กินของทอดเยอะ อาหารไขมันสูง ทำเด็กไทยเป็นหนุ่ม-สาว ก่อนวัยอันควร
Highlight
ปัจจุบันเด็กไทยมักติดทานอาหารประเภทของทอด อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว ซี่งเป็นสาเหตุทำให้มีปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน ตลอดจนการเกิดภาวะเป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย ผู้ปกครองควรจัดอาหารให้ถูกหลักครบ 5 หมู่ เสริมอาหารทะเล รวมทั้งเครื่องในสัตว์ ผลไม้และผักหลากสี ทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อควบคุมน้ำหนักเด็กให้เหมาะสม ลดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
กรมอนามัย แนะเด็กไทย ลดกินอาหารทอด อาหารไขมันสูง ป้องกันเป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่บริโภคอาหารไขมันสูงเพิ่มขึ้น เช่น อาหารทอด มัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว ซี่งเป็นสาเหตุทำให้มีปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน
เด็กอ้วนจะมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมาก ส่งผลให้เกิดภาวะเป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย เช่น เด็กชายอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี เด็กหญิงมีเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี มีประจำเดือนก่อนอายุ 9.5 ปี โดยเฉพาะในเด็กหญิงจะสร้างฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก และควรจัดอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เลือด สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ไข่วันละฟอง เพิ่มการบริโภคผักหลากหลายสี และผลไม้ในทุกมื้ออาหาร ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว
“ทั้งนี้ หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มรสหวาน และอาหารไม่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันภาวะเป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย
นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรชวนลูกหลานมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม โดยออกกำลังกาย อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน นอนหลับให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง จะทำให้เด็กสูงดีสมส่วน สุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
อาหารที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย
วัยทารก
แรกเกิด – 6 เดือน นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับวัยนี้ เพราะนมแม่มีสารอาหารที่ทารกต้องการอย่างครบถ้วน แต่ถ้าอายุครบ 6 เดือน เข้าสู้ช่วงหย่านม อาจเริ่มให้อาหารบดทีละชนิดเพื่อให้รู้จักการบดเคี้ยว ติดตามดูอาการแพ้ของอาหารชนิดต่างๆ ไม่ควรเติมเกลือ น้ำตาลและสารปรุงรสเพื่อไม่ให้เด็กติดหวานและเค็ม สามารถให้นมแม่หรือนมผงสำหรับเด็กทารกไปพร้อมกับการให้อาหารอื่นๆได้
วัยเด็ก
เด็กวัยก่อนเรียน อายุ 1-5 ปี ยังไม่สามารถรับประทานอาหารได้เยอะมากนัก ควรป้อนอาหารเป็นมื้อเล็กๆ และของว่างที่มีประโยชน์ ฝึกให้เด็กกินผักโดยอาจจะหั่นเป็นชิ้นเล็กสอดแทรกลงไปในอาหารให้มีสีสันสวยงาม น่ารับประทาน ฝึกให้เด็กหยิบจับอาหารด้วยตัวเอง
เด็กวัยเรียน อายุ 6 – 12 ปี ควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้า รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ วัยนี้มักจะเลือกอาหารที่เข้าถึงได้ง่ายที่มีขายอยู่ทั้งในและนอกโรงเรียน หรือใกล้ที่พักอาศัย ควรมีการให้ความรู้ทางโภชนาการและปลูกฝังพฤติกรรมทการบริโภคอาหารที่เหมาะสม
ควรให้เด็กได้บริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อให้ได้รับโปรตีนและแคลเซียม นำไปใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกาย เสริมสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งนมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก คือ นมครบส่วน หรือนมไขมันเต็มเพราะให้พลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ควรเป็นนมรสจืดที่ไม่ปรุงรส
วัยรุ่น
วัยนี้สามารถรับประทานอาหารได้มาก เพราะมีการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างรวดเร็ว ต้องการอาหารที่มีพลังงานสูงแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน วัยรุ่นมักจะให้ความสำคัญกับรูปร่างและสัดส่วนของร่างกายซึ่งไม่ควรใช้วิธีการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่ควรใช้วิธีการรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
วัยผู้ใหญ่
อาหารสำคัญของคนวัยนี้ควรเลือกอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ ข้าว/แป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี ได้แก่ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลต์วีต และธัญพืชต่างๆ รับประทานอาหารที่ให้โปรตีนพอประมาณ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่และถั่วต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับส่วนสูงของตยอง
ผู้สูงอายุ
วัยนี้จะมีการเสื่อมถอยของร่างกาย ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เลือกโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เสริมสร้างกระดูกด้วยนมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ เต้าหู้แข็ง และผักใบสีเขียวเข้ม
ที่มา :
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/250765/?fbclid=IwAR35FOmbyjMeXF9kcZvMk_qEkCmJ_yt-ia7ZCA8hSFROFR_pH4KQxNvU_BI
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข