สัญญาณเปลี่ยนเข่า...ข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่ามาก ฉีดยา-กินยาไม่หาย
Highlight
โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้จากผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากเป็นส่วนใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งการดูแลรักษา มีหลายวิธีตั้งแต่การทานยา การฉีดยา และการผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเข่าเทียม โดยปัจจุบันการแพทย์มีความทันสมัย การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้ไว โดยสามารถลุกยืนได้ใน 12 ชั่วโมง และเดินฝึกเดินภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด สำหรับแนวทางในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคข้อเข่าเสื่อม ทำได้ด้วยการมีวินัยในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ คุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รศ.นพ.พัชรพล อุดมเกียรติ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ ให้สัมภาษณ์ “ทันข่าว Today” เกี่ยวกับปัญหาข้อเข่าเสื่อม อาการ วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม การฟื้นฟูหลังการผ่าตัด ตลอดจนแนวทางดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
สาเหตุข้อเข่าเสื่อม
เกิดจากการที่มีกระดูกเสียดสีกัน ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ชิ้นคือ ต้นขา กระดูกขา และลูกสะบ้า
เมื่อเสียดสีกันมาก กระดูกอ่อนที่คลุมจะบางลง คล้ายยางรถยนต์เมื่อวิ่งเยอะๆ มันก็จะสึกไป ก็มีปัญหา เหมือนเส้นประสาทที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนอีกที พอกระดูกอ่อนที่คลุมไว้บางลง ปลายประสาทก็โผล่ขึ้นมา มีอาการเสียว หรือเจ็บเวลาที่เดิน
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากปัจจัยอะไร
โรคข้อเข่าเสื่อมมาจาก 2 ปัจจัย คือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ กับปัจจัยที่มาภายหลัง
ปัจจัยที่ควบไม่ได้ อย่างแรกก็คือ กระดูกอ่อนเป็นเซลล์ที่มีครั้งเดียวตั้งแต่เกิด ซึ่งไม่มีทางที่จะงอกเพิ่มได้แล้ว บางคนเกิดมาอาจโชคร้ายนิดนึงที่กระดูกอ่อนคล้ายๆกับตายเร็ว ไม่แข็งแรง สึกได้ง่าย
ปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น มีการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป หรือมาจากน้ำหนักตัวมาก นำไปสู่สาเหตุข้อเข่าเสื่อมได้ หรือการมีสรีระที่ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด หรือประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกแตกเข้าข้อและผิวไม่เรียบ อาจทำให้ข้อกระดูกเสื่อมตามมาในภายหลัง
คนที่เข้าวัดบ่อย มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่
คนส่วนใหญ่ก็จะมีอาการอาการขัดๆ หรือปวดตอนที่นั่งนาน หรือลุกยืน การปวดเป็นอาการเริ่มต้นที่จะบอก แต่ไม่ปวดมาก ช่วงแรกอาจจะหายไป 2-3 เดือนเป็นครั้งนึง หรือบางครั้งมี อาการบวมที่ข้อเข่า เพราะเวลาอักเสบอาจมีน้ำอยู่ในข้อได้ มีอาการปวด บวม เป็นครั้งคราว ในระยะนี้หมอส่วนใหญ่ไม่ผ่า จะให้ยารักษาหรือฉีดยาเข้าข้อก็มี แต่ถ้าสุดท้ายไม่หาย หรือยังปวดอยู่ ก็ต้องจบด้วยการผ่าตัด
ข้อควรระวังและทริคที่ทำให้เราห่างไกลจากข้อเข่าเสื่อม
การป้องกันอันดับแรก คือเรื่องน้ำหนักตัว ต้องคุมน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวไม่มาก โอกาสจะเป็นก็ไม่เยอะ ส่วนการใช้งานก็มีผลเช่นเดียวกัน เช่น เราเป็นคนที่งอเข่าเยอะๆ นั่งยองๆ หรือขึ้นลงบันไดมากๆ มันจะเพิ่มการทำงานของข้อเข่ามาก เช่น การงอเข่าเกิน 90 องศา แรงที่ผ่านผ่านข้อเข่าอาจมากถึง 4-7 เท่าของน้ำหนักตัว เพราะฉะนั้นเพิ่มโอกาสที่จะเป็นได้ รวมทั้งคนที่กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง แรงก็จะผ่านข้อได้มาก เพราะฉะนั้นก็ควรให้มีกล้ามเนื้อต้นขาบ้างและน้ำหนักไม่มากจนเกินไป
กีฬาประเภทใดเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ฟุตบอลอาจจะไม่เหมาะ หรือ แบตมินตันที่ต้องงอเข่าเยอะ อาจเป็นกีฬาที่หนักไปหน่อยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเปลี่ยการออกกำลังกายไปเป็นรูปแบบการใช้เครื่องออกกำลังประเภท Low Impact
อาการแบบไหน ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะเป็นเรื่องที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยเห็นร่วมกัน อันที่จริงไม่มีหลักตายตัว เช่น ถ้าคนไข้ปวดมาก กินยารักษาแล้ว ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจจะพิจารณา แต่แพทย์ก็ต้องวินิจฉัยอย่างรอบคอบว่าอาจมาจากส่เหตุอื่นที่ไม่ใช่ข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ เพราะมาจากสาเหตุอื่นได้ที่ไม่ใช่มาจากข้อเข่าเสื่อม บางทีมาจากข้อสะโพกที่ผิดปกติ หรือมาจากอาการปวดหลังที่ร้าวลงมาถึงเข่า แต่ถ้าตรวจพบอย่างชัดเจนแน่นอนว่ามาจากข้อเข่าเสื่อม กินยาเต็มที่แล้วไม่หายก็น่าจะผ่า ตามหลักแล้วแพทย์ก็พยายามจะยื้อไว้ ไม่อยากจะผ่าเร็วเกินไป ข้อเข่าเทียมมันอาจจะไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่ 10 ปีแน่นอน เมื่อก่อนเชื่อกันว่า 20 ปีแล้วต้องแก้ ซึ่งไม่จริง ปัจจุบันอายุการใช้งานเกิน 10 ปีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คนไข้ปวดมากๆ จริงๆ หรืออายุมากจริงๆ จึงควรจะเปลี่ยน
ช่วงอายุเท่าไหร่มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อม
ขึ้นอยู่กับอาการ ไม่มีช่วงอายุตายตัว ขึ้นอยู่กับการใช้งานข้อเข่า บางครั้งอายุอาจไม่มาก แต่ตัวใหญ่น้ำหนักเยอะ ส่วนอายุที่มากที่สุดที่เคยผ่าคืออายุ 95 ปี แต่คนไข้จะต้องฟิต ต้องสุขภาพดี
ก่อนการผ่าตัดต้องเตรียมตัวอย่างไร
ไม่ต้องเตรียมตัวมาก เตรียมใจอย่างเดียว เพราะก่อนผ่าตัดส่วนใหญ่ทางแพทย์จะตรวจสุขภาพให้อยู่แล้ว เพราะว่าโดยทั่วไปคนไข้ที่ผ่าข้อเข่าเสื่อมจะเป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก่อนผ่าจะมีการประเมินเบื้องต้นกับอายุรแพทย์ก่อน เอ็กซเรย์ปอด ตรวจสุขภาพหัวใจ เจาะเลือด ถ้าสมมุติทุกอย่างผ่านก็ผ่าได้ ส่วนใหญ่ผ่าได้เกือบทั้งนั้น ยกเว้นคนไข้ที่มีปัญหาภาวะหัวใจขาดเลือดถ้าเป็นระยะใหม่ๆที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ห้ามผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คนที่เป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง สามารถผ่าตัดได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นข้อห้าม กรณีที่คนไข้ทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็อาจจะให้งดล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ ตามทฤษฎีจะให้คนไข้ลดน้ำหนักลงก่อนกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงจะทำให้ฟื้นตัวเร็ว ปัญหาคือคนไข้มักจะทำไม่ได้ เพราะท่าพวกนี้มันเจ็บเวลาบริหาร
เริ่มมีอาการอย่างไรที่ต้องไปหาหมอ
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะแจ้งความประสงค์ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า มีอาการเจ็บมากจนทนไม่ไหว การเจ็บคือเวลาก้าวเดินหรือขึ้นลงบันได หรือลุกขึ้นยืนจะมีอาการเจ็บ ส่วนใหญ่มักจะผ่านการทานยา หรือฉีดยามาแล้ว แต่ไม่ได้ผล ถ้าเอ็กซเรย์แล้วแพทย์ลงความเห็นว่าข้อเข่าเสื่อมก็ควรผ่า ซึ่งจะสังเกตเห็นขาผู้ป่วยโก่งมากๆ เวลาเดินจะมีอาการเข่าหลวม ปกติเข่าจะโยกซ้ายขวาไม่ได้ จะพับ งอ เหยียด อย่างเดียว ถ้าเมื่อไหร่ที่เข่าโยกซ้ายขวาได้ เขาจะเดินไม่มั่นคงแล้ว หรือบางครั้งเป็นมากข้างเดียว อีกข้างยังดีอยู่ ทำให้ระยะการเดินสั้นยาวไม่เท่ากัน ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องผ่าตัด
การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดส่องกล้องภายในเข่า การปลูกถ่ายกระดูกอ่อนสำหรับเข่า และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งคนไทยส่วนมากจะมาพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงแล้ว ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีกี่แบบ
การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มี 2 แบบ คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty : UKA) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total Knee Arthroplasty : TKA/TKR)
การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการรักษาขั้นสุดท้ายแล้วหรือไม่
ขึ้นอยู่กับการตรวจเอ็กซเรย์ การตรวจร่างกาย ถ้าหากโก่งไม่เยอะ เข่าเบี้ยวไม่มาก ก็เปลี่ยนแค่เสี้ยวเดียวได้ แผลจะเล็กกว่าและเก็บกระดูกคนไข้ไว้ได้เยอะ แต่ถ้าเป็นหนักแล้ว ต้องจบด้วยการเปลี่ยนทั้งหมด
ระยะเวลาการฟื้นตัวหลังผ่าตัด
โดยเฉลี่ยถ้าคนไข้อายุไม่มาก หรือไม่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง 12 ชั่วโมงหลังผ่า ก็จะให้ผู้ป่วยลุกยืนและถ้าคนไข้ไม่เวียนศรีษะก็จะให้เดินได้เลย โดยเฉลี่ย 12 ชั่วโมงแรกให้ยืน และเดินภายใน 24 ชั่วโมง วันที่สอง ขึ้นลงบันได
การผ่าตัดใช้เวลานานแค่ไหน
บางที่มีการผ่าตัดแบบ One Day Surgery (ODS) คือผ่าเช้า แล้วกายภาพ และกลับตอนเย็น
วิธีแนะนำก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ข้อกังวลของผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือกลัวเดินไม่ได้หลังผ่า หรือคนรู้จักบอดว่าผ่าแล้วไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งต้องดูปัญหา เช่นกลัวการเดินไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ต้องมีการผิดพลาดครั้งใหญ่จริงๆ
ผ่าตัดเจ็บไหม
หลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดอยู่บ้าง คนไข้ต้องเข้าใจหลังผ่าเข่า จะปวดอยู่บ้าง อาจจะปวดอยูในช่วง 5 คะแนน จาก 10 คะแนนหลังผ่า อาจปวดมากกว่าผ่าสะโพก แต่พอพ้นระยะไปแล้วจะค่อยๆดีขึ้น และวิสัญญีแพทย์ในปัจจุบันมีเทคนิคในการลดอาการปวดได้ดีกว่าอดีต
หลังผ่าตัดใช้เวลานานไหมที่จะกลับมาเดินได้ปกติ
อาจใช้เวลาราว 3 เดือน เดินได้ปกติโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ช่วงแรก อาจต้องใช้ Walker ไปก่อนราว 2-3 สัปดาห์ และอาจมีปวดจี้ดๆ ที่แปลอยู่บ้าง ในช่วงผ่าใหม่ๆ ผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคไตจะปวดน้อยกว่าผู้ที่เป็นโรคไต เพราะสามารถรับยาแก้ปวดได้หลากหลายกว่าคนไข้ที่มีภาวะไตเสื่อม
อาหารประเภทไหนที่บำรุงข้อให้แข็งแรง
ต้องมีวินัยในตัวเองในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพราะน้ำหนักตัวสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย หากน้ำหนักลดลง 1-2 กิโลกรัมแรงที่ะผ่านข้อน้อยลง 4-7 กิโลกรัม จึงควรเลือกทานอาหารที่ไม่มีไขมันสูง เลือกทานเนื้อปลา สร้างกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงและออกกำลังกาย ให้สมวัย
สรุป คือคุมน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะชลอการเป็นข้อเข่าเสื่อมได้โดยที่ทานอาหารเสริมเป็นครั้งคราวได้