11 กันยายน 2565
1,539

วัคซีนโควิดเด็กเล็กอายุ 6 เดือนถึงน้อยกว่า 5 ปี มาแล้ว! สธ.เตรียมกระจายฉีดทั่วประเทศ ต.ค.นี้

วัคซีนโควิดเด็กเล็กอายุ 6 เดือนถึงน้อยกว่า 5 ปี มาแล้ว!  สธ.เตรียมกระจายฉีดทั่วประเทศ ต.ค.นี้
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็ก 6 เดือน ถึง 5 ปี ฝาจุกสีม่วงแดงจำนวน 3 ล้านโดส โดยวัคซีนมีปริมาณโดสละ 0.2 มิลลิลิตร ใช้ 3 เข็มต่อคน คาดเริ่มฉีดเดือน ต.ค. ด้านเเพทยศาสตร์ศิริราช เผยว่าวัคซีนช่วยบรรเทาอาการอักเสบที่เรียกว่า MIS-C ในเด็กได้มาก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังจากป่วยติดเชื้อโควิด สำหรับโควิด-19 ยืนยันเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ โดยแนะนำสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อตามปกติ



นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณศุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) ฝาจุกสีม่วงแดงจำนวน 3 ล้านโดส กับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย เพื่อใช้ฉีดป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยวัคซีนมีปริมาณโดสละ 0.2 มิลลิลิตร 3 เข็มต่อคน

ทั้งนี้ มีแผนการกระจายวัคซีนไปทุกจังหวัดเมื่อได้รับการส่งมอบวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดสในเดือนต.ค. 65 โดยวัคซีนสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้สูง 80.3% ซึ่งเด็กเล็กในวัยนี้ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิดสูง เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลป้องกันตนเอง การที่เด็กได้รับวัคซีน จะช่วยลดโอกาสของการเจ็บป่วยในเด็กกลุ่มนี้ และลดการแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุในครอบครัวอีกด้วย

แพทย์ย้ำป้องกันอาการ MIS-C

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการให้วัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กเล็กว่า ความจำเป็นการในรับวัคซีนโควิด-19 ของเด็กเล็ก วัย 6 เดือน ถึง 5 ปี ก็เพื่อป้องอาการรุนแรง รวมถึงภาวะการเกิดการอักเสบของ อวัยะหลังการติดเชื้อ (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) หรือมิสซี (MIS-C) คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรค จนถึงหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เด็กมีโอกาสเกิดภาวะมิสซี ประมาณ 1 ใน 10,000 คน โดยอาการมีตั้งแต่ไข้สูงจนชัก หรือภาวะท้องเสียอย่างรุนแรง ดังนั้น การรับวัคซีนป้องกันจึงเป็นการลดความรุนแรงและป้องกันที่ดีที่สุด เพราะหากเกิดภาวะมิสซีในเด็กเล็ก แม้แพทย์มีความเชี่ยวชาญ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

1 ต.ค. ปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวันที่ 1 ต.ค. ที่จะปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นอย่างไร ว่า ก็ให้ประเมินสถานการณ์ ซึ่งถ้าใส่ไว้ก็ไม่เสียหาย ถ้าไปบอกถอดเลยหรือใส่บังคับเลยก็ดรามา ก็ให้ประเมินด้วยตนเอง

ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อจะให้บริการถึงวันที่ 30 ก.ย. 65 เท่านั้น

ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ (CVC บางซื่อ) แจ้งว่า จะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเต็มรูปแบบเป็นเดือนสุดท้าย โดยจะให้บริการถึงวันที่ 30 ก.ย. 65 เท่านั้น

สำหรับการประกาศปิดศูนย์วัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เป็นผลจากการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ความรุนแรงของโรคจะเบาบางลงในกลางเดือนก.ย. นี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ (Mass vaccination center) อีกต่อไป แต่หากมีสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเร่งฉีดอีกครั้ง ศูนย์ฯ ได้เตรียมการตามแผน “ปิดแต่พร้อมเปิด” ไว้แล้ว ซึ่งสามารถเปิดศูนย์ฯ เพื่อให้บริการใหม่ได้ภายใน 1 วัน (One Day Reactivate Plan)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าการฉีดเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป ไว้ที่ 60-70% ของประชากร แต่ขณะนี้ฉีดได้ประมาณ 50% จึงจำเป็นต้องบูสเตอร์วัคซีนให้มากขึ้น ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงให้บริการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงนี้จนถึงวันที่ปิดศูนย์ฯ โดยสามารถ walk-in และจองคิวล่วงหน้าผ่านค่ายมือถือทั้ง 4 ค่าย โดยเข้ารับบริการได้ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เมื่อ 8 ก.ย.65 ที่ผ่านมา ระบุว่า ไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสะสมจำนวน 142,951,344 โดส โดยเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากร 82.4%, เข็มที่ 2 จำนวน 77.3% และเข็มที่ 3 จำนวน 45.9%

ติดต่อโฆษณา!