20 กรกฎาคม 2565
1,332

สธ.ยืนยัน ชายไทย จว.ตรังติดเชื้อโควิด BA.2.75 รู้จัก BA.2.75 หรือ 'เซนทอรัส' ที่เชื้อแรงกว่า BA.5

สธ.ยืนยัน ชายไทย จว.ตรังติดเชื้อโควิด BA.2.75  รู้จัก BA.2.75 หรือ 'เซนทอรัส' ที่เชื้อแรงกว่า BA.5
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขยืนยัน คนไทยติดเชื้อโอมิครอนกลายพันธุ์ BA.2.75 ตัวล่าสุด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากอินเดีย และถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์น่ากังวล ความรุนแรงจากการติดเชื้อยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่บทวิจัยทางการแพทย์จากต่างประเทศระบุตรงกันว่าเชื้อตัวนี้แข็งแรงกว่า หลบภูมิคุ้มกันได้ดี และติดเชื้อง่ายกว่า BA.5 ที่กำลังระบาดในประเทศไทยในเวลานี้ ดังนั้นโควิดยังไม่หายไปง่ายๆ แม้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายการคุมเข้ม หมอแนะนำสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ร่วม หรือพบปะผู้อื่น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ

ทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และกรมวิทย์ฯ ได้รับตัวอย่างส่งต่อเพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทย์ฯ จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65

สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนม.ค. 65 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 65)

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด-19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) จัด BA.2.75 ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรง ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป

“กรมวิทย์ฯ และกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขอเน้นย้ำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าโควิด-19 Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เดิมพบครั้งแรกที่อินเดีย และกระจายไปหลายต่อหลายประเทศ

ทีมวิจัยจาก Indian SARS-CoV-2 Genomics Consortium (INSACOG) ให้ข้อมูลผ่านสื่อท้องถิ่น (Times of India, 4 July 2022) ว่า สายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่ตรวจพบในอินเดียมากนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ทั้ง BA.2.74, BA.2.75, และ BA.2.76 ได้รับการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีความแข็งแรง (Viral fitness) มากกว่า BA.5

ไทยเราคงต้องระวัง เพราะธรรมชาติของโรคนั้นมักสอดคล้องกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก และมีโอกาสสูงที่เราจะกำลังเผชิญกับการระบาดที่มีสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ไปพร้อมกันได้ หากไม่ป้องกันให้ดี

จากความรู้ที่มีตอนนี้ BA.4 BA.5 และ BA.2.75 นั้นไม่กระจอก ใช้ชีวิตได้ ทำมาหากินได้ ศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ควรป้องกันตัวเสมอ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม หากเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ประมาท ก็จะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็น และที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง สำคัญมาก นพ.ธีระ ระบุ

รู้จัก โควิดโอมิครอน กลายพันธุ์ BA.2.75

hfocus.org กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นับเป็นวิบากกรรมระยะยาวของมนุษยชาติจริงๆ เมื่อความกังวลเรื่องโควิด-19 กลับมาหลอกหลอนพวกเราอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของโลกกลับมา "ทำตัวปกติ" กันแล้ว และ "หัวเราะเยาะ" จีนที่ใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่ถูกมองว่าไม่สอคล้องกับ "ความเป็นจริง" แต่เมื่อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์  Omicron กลายพันธุ์ BA.2.75 แสดงอิทธิฤทธิ์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ความเชื่อมั่นของผู้คนก็เริ่มสั่นคลอน อย่างน้อยก็ในหมู่นักวิทยศาสตร์

BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมและได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตามหัวข้อ Twitter จาก Vinod Scaria, MBBS, PhD, นักวิทยาศาสตร์หลักของ CSIR Institute of Genomics & Integrative Biology ในนิวเดลี ระบุว่าเชื้อสาย BA.2.75 มี "การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ซ้ำกัน 9 ประการในโปรตีนสไปก์" 

การกลายพันธุ์อย่างหนึ่งคือ G446S เป็นส่วนหนึ่งของโปรตีนสไปก์ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ของเรา และ "เกี่ยวข้องกับการหลบหนีของภูมิคุ้มกันที่สำคัญ (Ab)" และ Vinod Scaria เตือนว่าอาจเกิด "การติดเชื้อที่ลุกลามซ้ำแล้วซ้ำอีกของ (หลังการฉีด) วัคซีน สามารถขับเคลื่อนการแพร่กระจายของ BA.2.75 ได้"

Vinod Scaria ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าแม้ว่าจำนวนจีโนมที่สามารถตรวจสอบได้ในอินเดียยังมีน้อยมาก แต่เกิด "การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ... บ่งชี้ว่าอาจมีข้อได้เปรียบในการขยายตัว"

ณ วันที่ 2 กรกฎาคม Vinod Scaria กล่าวว่า "จำเป็นต้องตื่นตระหนกตอนนี้หรือไม่?

“ไม่” เนื่องจากตัวแปรนี้ยังไม่บ่งชี้ว่าทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรืออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ข้อควรจำคือ ตัวแปรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสะสมการกลายพันธุ์มากขึ้น และยังเร็วเกินไปที่จะสรุป" และ "การเฝ้าระวังจีโนมที่ในวงกว้างขึ้นและละเอียดมากขึ้น (การศึกษาด้าน) ระบาดวิทยา และที่สำคัญกว่านั้นคือความพร้อมใช้งานของข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจภาพในลักษณะ (ของ BA.2.75) ที่ดีขึ้น

คำถามก็คือ BA.2.75 อันตรายมากขึ้นหรือไม่?

Soumya Swaminathan, MBBS, MD หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของอวค์การอนามัยโลก WHO กล่าวในวิดีโอ ณ วันที่ 9 กรกฏาคมว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าตัวแปรย่อยนี้มีคุณสมบัติของการบุกรุกภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม หรือที่จริงแล้วมีความรุนแรงทางคลินิกมากกว่า" นั่นก็เพราะมีข้อมูลด้านจีโนมที่จำกัดในการวิเคราะห์ตัวแปรนี้ แต่ตัวแปรนี้ "ดูเหมือนจะมีการกลายพันธุ์ในตัวรับในส่วนของโปรตีนสไปก์ นั่นเป็นตัวหลักของไวรัสในการนำตัวมันไปเหนี่ยวกับกับตัวรับของมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องจับตาจุดนี้"

ด้าน Marc Johnson, PhD, ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาระดับโมเลกุลและภูมิคุ้มกันวิทยาที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Missouri กล่าวในอีเมลถึงเว็บไซต์ MedPage Today ว่า "เราไม่รู้จริงๆ ว่า BA.2.75 แพร่เชื้อได้มากกว่านี้หรือรุนแรงกว่านี้หรือไม่ ณ จุดนี้" และเขาบอกว่า “เราควรกังวล ใช่ แต่เราไม่ควรวิตกกังวล” และบอกว่า "เชื้อสายพันธุ์นี้มีโอกาสมากที่จะเพิ่มการติดเชื้อและกลายเป็นเชื้อสายใหม่ที่โดดเด่น แต่ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดคลื่นที่กว้างใหญ่อย่างที่ Omicron เคยทำ"

อีกคนที่เห็นแบบเดียวกันคือ Matthew Binnicker ผู้อำนวยการฝ่ายไวรัสวิทยาคลินิกที่ Mayo Clinic ในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา กล่าวกับ Time ว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปผล “แต่ดูเหมือนว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย อัตราการติดเชื้อกำลังแสดงการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณนั้น” และเขากล่าวว่า BA.2.75 จะแซงหน้า BA.5 ได้หรือไม่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด

แต่นักวิทยาศาสตร์และสื่อตะวันตกก็ยังอดกลัวมันไม่ได้ เช่น Forbes สื่อทรงอิทธิพลของโลก พาดหัวข่าวรายงานว่า "BA.2.75 ม้ามืดท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด" เขียนโดย William A. Haseltine นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ นักเขียนชาวอเมริกัน เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานที่ก้าวล้ำในด้านเอชไอวี/เอดส์และจีโนมมนุษย์ และเป็นศาสตราจารย์ที่ Harvard Medical School ซึ่งเขาก่อตั้งแผนกวิจัยสองแผนกเกี่ยวกับโรคมะเร็งและเอชไอวี/เอดส์

William A. Haseltine อธิบายในเชิงวิทยศาสตร์ของเชื้อตัวแปรนี้อย่งยืดยาว แต่โดยสรุปก็คือเขาบอกว่า "สรุปว่า (โลก) เพิ่งฟื้นจากคลื่น Omicron แรกของ BA.1 และ BA.2 เมื่อต้นปี รวมถึงคลื่น BA.2.12.1 ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับอีกสองคลื่นตัวแปรซึ่งอาจเกินกว่าคลื่นลูกแรกในขนาดเดียวหรือรวมกัน" และเขาบอกว่า "ทุกประเทศยกเว้นจีนได้ละทิ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบสาธารณะ ซึ่งหมายความว่าตอนนี้ความปลอดภัยของโควิดตกอยู่ที่ปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเสียใจในการเผชิญกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องของ SARS-CoV-2"
นี่คือความกังวลในฐานะนักวิทยศาสตร์ และสะท้อนว่าคนทั่วไปไม่ได้กังวลอย่างนั้น อย่างที่ William A. Haseltine บอกว่าความปลอดภัยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลแล้ว


อ้างอิง

https://twitter.com/vinodscaria/status/1543240488462852096

https://twitter.com/WHO/status/1544413181027778561

Putka, Sophie. (July 8, 2022). "What to Know About the New BA.2.75 Omicron Subvariant". MedPage Today.

Ungar, Laura. Ghosal, Aniruddha. (July 11, 2022). "A Super Contagious Omicron Mutant Is Worrying Scientists. It’s Called BA.2.75". Time/The Associated Press.

Haseltine, William A. (July 11, 2022). "BA.2.75: A Dark Horse In The Covid Pandemic". Forbes.

hfocus.org

ติดต่อโฆษณา!