
นอกจากนั้น สธ.เสนอแนวทางขับเคลื่อนโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่โรคประจำถิ่น มียุทธศาสตร์ที่ต้องวางแผนไว้ โดยเสนอแผนให้มีมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคมและองค์กร และมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน มี 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์
4 กิจกรรมประเมิน เตรียมพร้อมบริหารโควิด-19
ทั้งนี้ สธ.เสนอขึ้นมาเพื่อ ศบค.อนุมัติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือ
1.การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.ไม่เกิน 4 พันรายต่อวัน ป่วยตายน้อยกว่า 0.1% เสียชีวิตไม่เกิน 40 รายต่อวัน ครองเตียงหนัก-วิกฤตไม่เกิน 25% กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มสองมากกว่า 80%
2.การเตรียมบริหารจัดการโควิด 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย
3.มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นติดต่อต้องเฝ้าระวัง เช่น การแนะนำประชาชน การดำเนินการด้านการแพทย์
4.การประเมินผล
การพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันอยู่ในช่องสีเขียวมีรักษาตัวนอนใน รพ.ประมาณ 2 พันรายต่อวัน อยากลงไปสู่ช่องสีขาว คือ ต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีสมอลเวฟอาจเป็นสีเหลืองคือรุนแรงน้อย 4-6 พันรายต่อวัน ต้องสร้างความตระหนักประชาชน
ส่วนสีส้มคือรุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6-8 พันรายต่อวัน และสีแดงคือรุนแรงมาก
8 พัน - 1 หมื่นรายต่อวัน ตรงนี้จะโยงเรื่องการจัดซื้อยา วัคซีน การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่ายรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาภาครัฐส่งงบประมาณเต็มที่เพื่อดูประชาชน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ รพ.เอกชนก็มีความพร้อมช่วย สิ่งสำคัญคือ สปสช.หรือคนดูแลการเบิกจ่ายต้องปรับตัว เพื่อนนำไปสู่การใช้สิทธิฉุกเฉิน UCEP ให้ช่วยการเปลี่ยนผ่านลื่นไหลไปด้วยดี การเปิดกิจการกิจกรรมต้องขอความร่วมมือ เพราะเราให้เปิดกันแล้ว เพื่อให้ตัวเลขไม่พุ่งมากไปกว่านี้
ศูนย์ข้อมูล "โควิด19" รายงานอัปเดต "10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด" จับตา ขอนแก่น ชุมพร ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง กทม.ยังรั้งอันดับ 1
"10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด" ในประเทศไทยวันที่ 12 ก.ค.65
1.กรุงเทพมหานคร
2.สมุทรปราการ
3.ชลบุรี
4.ขอนแก่น
5.ชุมพร
6.ราชบุรี
7.ปทุมธานี
8.สงขลา
9.เชียงใหม่
10.ประจวบคีรีขันธ์
สถานการณ์การติดเชื้อ "โควิด19" ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 1,679 ราย
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,325,098 ราย หายป่วยแล้ว 2,325,540 ราย
เสียชีวิตสะสม 9,184 ราย
ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,548,533 ราย หายป่วยแล้ว 4,494,034 ราย เสียชีวิตสะสม 30,882 ราย