09 สิงหาคม 2565
1,005

คาดโควิด-19 ยอดติดเชื้อจริงกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน ทั้งปีน่าจะถึง 20 ล้านคน

คาดโควิด-19 ยอดติดเชื้อจริงกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน ทั้งปีน่าจะถึง 20 ล้านคน
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งมีมีมติเห็นชอบให้ปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังไปเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าสามารถควบคุมการระบาดให้สถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงน้อย และมีผู้เสียชีวิตน้อยลง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยมารักษาที่ รพ.ยังสูง  อยากให้มีการสื่อสารกับประชาชนอย่างเข้าใจทั้งกระบวนการรักษาและดูแลตัวเอง รวมทั้งมีมาตรการรองรับภาวะ “ลองโควิด” อย่างจริงจัง



รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หรือ หมอนิธิพัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กกรณี "โควิด-19" เผยผู้ติดเชื้อรายวันยังมากกว่า 3 หมื่นราย และอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 20 ล้านรายในปีนี้ รวมทั้งแสดงความเห็นกรณีการปรับให้โรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคเฝ้าระวังที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 นี้

“หมอนิธิพัฒน์” ระบุว่าสถิติโควิดวันนี้ยังไม่น่าสบายใจ เหมือนท่าทางการถอยฉากเข้ามุมของผู้แทนกระทรวงหมอเมื่อวาน ที่เลี่ยงคำโรคประจำถิ่นไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งดูไม่ค่อยเข้าตากรรมการคนกลางอย่างผมซักเท่าไร ด้วยเหตุผล 3-4 ประการ

เริ่มจากอ้างว่าอัตราครองเตียงผู้ป่วยหนักยังไม่ล้นเกินศักยภาพ แต่ถ้าไปดูหน้างานจริง ที่ไม่ล้นคงเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงหมอ ที่หน่วยเหนือสั่งให้เพิ่มเตียงได้ไม่จำกัด แต่หน่วยใต้ (บังคับบัญชา) ที่อยู่หน้างานหลังแอ่นเพราะงานอื่นนอกเหนือจากโควิดก็ท่วมท้น

ที่ว่าการเข้าถึงยาต้านไวรัสยามเจ็บป่วยของประชาชนมีความสะดวกแล้ว ขอให้เป็นจริงเถิด ทั้งในแง่ความถูกต้องเชิงวิชาการ ด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชนว่าใครบ้างควรได้รับยา ไม่ใช่สร้างอุปสงค์เทียมแบบประชานิยมเช่นที่ผ่านมา และต้องเป็นจริงในแง่ระบบการจัดเตรียมสำรองยาที่จำเป็นและระบบส่งยาให้ถึงมือประชาชนโดยง่าย ไม่ให้เกิดการร้องเรียนผ่านสื่อที่เห็นบาดตาบาดใจกันอยู่บ่อยๆ

ส่วนที่ว่ามีการสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจดีแล้ว ทั้งเรื่องประโยชน์ของวัคซีน การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง และกระบวนการดูแลรักษาตามระบบสุขภาพปกติ แต่ที่ควรเน้นกว่านั้นคือ ต้องเตือนประชาชนว่ายังมีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่าสามหมื่นอยู่นะ มาตรการป้องกันโรคโดยเฉพาะการใส่หน้ากากในที่สาธารณะ และการหลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวแบบเสี่ยง ยังเป็นเรื่องสำคัญที่การ์ดตกไม่ได้

ท้ายสุดคือไม่ได้พูดถึงมาตรการรองรับปัญหาลองโควิดให้ชัดเจน เพราะขนาดของปัญหาคงยิ่งใหญ่มาก นับเฉพาะปีนี้ ยอดผู้ติดเชื้อจนถึงวันนี้น่าจะถึง 20 ล้านคนแล้วมั้ง โดยเอาสิบคูณตัวเลขที่แถลงทางการวันนี้ว่ามียอดผู้ติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาลสะสมมาตั้งแต่ต้นปี 2,385,971 คน

ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่เก็บรวบรวมข้อมูลในระบบสุขภาพของประเทศได้ดีเพื่อใช้เป็นฐานในการวิจัยและพัฒนา ทีมนักวิจัยจากพื้นที่ตอนเหนือของประเทศนั้น ได้ทำการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่าง มีนาคม 2563 ถึง สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์แอลฟาต่อด้วยเดลตา

โดยสอบถามอาการต่างๆ ที่มาก่อนโควิดระบาดและอาการที่เกิดขึ้นภายหลัง มีคนที่เข้าร่วมเป็นโควิด 4,231 คน และไม่เป็น 8,462 คน โดยเป็นกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พบอาการที่น่าจะเป็นผลหลงเหลือจากโควิดเองโดยตรง (ระยะเวลาติดตาม 3-5 เดือน) เกิดขึ้น 12.7% โดยพบอาการเหล่านี้ 21.4% ในคนที่เป็นโควิด และพบ 8.7% ในคนที่ไม่เป็น

นั่นหมายความว่าในช่วงโควิดระบาดหนัก ผลทางด้านจิตใจต่อคนที่ไม่เป็นโควิด ก็ทำให้คนทั่วไปมีอาการโน่นนี่นั่นเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากคนเป็นโควิด แต่อาจต้องระวังนิดนึงว่า เขาไม่ได้ตรวจเลือดยืนยันคนที่ไม่เป็นโควิดแต่มีอาการผิดปกติว่ามีการติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวหรือเปล่า สำหรับอาการที่พบบ่อยในการศึกษานี้คือ เจ็บหน้าอก หายใจลำบากหรือหายใจขัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จมูกไม่รับกลิ่นลิ้นไม่รับรส ปวดแสบปวดร้อนแขนขา จุกในคอ และอ่อนเพลียเหนื่อยล้า

ล่าสุด นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้โรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19ได้เองตั้งแต่วันที่  1 ก.ย. 2565ว่า การที่มีประกาศให้ รพ.ซื้อยาต้านไวรัสได้เอง เพื่อการบริหารงบประมาณของแต่ละสังกัด ซึ่งที่ผ่านมา สธ.เป็นคนซื้อให้  จากนี้ก็ให้รพ.จัดซื้อจัดจ้างเองตามเหมาะสม

“ขอย้ำว่า การให้รพ.ซื้อยาได้เอง ไม่เท่ากับ ประชาชนซื้อยาได้เอง เพราะยาต้านไวรัสต้องจ่ายโดยแพทย์ตามแนวทางเวชปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19  ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงแล้วจะไปขอซื้อยาในรพ. เพราะการวินิจฉัยโรคต้องเกิดจากดุลยพินิจของแพทย์” นพ.ธงชัยกล่าว 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า หลักการการรักษาโรคจำเป็นต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง เป็นโรคเบาหวานก็ต้องให้ยารักษาเบาหวาน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เช่นเดียวกับโรคโควิด19 ก็ต้องรักษาตามแนวทางปฏิบัติตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  ที่สำคัญยาต้านไวรัส ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด ตอนที่มีการทำวิจัยได้ทำในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ และมีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงแล้วให้ยากลุ่มนี้ ก็มีคำถามว่า ผู้วิจัยไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยแบบนั้น จะทำนอกเหนือจากนั้นหรืออย่างไร

ขณะนี้เริ่มมีภาวะรีบาวด์ (Rebound) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หายจากโควิดแล้วกลับมาบวกใหม่ แม้กินยาต้านไวรัส ประกอบกับทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด มีการประกาศให้เป็นยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งใช้ไม่ถึงปี ก็ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง การใช้ยาก็ควรต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หากแพทย์จ่ายยาไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เรียกว่าจ่ายตามใจหมอ หรือตามใจผู้ป่วย หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ผู้ป่วยอาจฟ้องร้องได้ ทางที่ดีที่สุดควรต้องจ่ายยาตามอาการ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญมีคณะกรรมการพิจารณาออกมาแล้วดีที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ติดต่อโฆษณา!