12 สิงหาคม 2565
12,439

เปิดรายชื่อ 14 โรคอันตราย และ 56 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

เปิดรายชื่อ 14 โรคอันตราย และ 56 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
Highlight

เปิดรายชื่อ 14 โรคอันตราย และ 56 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ก่อนที่โรคโควิด-19 จะถูกลดระดับจากโรคอันตรายสู่โรคเฝ้าระวัง อยู่ในลำดับ 57 มีผลในวันที่  1  ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ยังมีความกังวลจากบุคลากรด่านหน้า ที่ยังต้องรับผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาตัวใมากรงพยาบาลค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใส่เครื่องช่วยหายใจและปอดอักเสบ


จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. … และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่…) พ.ศ. …โดยได้พิจารณาปรับโรคโควิด-19 จาก “โรคติดต่ออันตราย” เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังมีแนวโน้มความรุนแรงลดลงและอัตราการฉีดวัคซีนสูงขึ้นโดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป 

หลังจากก่อนหน้านี้ได้ ประกาศเพิ่ม “ฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 (ประกาศวันที่ 30  มิถุนายน  พ.ศ. 2565) ฉะนั้นมาเช็กลิสต์รายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังกันสักหน่อย โดยตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ .ศ. 2558 ได้ประกาศเอาไว้ทั้งสิ้น 56 โรค

มาดูคำนิยามและความแตกต่าง ของโรคอันตรายและโรคติดต่อเฝ้าระวัง

โรคติดต่ออันตราย คืออะไร?

โรคติดต่ออันตราย คือ โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ระบุโรคติดต่อไว้ดังนี้

1. กาฬโรค (Plague)

โรคติดต่อที่มีพาหะมาจากหมัดของสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระรอก กระแต กระต่าย ที่เมื่อเกิดการติดเชื้อ จากการที่โดนหมัดกัด จะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ รักแร้ ทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และเชื้ออาจจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จนหัวใจวาย และอาจเสียชีวิต

2. ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (Smallpox)

โรคนี้จะมีตุ่มขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างกาย และหากตุ่มเหล่านี้แตกก็จะทำให้ติดต่อกันได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้ แต่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่า การปลูกฝี

3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean – Congo hemorrhagic fever)

ไข้เลือดออกชนิดนี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่แหลมไครเมียและในคองโก และยังพบการระบาดในแถบแอฟริกา แถบคาบสมุทรบอลข่าน ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยมีพาหะเป็นแมลงที่มีเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) ซึ่งหากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย จะมีอาการป่วยที่เฉียบพลันและรุนแรง มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง ปวดคอร่วมกับคอแข็ง ปวดศีรษะ ใบหน้าแดง กลัวแสง และบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน สับสน ก้าวร้าว มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกจากเหงือก และอาจพบภาวะตับอักเสบร่วมด้วย

4. ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)

ไข้เวสต์ไนล์เป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ แล้วนำเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มาติดต่อสู่คน พบได้ทั่วไปในแอฟริกา เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง ยุโรป และหากติดเชื้อนี้เข้าไปจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออก มีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือถ้ามีอาการรุนแรง จะมีอาการสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

5. ไข้เหลือง (Yellow Fever)

เป็นอีกหนึ่งโรคที่มียุงเป็นพาหะ และเกิดจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ร่วมกับอาการไข้สูง ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ต่อมาจะมีอาการเลือดออกปาก ออกจมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการอาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย

6. โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)

ไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่มีหนูเป็นพาหะ ติดต่อได้จากการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรืออุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ อาการแสดงจะคล้ายๆ อาการโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก และเป็นหนอง หากอาการหนักจะมีเลือดออก ช็อก และมีภาวะเกล็ดเลือดลดลงผิดปกติ

7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease)

เป็นโรคติดต่อที่ระบาดครั้งแรกในหมู่บ้านสุไหงนิปาห์ ประเทศมาเลเซีย มีพาหะจากสัตว์อย่างค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ หรือแกะ โดยเชื้อตัวนี้จะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในทางเดินระบบหายใจ เกิดภาวะสมองอักเสบ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)

เป็นหนึ่งในโรคไข้เลือดออกที่มีต้นเชื้อมาจากลิงและค้างคาว มักจะระบาดหนักในแถบอูกันดา โดยเชื้อนี้อาจมีความรุนแรงกว่าเชื้ออีโบลา อาการแสดงคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงตามตัว และมีอาการเลือดออกง่าย ซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย ช็อก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมาก

9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease – EVD)

โรคอีโบลามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีแหล่งรังโรคอยู่ในลิงป่าและค้างคาวกินผลไม้ ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลานั้นจะติดจากคนสู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย และการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ โรคนี้มีความรุนแรงค่อนข้างมาก และยังแพร่กระจายได้รวดเร็ว

10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra virus disease)

มีแหล่งกำเนิดเชื้อจากม้าและค้างคาวกินผลไม้ โดยอาการของโรคนี้จะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน และมักจะพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

11. โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS)

โรคซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสซาร์ส สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ อาการที่สามารถสังเกตได้คือ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย (ในบางราย) ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้

12. โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome – MERS)

โรคเมอร์สก็เกิดจากโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน แต่โรคนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยมีอูฐและค้างคาวเป็นพาหะของโรค ดังนั้นชื่อของโรคเมอร์สอีกชื่อหนึ่งจึงเรียกกันว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางนั่นเอง ส่วนอาการแสดงของโรคนี้จะเริ่มจากอาการไข้ ไอ หอบ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือถ้าเป็นหนักจะมีภาวะปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อวัยวะล้มเหลว ไตวาย เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug – resistant tuberculosis | XDR-TB)

โรควัณโรคที่มีการดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน ได้แก่ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และกลุ่มยาทางเลือกที่สอง ที่เป็นยาชนิดฉีด (Second-line injectable drugs) ซึ่งหมายความว่า วัณโรคชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวรักษาให้หายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยมีโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ได้ง่าย แถมตัวเองยังมีความเสี่ยงที่อาการป่วยจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย

14. โรค COVID-19 (Coronavirus disease 2019)

โรค COVID-19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 เชื่อว่ามีพาหะเป็นค้างคาว  โดยโรคนี้จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบในคน และติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการจะคล้ายๆ อาการของไข้หวัด คือ มีไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ และหากมีอาการหนักจะมีภาวะปอดบวม ปอดอักเสบขั้นรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้


โรคติดต่อเฝ้าระวัง

คือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึงโรคติดต่อที่ต้องการ การติดตามตรวจสอบ การตรวจสอบหรือการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โรคติดต่อเฝ้าระวัง ในปัจจุบัน มีด้วยกัน 56 โรค  ได้แก่

  • กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง (Lymphogranuloma Venereumหรือ Granuloma Inguinale)
  • การติดเชื้อในโรงพยาบาล (Health care-associated infection หรือ hospital-acquired)
  • ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis)
  • ไข้ดำแดง (Scarlet fever)
  • ไข้เด็งกี่ (Dengue Fever)
  • ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunyafever)
  • ไข้มาลาเรีย (Malaria)
  • ไข้ไม่ทราบสาเหตุ (Pyrexia of Unknown origin/Fever of Unknown Origin/Fever caused)
  • ไข้สมองอักเสบชนิดญี่ปุ่น (Japanese Encephalitis)
  • ไข้สมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ (Unspecifiedencephalitis)
  • ไข้หวัดนก (Avian Influenza)
  • ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
  • ไข้หัด (Measles)
  • ไข้หัดเยอรมัน (Rubella)
  • ไข้เอนเทอริค(Enteric fever)
  • ไข้เอนเทอโรไวรัส(Enterovirus)
  • คอตีบ (Diphtheria)
  • คางทูม (Mumps)
  • ซิฟิลิส (Synphilis)
  • บาดทะยัก (Tetanus)
  • โปลิโอ (Poliomyelitis)
  • แผลริมอ่อน (Cancroid)
  • พยาธิทริคิเนลลา(Trichinosis)
  • เมลิออยโดสิส(Melioidosis)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ (Eosinophilicmeningitis)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ (Unspecified meningitis)
  • เริมของอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก (AnogenitalHerpes)
  • โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิด เอ บี ซี ดี และ อี (Viral hepatitis A, B, C, D and E)
  • โรคตาแดงจากไวรัส(Viral conjunctivitis)
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zikavirus disease)
  • โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส (Streptococcus suis)
  • โรคเท้าช้าง (Elephantiasis Lymphatic Filariais)
  • โรคบรูเซลโลสิส(Brucellosis
  • โรคปอดอักเสบ (Pneumonitis หรือ Pneumonia)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
  • โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease)
  • โรคเรื้อน (Leprosy)
  • โรคลิซมาเนีย(Leishmaniasis)
  • โรคเลปโตสไปโรสิส(Leptospirosis)
  • โรคสครับไทฟัส(Scrub typhus)
  • โรคสุกใส หรืออีสุกอีใส (Varicella, Chickenpox)
  • โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (Acute Flaccid Paralysis : AFP) (
  • โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
  • โรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome : AIDS)
  • โรคแอนแทรกซ์(Anthrax)
  • วัณโรค (Tuberculosis)
  • ไวรัสตับอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ (Hepatitis)
  • หนองใน (Gonorrhea)
  • หนองในเทียม (Non GonococcalUrethritis : NGU)
  • หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก (CondylomaAcuminataหรือ Venereal Warts)
  • อหิวาตกโรค (Cholera)
  • อาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Adverse Event Following Immunization : AEFI)
  • อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
  • ไอกรน (Pertussis)
  • โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, รพ.ศิขรินทร์

ติดต่อโฆษณา!