03 กันยายน 2565
1,410

กรมอนามัย แนะ 7 ทักษะปรับตัวเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กรมอนามัย แนะ 7 ทักษะปรับตัวเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Highlight

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ลดเสี่ยงโรคและภัยพิบัติด้วย 7 ทักษะในการปรับตัว พร้อมรับมือ ภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รูปแบบของฤดูฝนที่เปลี่ยนแปลงไป การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วย ด้วยโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคระบบทางเดินทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคจากความร้อนและโรคติดต่อนำโดยแมลง


20220903-a-01.jpg


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบของฤดูฝนที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วย ด้วยโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

สำหรับโรคที่มากับภัยธรรมชาติและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น โรคระบบทางเดินทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคจากความร้อน และโรคติดต่อโดยแมลง เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก และยังพบการเสียชีวิตจากภัยพิบัติด้วย

ดังนั้น ประชาชนควรมีทักษะในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้

1) ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการพยากรณ์อากาศเป็นประจำ เพื่อให้รู้ถึงสภาพอากาศและเตรียมตัววางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด

2) ประเมินสุขภาพหรือเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพเป็นระยะ ๆ โดยการสังเกตอาการ หรือติดตามความผิดปกติของร่างกายทั้งตนเองและบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ทำงานกลางแจ้ง เป็นต้น โดยเตรียมยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การปฐมพยาบาลให้พร้อม

3) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้เกิดการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเหมาะสม เช่น การหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด การเตรียมน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอในช่วงเกิดภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วม

4) เตรียมความพร้อมเมื่อต้องประสบภัยพิบัติ เช่น หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ควรเตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน ยารักษาโรค อาหารและน้ำดื่ม และการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อย้ายสู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางรัฐจัดไว้ให้อย่างทันการณ์

5) ดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ปลูกต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดอุณหภูมิโดยรอบให้ร้อนน้อยลง รวมทั้งการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดพาหะนำโรค เช่น การกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย การจัดการขยะมูลฝอยอย่างเหมาะสม

6) ใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลาสติก และเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น

7) เสริมทักษะความรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เนื่องจากอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

จึงควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว หมั่นหาความรู้ เพื่อเสริมทักษะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เสมอ  รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อม และอาคารบ้านเรือน ให้พร้อมรับภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดต่อโฆษณา!