24 กันยายน 2565
3,155
โรคติดเชื้อ ที่มาพร้อมกับน้ำท่วม
Highlight
ในช่วงฤดูฝนและมีน้ำท่วมขัง มักทำให้เราเจ็บป่วยป่วยได้ง่าย มีหลายโรคที่มากับน้ำท่วมและฤดูฝน เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคท้องเสีย โรคตาแดง นอกจากนี้ยังมีโรคผิวหนังที่เกิดจากการอับชื้นและการติดเชื้อต่างๆ เช่น กลาก เกลื้อน บางโรคอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นหากเรารู้แนวทางป้องกันรักษา และพบแพทย์ทันท่วงทีเมื่อพบว่าเกิดอาการผิดปกติ จะช่วยบรรเทาอาการอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้แพทย์แนะนำการดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้เกือบทุกโรค
โรคที่มากับฤดูฝนหรือโรคที่มากับน้ำท่วม มีโรคอะไรบ้าง
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล จากภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า มีหลายโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ที่พบบ่อย เช่นโรคติดเชื้อที่มาจากน้ำท่วมขัง เช่นโรคฉี่หนู โรคทางเดินอาหาร โรคตาแดง ถูกสัตว์มีพิษกัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น
โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู เป็นโรคที่มากับน้ำ ที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน ผู้ป่วยต้องเจาะเลือด เพราะเชื้อ การรักษาส่วนใหญ่แพทย์ะให้ยาฆ่าเชื้อ เชื้อโรคฉี่หนูจะมาจากปัสสาวะของหนู จริงๆ แล้วเชื้อนี้มีอยู่ในปัสสาวะของของสัตว์หลายชนิดไม่เฉพาะหนู เช่น วัว ควาย แพะ เป็นต้น
การติดเชื้อ จะเกิดขึ้นจากสัตว์ที่จะเป็นโรคก่อน จากนั้นสัตว์ก็ขับถ่ายออกมา เมื่อเชื้อโรคปะปนอยู่ในน้ำ และเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนทางผิวหนัง ทางบาดแผล หรือเข้าทางเยื่อบุตา เช่นน้ำกระเด็นเข้าตา ปกติก็ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้นหากผิวหนังอักเสบอยู่แล้ว ก็เป็นการง่ายที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้
อาการโรคฉี่หนู ที่พบบ่อยคือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศรีษะ อาการไม่เฉพาะเจาะจง หากซักประวัติพบว่าคนไข้ลุยน้ำมา เมื่อผ่านไป 1-2 สัปดาห์ หรือ 7-10 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของเชื้อ บางคนอาการรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือเกิดภาวะไตวาย ปัสสาวะไม่ออก ตัวบวม นานๆ เจอเคสกรณีรุนแรงเจอเลือดออกในปอดก็มี ดังนั้น “ฉี่หนู” เป็นโรคมองข้าม ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม บางครั้งโรคฉี่หนูก็ทำให้เกิดตาแดงได้ หรือเกิดภาวะตาแดงทับตาเหลือง แสดงว่าตับอาจเสียหายแล้ว ในกรณีที่มีอาการน้อย ก็หายเองได้
โดยทั่วไปโรคฉี่หนูรักษาไม่ยาก ยาที่ใช้โดยทั่วไปคือยาแก้อักเสบกลุ่มเพนนิซิลิน แต่เราไม่ควรซื้อยากินเอง ควรให้แพทย์วินิจฉัยก่อนดีกว่าซื้อยากินเอง ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าว
โรคท้องเสีย
อาการท้องเสีย เกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ซึ่งพิจารณาจากอาการใน 2 ส่วนต่อไปนี้คือ
1. ดูว่าเราภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ หากเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ จะต้องดูว่ามีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ เช่นป่วยโรคเบาหวาน ก็อาจนิ่งนอนใจไม่ได้
2. ดูอาการ ว่าการขับถ่ายมีมูกเลือดปนมา มีอาการหนาวสั่น หรือปวดท้องรุนแรง หรือไม่
ผู้ป่วยสังเกตอาการตนเองว่าผิดปกติมากหรือไม่ การที่ท้องเสียอาจเกิดจากเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งเชื้อไวรัสไม่มียาฆ่าเชื้อ บางครั้งอาจหายเองได้ หากอาการไม่รุนแรง หรือถ่ายถ่ายเพียง 1-2 ครั้ง การรักษาอาจไม่จำเป็นถ้าอาการไม่รุนแรง และยังรับประทานอาหารได้ หรืออาจดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายจากการเสียน้ำ ถ้าหากอาการมีอาการแทรกซ้อนควรพบแพทย์
โรคตาแดง
เกิดจากน้ำที่สกปรก มีเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสปนเปื้อน กระเด็นเข้าตา
อาการที่สังเกตุเห็นได้ชัด คือระคายเคืองตา แสบตา มีขี้ตา หรือตาแดง
การรักษา ก็ใช้ยาหยอดตา โดยธรรมชาติจะหายเองได้หากเกิดจากไวรัส หรือแค่ระคายเคือง อย่างไรก็ตามให้แพทย์วินิจฉัยดูอาการว่าติดเชื้อหรือไม่ ดีที่สุด เบื้องต้นควรล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยใช้น้ำดื่มจากขวด หรือน้ำประปาก็ได้
ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบมากในช่วงหน้าฝน หรือเป็นโรคที่มาในฤดูฝน อาการติดเชื้อคล้ายกับโควิด โดยติดทางละลองน้ำลาย แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ทำให้ลดการติดเชื้อลง แต่เมื่อเริ่มถอดหน้ากากอนามัย ก็จะเริ่มเจอคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น
ศ.พญ.ศศิโสภิณ แนะนำควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงเดือนเมษายน หรือช่วงก่อนฝนตก หรือก่อนการระบาด 5-6 เดือน หรือปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ
ไข้หวัดใหญ่จะมา 2 รอบคือรอบสายพันธุ์ซีกโลกใต้และรอบสายพันธุ์ซีกโลกเหนือ ประเทศไทยอยู่ซีกโลกเหนือ แต่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ซีกโลกใต้มากกว่า
ไข้เลือดออก
เป็นอีกโรคหนึ่งที่มาในช่วงฤดูฝน ยุงลายคือพาหะนำเชื้อ แหล่งเพาะเชื้อมาจากน้ำขัง ไข้เลือดออกยังไม่มียาจำเพาะ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็กำลังทดลองวิจัยอยู่
แต่มีวัคซีนป้องกันการเป็นซ้ำสำหรับคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ซึ่งมีวัคซีนฉีดในช่วงอายุ 6-45 ปี
อาการบ่งชี้ว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ในระยะแรกอาจไม่มีความชัดเจนนัก เช่น มีไข้ ไม่มีอาการทางเดินหายใจ ปวดเมื่อย มีผื่นคัน ส่วนมากจะเป็นในช่วงปลายสัปดาห์
ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายที่มีเชื้อ ดังนั้นต้องลดความเสี่ยงด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ใส่เสื้อผ้ามิดชิด หรือนอนกางมุ้ง เป็นต้น
โรคผิวหนัง
รศ.นพ.วาสนภ วชิรมน ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคผิวหนัง โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคผิวหนัง เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากน้ำท่วม หรือการเดินลุยน้ำท่วมขังที่สกปรกและมีเชื้อโรคและเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังหรือบาดแผล ที่พบบ่อยคือ โรคน้ำกัดเท้า นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นที่เกิดจากความอับชื้นและเหงื่อ เช่น กลาก เกลื้อน
โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการที่เท้าแช่ในน้ำนานจนเกิดการอักเสบ เกิดการระคายของผิวจากน้ำที่สกปรก ซึ่งช่วงแรกอาจยังไม่เกิดเชื้อรา เราเพียงแต่เช็ดเท้า เป่าให้แห้ง แต่ถ้ามีอาการเชื้อรา ก็จะกลายเป็นกลาก เกลื้อน หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนหรือมาจากดิน
น้ำกัดเท้า เป็นแผลเกิดขึ้นเพราะเราผิวเกิดเปื่อยเป็นแผล หรืออักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคน้ำกัดเท้า และทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และเป็นเชื้อราที่ผิวหนัง
ดังนั้นต้องดูตามอาการ รักษาสมดุลของผิวไม่ให้น้ำกัดเท้า จนเกิดสาเหตุของเชื้อราตามมา
รศ.นพ.วาสนภ แนะนำว่า เราไม่ควรเดินเท้าเปล่าในน้ำ เพราะอาจเดินเหยียบของมีคม อาจเกิดบาดแผล ที่ทำให้เสี่ยงเชื้อโรคเข้าทางบาดแผล หรือสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนู ควรสวมรองเท้าบู้ท รองเท้ากันน้ำ หรือรองเท้าแตะ เมื่อกลับถึงบ้านรีบล้างน้ำสะอาด เช็ดเท้าให้แห้งโดยเร็ว และสำรวจบาดแผล ควรทาไอโอดีน หรือยาทาแผลสด เพื่อ)่าเชื้อโรค
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยหรือเคยได้ยินมา แต่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ โดยคุณหมอทั้งสองท่านได้ไขข้อข้องใจเหล่านี้ เช่น
จริงหรือไม่ ที่โควิดก็ติดจากน้ำฝนได้?
ในเรื่องนี้ ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า เชื้อโควิดอาจลอยอยูในอากาศเป็นละอองฝอย ที่ออกมาจากการ ไอ จามองผู้ป่วย แต่น้ำฝนคงไม่มีเชื้อโรค แต่เป็นไปได้ว่าเชื้อโรคอาจลอยอยู่ในอากาศได้รวมกับน้ำฝน
โรคที่มากับฤดูมีมากขึ้นหรือไม่
บางโรคอาจจะสัมพันธ์กับฤดูฝน เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู หรือการติดเชื้อเมลิออยโดสิส ซึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจพบได้มาก เนื่องจากเป็นฤดูทำนา ที่ประชาชนต้องสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน
ดื่มน้ำจากกระป๋องจะเป็นโรคฉี่หนู
เป็นไปได้ว่าฉี่หนูอาจติดอยู่ตามภาชนะ เช่นกระป๋องน้ำดื่ม หรือน้ำอัดลม ซึ่งอาจจะเข้าสู่ร่างกายจากทางปากที่เราดื่มสัมผัสจากขวดหรือกระป๋องโดยตรง ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถติดตามภาชนะ ได้นานอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แม้โอกาสจะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เพื่อไม่ประมาท ก็อาจจะใช้หลอดดูด หรือเทใส่แก้วดื่มจะปลอดภัยกว่า
เจอละอองฝนต้องรีบอาบน้ำ ไม่เช่นนั้นจะป่วย
ในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นความจริง การรีบอาบน้ำเมื่อเจอละอองฝน เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น การอาบน้ำล้างมือ ก็เป็นการช่วยชะล้างความสกปรกหรือเชื้อโรค ก็เป็นการป้องกันอาการเจ็บป่วยได้
การสวมหน้ากากอนามัย
ยุโรปส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามียแล้ว รวมทั้งบางประเทศในเอเชีย ตอนนี้กฏหมายไม่บังคับ การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดสิว และมีผื่นขึ้นที่หน้า เนื่องจากจากการอบร้อนจากหน้ากากที่สวมเป็นเวลานาน
โรคกลากเกลื้อน
รศ.นพ.วาสนภ กล่าวว่า โรคกลากเกิดจากเชื้อรา ส่วนเกลื้อนเกิดจากยีส ยาที่ใช้ก็คล้ายๆ กัน หากเกิดน้ำกัดเท้า ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ไม่หาย มีอาการคันก็ควรพบแพทย์ เพื่อวินิฉัยว่าเป็นอะไร กลากจะมีอาการคัน และเป็นลักษณะเป็นวงแหวน ตรงกลางเป็นผิวปกติ จะต้องใช้ยาช่วยถึงจะหาย
เกลื้อน ส่วนใหญ่พบบริเวณหน้าอก หลัง หรือซอกคอ มักจะมาจากเหงื่อ ที่เกิดจากการอับชื้น เป็นลักษณะเป็นแผ่นแดง หรือซีดขาว ต้องใช้ยาช่วยถึงจะหายเช่นกัน
หิด
เกิดจากเชื้อปรสิต เป็นตัวๆ สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัส มักเป็นตามง่าม ลักษณะเป็นตุ่มๆ และคันคล้ายยุงกัด เป็นขุยขาวๆ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อสั่งยาที่ถูกต้องในการรักษา
เราสามารถหลีกเลี่ยงโรคที่เกิดจากน้ำท่วม อย่างเช่นโรคผิวหนัง ด้วยการรักษาความะอาดร่างกาย อาบน้ำ ฟอกสบู่ทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน ระวังความชื้น ทำร่างกายให้แห้ง ถ้ามีอาการคัน หรืออักเสบเกินหนึ่งสัปดาห์ควรพบแพทย์
รศ.นพ.วาสนภ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลผิวในช่วงน้ำท่วม หลังจากอาบน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังจากการลุยน้ำท่วมมาแล้ว การใช้ครีมบำรุงผิวจะช่วยเพิ่มปราการเพื่อให้ผิวแข็งแรงมากขึ้น ควรเลือกใช้ครีมที่มีไม่ค่อยมีกลิ่น มีส่วนผสมน้ำหอมน้อย หรือมีสารกันบูดน้อยชโลมผิวให้ชุ่มชื้น
ทางด้าน ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวสรุปว่า ไม่ว่าเราอยู่ในช่วงฤดูใดก็ตาม ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพราะสามารถช่วยป้องกันได้เกือบทุกโรค รวมทั้งทั้งการ “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง” การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งการรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิดก็แนะนำควรได้รับ 4 เข็ม และรอวัคซีนเฉพาะที่ป้องกันเชื้อตัวใหม่ได้ ที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค