สัญญาณเตือนโรคไต รู้ก่อนรักษาก่อน
Highlight
ปัจจุบันนี้พบว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน และการรับประทานอาหารรสเค็ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือไตวาย แพทย์สามารถช่วยแก้ไขหรือรักษาได้ โดยการรักษาต้นเหตุที่มา การควบคุมหรือชะลอภาวะไตเสื่อม รวมทั้ง ทั้งการฟอกไต และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อย่างไรก็ตามสำหรับ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคไต ควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาว
โดยปกติไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นการดูแลไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่ไตจะได้คงสภาพทำงานต่อไปได้ หากไตมีปัญหาจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการตัวบวม และในที่สุดจะทำให้เกิดไตวาย หรือภาวะไตล้มเหลวได้
ผศ. นพ.วราวุฒิ สุขเกษม ภาควิชารังสีวิทยา และ อ.พญ.ศรินยา บุญเกิด สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ ร่วมให้ความรู้ด้านสุขภาพ “สัญญาณเตือนโรคไต รู้ก่อนรักษาก่อน” วิธีการป้องกันและรักษา โดยเฉพาะการป่วยโรคไตเรื้อรัง
โรคไต คืออะไร
โรคไตเป็นโรคใกล้ตัว พบเจอกันมากเช่นกัน โรคไตเป็นความผิดปกติของโครงสร้างทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นซีสที่ไต มีนิ่วที่ไต หรือความผิดปกติในหน้าที่หรือการทำงานของไตที่ลดลง ที่คนไข้ส่วนใหญ่กังวลคือภาวะไตเรื้อรัง ที่นำไปสู่การฟอกไตในที่สุด
โรคไตเกิดขึ้นได้อย่างไร
บางคนเป็นโรคไตมาตั้งแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติบางอย่าง บางคนมีปัญหาเรื่องนิ่ว หรือก้อนมะเร็งที่ไต แต่ที่พบมากที่สุดคือ โรคไตที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานแล้วลงไต ทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นจึงต้องมาประเมินกันว่าเป็นโรคไตแบบไหนและเป็นระยะไหน
โรคไตในปัจจุบันเป็นกันมากน้อยแค่ไหน
ความเสี่ยงอย่างหนึ่งเจอคือ อาหารเค็ม ในปัจจุบันคนเป็นโรคไตกันมากขึ้น สาเหตุหลักๆ มาจากไตเรื้อรังมาจากโรคเบาหวาน สัมพันธ์กับเรื่องน้ำหนักเกินจากโรคอ้วน ส่งผลทำให้เกิดไตเรื้อรัง อุบัติกาลก็ส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มประชากร เช่น ไทย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ภาวะไตเรื้อรัง ไตวาย ที่เจอบ่อยที่สุดมาจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง
คนที่ตรวจเช็คไตเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ เช่นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี คนเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคนไข้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไตเรื้อรัง โรคพันธุกรรมบางอย่าง หรือความสุ่มเสี่ยงบางอย่างเกิดขึ้น ที่มีโอกาสเกิดไตเรื้อรัง หรือคนไข้ที่มีอาการเลย บางทีไม่ได้อายุมาก หรือมีไม่มีโรคประจำตัว แต่มีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นฟอง ขาบวม ความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ เป็นต้น
อาหารมีส่วนหรือไม่ อาหารเค็มมีส่วนหรือไม่ อาหารเค็มประเมินอย่างไร
อาหารที่มีความเค็มไม่ได้ทำให้เกิดโรคไตโดยตรงแต่อาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตสูงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต โดยเฉพาะความดันโลกหิตสูงที่คุมไม่ได้
ความเค็มขนาดไหนที่มีความเสี่ยง เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก หากวัดจากปริมาณของเกลือหรือโซเดียมคลอไรต์ที่รับประทานในแต่ละวันมากกว่า 4 กรัมต่อวันอาจจะถือว่าเค็ม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ควรรับประทานอย่างไร แต่ละยี่ห้อจะต้องดูที่ฉลากโภชนาการเป็นสำคัญ ว่ามีปริมาณโซเดียมเท่าไหร่ ถ้าหากสูงอยู่แล้ว ก็ควรจะระวังหากรับประทานอาหารชนิดอื่นที่มีความเค็มเพิ่มขึ้นในวันนั้นอีก
องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าควรรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน โซเดียมคลอไรด์ไม่เกิน 4 กรัม ต่อวัน ซึ่งตามร้านอาหารมักจะมีเครื่องปรุงให้เติม ดังนั้นต้องระวัง เวลาทาอาหารไม่ควรกินเค็มเกินไป
การรับประทานยาบางอย่างอาจมีผลต่อไต
บางครั้งคนไข้มีความสะดวกในการจัดหาซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อไต ยาในกลุ่มที่ควรระมัดระวังคือ ยาในกลุ่มยาแก้ปวด (NSAIDs) มักจะใช้บ่อยเวลามีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือเป็นเก๊า ทานยาเองต่อเนื่องนานๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตได้
ลักษณะอาการโรคไตเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการตัวบวม หน้าบวม ปัสสาวะลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟอง
บวมไต กับ อ้วน ต่างกันอย่างไร
ภาวะบวมไม่ได้เกิดจากโรคไตเสมอไป แต่อาจจะเกิดจากโรคอื่นได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อบางอย่าง เป็นต้น แต่อาการบวมไว่าจะเกิดจากโรคหัวใจหรือโรคไต สังเกตได้คือ คนไข้มักจะบอกว่าใส่รองเท้าแล้วจะเริ่มคับๆ คนทักว่าหนังตา เปลือกตาบวม หรือใช้นิ้วกดไปแถวหน้าแข้งให้ชนกระดูก นับ 1-2-3 ยกนิ้วขึ้น ลูบไปตรงๆ มีรอยบุ๋มหรือไม่ ถ้าอ้วนจะไม่บุ๋ม
ฟองปัสสาวะโรคไตดูอย่างไร
ต้องดูว่ามีปริมาณโปรตีนรั่วออกมาจากไตหรือเปล่า ปกติปริมาณโปรตีนจะรั่วออกมาได้นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่คนไข้บอกว่าเมื่อกดชักโครกหนึ่งครั้งฟองจะไม่หมด ต้องกดใหม่ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณ หรือถ้าไม่แน่ใจก็ไปตรวจ
การประเมินผู้ป่วยโรคไต
ขึ้นอยู่กับว่าภาวะโรคไตอยู่ในกลุ่มอาการไหน ภาวะโรคไตอักเสบ หรือภาวะไตเรื้อรัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ที่คนกังวลและเป็นปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือไตเรื้อรัง ซึ่งจะแบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 5 ระยะ ก็คือ แบ่งตามอัตราการกรองของไต เช่น ถ้าสมมุติไตของเราคือเครื่องกรองน้ำ เราแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ว่า
- ถ้าอัตราการกรองยังมากกว่า 90% เป็นไตเรื้อรัง ระยะที่หนึ่ง
- อัตราการกรอง 60-89% ระยะที่สอง
- อัตราการกรอง 30-59% ระยะที่สาม
- อัตราการกรอง 15-30% ระยะที่สี่
- อัตราการกรอง ต่ำกว่า 15% ระยะที่ห้า
การประเมินการกรอง จะประเมินสองอย่างคู่กันคือ เจาะเลือดและปัสสาวะ เจาะเลือดจะได้ค่าครีเอตินีน คนไข้บางคนถ้าไปหาหมอบ่อยก็จะรู้ได้เลย ค่าครีเอตินีนเอาไปเข้าสมการแล้วประเมินออกมา ว่าเท่ากับอัตราการกรองของไตเท่าไหร่ จะเป็นตัวเลขตามที่บอกไว้ 5 ระยะ นอกจากดูอัตราการกรองของไตแล้ว มีการตรวจปัสสาวะเพื่อดูอัตราการรั่วของโปรตีนด้วย แม้อัตราการกรองของไตจะดี ค่าครีเอตินีนอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ถ้ามีโปรตีนรั่วออกมาทางปัสสาวะ จะถือว่ามีภาวะไตเรื้อรังเหมือนกัน
ทางเลือกในการรักษาโรคไต
สำหรับโรคไตเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับระยะที่คนไข้เป็น ถ้าตรวจคัดกรองได้เร็วก็สามารถรักษาได้เร็ว สามารถชะลอความเสื่อมของไต หรือแม้แต่รักษาต้นเหตุให้หายได้ แต่ถ้าคนไข้มาตรวจแล้วพบว่าอัตราการกรองของไตเริ่มลดลงมาในระดับหนึ่งแล้ว หลักเกณฑ์ก็คือถ้ารักษาให้หายได้ก็จะพยายาม การรักษาจะเป็นการหาสาเหตุ ปัจจัย โรคร่วมถ้าเจอ เช่นความดัน เบาหวาน คุมโรคที่เกี่ยวข้องให้ได้ตามเป้าหมายใช้ยาบางอย่างที่มีฤทธิ์เพื่อชะลอความเสื่อมของไต แต่ถ้ามาเจอในระยะที่ห้า ต้องเตรียมเรื่องการฟอกไต
โรคไตรักษาหายหรือไม่
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โรคไตบางอย่างรักษาหาย เช่นภาวะไตอักเสบจากการติดเชื้อ ให้ยาฆ่าเชื้อก็รักษาหายได้เลย แต่ถ้าเป็นภาวะไตเรื้อรัง เช่น เบาหวานลงไต ก็ค่อนข้างเรื้อรัง เราอาจจะไม่สามารรักษาให้หายไป แต่สามารถควบคุมได้หรือชะลอความเสื่อมของไตได้
เมื่อไหร่ถึงจะต้องฟอกไต หรือเปลี่ยนไต
แพทย์สามารถช่วยแก้ไขหรือรักษาได้ ไม่ใช่ว่าจะสิ้นหวังไปเลย เมื่อการกรองของไตเสื่อมลงอยู่ในระยะที่สี่ หรือระยะที่ห้า ในทางการแพทย์ก็มักจะเตรียมการ เข้าสู่การบำบัดทดแทนไต แบ่งเป็น การฟอกไตทางเส้นเลือด โดยใช้เครื่องฟอกไต การฟอกไตทางหน้าท้อง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต หรือการรักษาแบบประคับประคอง
การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ มีมากน้อยแค่ไหน
ปกติประชาชนจะเข้าถึงสิทธิ์ในการรักษา หรือระบบการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ครอบคลุมถึงเรื่องการรักษา การบำบัดทดแทนไต ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคมหรือข้าราชการ ครอบคลุมการฟอกไตทางเส้นเลือดหรือหน้าท้อง
ภาวะไตวาย
คือการทำงานของไตที่ลดลง หรือผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการกรองที่ลดลงหรือการมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ถ้าเกิดขึ้นไม่เกิน 3 เดือนเรียกว่าไตวายเฉียบพลัน ถ้าค้างนานเกิน 3 เดือน จะเรียกว่าไตวายเรื้อรัง หรือไตเรื้อรัง จะมีอาการเตือนหลายแบบขึ้นอยู่กับระยะของโรค บางครั้งคนไข้ไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่า มีภาะไตเรื้อรัง จะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน มีประวัติโรคไตในครอบครัว
ถ้าพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากไตเรื้อรังเช่น ภาวะน้ำเกิน ขาบวม หน้าบวม ปัสสาวะผิดปกติเป็นเลือด เป็นฟอง ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทานอาหารไม่อร่อย น้ำหนักน้อยลง คลื่นไส้
คำถามสุขภาพ เกี่ยวกับโรคไต
ร่วมตอบคำถามโดย อ. พญ.ศรินยา บุญเกิด สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ผศ.นพ.วราวุฒิ สุขเกษม ภาควิชารังสีวิทยา
อายุ 36 ปี มีไตข้างเดียว ควรกินอาหารเสริมอะไร
ไม่ว่าจะมีไตข้างเดียวหรือสองข้าง หลักการในการรักษาก็จะคล้ายๆ กัน การรับประสานอาหาร 5 หมู่ ไม่ทานเยอะจนอ้วน ลดอาหารเค็ม ถ้าเป็นเบาหวานควรลดอาหารหวาน ไม่มีอาหารบำรุงไตโดยเฉพาะ มีแต่อาหารที่ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น ยิ่งทานยามากทำให้ไตทำงานมากขึ้น ยกเว้นยาที่แพทย์สั่ง ก็ควรรับประทานให้ครบ เช่นยาลดความดันโลหิตสูงควรทานให้ครบ หากหยุดยาอาจจะทำให้ไตเสื่อมเร็ว มากขึ้น ยาบางอย่างควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจะเกิดภาวะแทรกซ้อน
ไตเสื่อมเริ่มเกิดอายุเท่าไหร่
คนไข้บางคนมีความผิดปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด และไม่มีอายุเฉพาะ อยู่ที่การดูแลสุขภาพของแต่คน
พ่อเป็นโรคไตเสื่อมซื้อยาสมุนไพรมาทานเองจะเป็นอันตรายหรือไม่
อาจเป็นอันตราย เพราะไม่รู้ว่าสมุนไพรนั้นมีส่วนประกอบของอะไรบ้าง สมุนไพรบางอย่างมีการพิสูจน์มาแล้วว่าอันตราย บางครั้งการซื้อยากินเองเองทางอินเตอร์เน็ตอาจทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ ควรเป็นยาตามแพทย์สั่งปลอดภัยกว่า
ชอบปวดหลัง มีโอกาสเป็นโรคไตได้หรือไม่
มีโอกาสเป็นโรคไตได้ มีโรคไตบางอย่างที่มีอาการปวดหลัง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ปวดหลังจะเป็นโรคไต เช่นถ้ามีนิ่วที่ไต มีการอุดตันของท่อปัสสาวะ มีก้อนที่ไต ไตอักเสบ บางครั้งเจอเป็นโรคหลังเสื่อม
อายุ 59 ปี มีถุงน้ำในตับเป็นอันตรายหรือไม่ สาเหตุเกิดจากอะไร
ถุงน้ำในตับบางทีเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือผลจากการอักเสบติดเชื้อ หรือถ้าร้ายแรงที่สุดก็คือเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นถุงน้ำ การประเมินจะใช้วิธีทางรังษีวิทยา การตรวจอาจใช้เครื่องสแกนภาพคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออุลตร้าซาวน์ในการที่จะดู ถ้าถุงน้ำเป็นผนังเรียบไม่น่าจะใช่มะเร็ง แต่ถ้าเป็นถุงที่มีลักษณะขรุขระเป็นตุ่มเป็นก้อนในถุง จะเป็นเนื้องอกที่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ประเมินดูว่าจะเป็นลักษณะโรคตับหรือไม่ หมอจะใช้วิธีติดตาม ถ้าขนาดคงที่ก็ไม่ต้องไปเอาออก บางกรณีถ้าโตขึ้นอาจเป็นเนื้องอกที่เป็นซีส อาจจะเข้าเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ MRI ถ้าไม่เป็นอะไรก็ไม่ต้องเอาออก
ถุงน้ำดีในไต สามารถผ่าเอาออกได้หรือไม่
ถุงน้ำดีถ้าไม่อักเสบ ไม่มีนิ่ว ไม่มีก้อนเนื้อก็ไม่ต้องไปทำอะไร แต่ถ้ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือมีติ่งเนื้ออาจต้องผ่าตัด ถุงน้ำที่ไตต้องดูว่าน่ากังวลหรือไม่ ถ้าเป็นเนื้อร้ายอาจจะต้องตัดออกหรือตัดไตออก แต่ถ้าเป็นไม่มากก็ติดตามดูว่าโตหรือไม่ ถ้าคนในครอบครัวเป็น อาจจะเป็นโรคพันธุกรรมบางอย่าง
อายุ 68 ปี เป็นไตระยะสาม กินแคลเซียม กินวิตามินบีสาม บี12 เข้มข้น ได้หรือไม่
แคลเซียม ไม่ได้บำรุงไต แต่ถ้าเป็นไตในบางระยะที่ความผิดปกติของเกลือแร่บางตัวเพิ่มขึ้น หมออาจจะสั่งแคลเซียมให้รับประทานพร้อมกับอาหารเพื่อจับเกลือแร่บางอย่างที่มักจะเกินไปสำหรับคนไข้ที่เป็นโรคไต คือฟอสเฟสนั่นเอง หรือคนไข้โรคไตบางคนเมื่อเป็นไตเรื้อรังแคลเซียมต่ำลงก็อาจจะเสริมให้ แต่ไม่ได้ทำให้โรคไตหายไป ส่วนวิตามินอื่นๆ ยังไม่มีหลักฐานว่าจะช่วยบำรุงไต การรับประทานอาหาร 5 หมู่ครบก็น่าจะเพียงพอแล้ว
การทานแคลเซียมไม่ได้ช่วยให้ไตดีขึ้น แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าระยะของไต อยู่ระยะไหน มีข้อบ่งชี้อะไรที่ได้ประโยชน์จากการรับประทานทานแคลเซียม แล้วแพทย์จะสั่งยาให้เอง ถ้ารับประทานแคลเซียมมากๆ อาจทำให้เกิดโรคไตบางอย่างเกิดขึ้นได้และถ้าภาวะแคลเซียมในเลือดสูงมากๆ อาจทำให้ไตวายเฉียบพลันได้
อายุ 65 ปีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม มีนิ่วในไต หมอนัดตรวจทุกปี มีซาวน์ กับตรวจปัสสาวะบางครั้ง เจอเป็นก้อนแต่ไม่ใหญ่ คุณหมอให้ทานน้ำวันละ 2 ลิตรครึ่ง ปวดหลังบ่อยๆ ปวดแบบไหนเป็นไต หรือปวดตามวัย
การปวดจากการอุดตันของท่อปัสสาวะมักจะปวดมาก ปวดจนต้องไปโรงพยาบาล ถ้าสีของปัสสาวะเหมือนสีน้ำล้างเนื้อ มีเม็ดเลือดแดง และมันผิดปกติเกิดขึ้นเฉียบพลัน การปวดท่อไตจะปวดมาก จะบวมและไม่เห็นตัวนิ่ว อาจจะต้องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ดู อาจจะเห็นหินปูนไหลลงมาอยู่ที่ท่อปัสสาวะ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอาจจะปวดหลังได้
ผู้รักษาโรคไตที่มี ครีเอติมีนสูง ต้องทำอย่างไร
ครีเอติมีน คือตัวที่บ่งบอกว่าการกรองของไตอยู่ในระยะไหน การรักษาก็ต้องหาต้นเหตุ และแก้ไข ถ้าหาต้นเหตุได้ก็รักษาต้นเหตุ ก็ทำให้หายได้ ถ้าหากปล่อยไว้จนไตเสื่อมก็ต้องรักษาไตตามระยะ ไม่มียาตัวไหนที่รักษาค่าครีเอติมีนให้ลดลงได้ ต้องรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลัก
กิน “คอลลาเจน” เยอะจะทำให้เป็นโรคไตหรือไม่
คอลลาเจน เป็นคาโบไฮเดรทประเภทหนึ่ง กินแล้วก็ดูดซึม ถ้าเกินก็ขับถ่ายไป ถ้าการทำงานของไตดีก็ไม่น่าจะเป็นอะไร หรืออาจไม่ออกฤทธิ์จริงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ ขณะนี้การรับประทานคอลลาเจน จะบำรุงไต หรือทำให้ไตแย่ลงหรือไม่ยังไม่แน่ชัด
แนะนำอาหารบำรุงไต
ไม่มียาใด หรืออาหารใด ที่จะทานเพื่อบำรุงไตเป็นการเฉพาะ แต่ไม่ควรกินอาหารที่ทำให้ไตทำงานหนัก พยายามกินรสจืด อาหารบางอย่าง มีโซเดียมแฝง เช่นในขนมขบเคี้ยว หากสังเกตข้อมูลโภชนาการที่ระบุบนซองขนม จะเห็นได้ว่ามีโซเดียมพอสมควร ต้องอ่านฉลากดูและบริโภคแต่น้อ เพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่มีความเผ็ด เพราะจะมีความเค็มที่ซ่อนอยู่ในการปรุง เช่น แกงเผ็ด ส้มตำ ต้มยำ เป็นต้น หรือเลี่ยงไปใช้สมุนไพรที่มีรสชาติแทน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถ้ากินแต่ไม่ใส่เครื่องปรุงช่วยลดโซเดียมได้หรือไม่
แนะนำว่าไม่ควรซดน้ำจนหมดชาม หรือไม่รับประทานทุกวัน และควรเปลี่ยนวิธีการทำอาหารให้หลากหลาย นอกจากี้ยังพบว่ามีโซเดียมที่แฝงมากับอาหารบางชนิด เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารที่เน้นการเก็บรักษาได้นาน เช่น เบเกอรี่มีการใส่ผงฟู ซึ่งบางครั้งไม่ได้ใส่โซเดียมโดยตรง
เป็นโรค SLE ทานยากดภูมิตามที่หมอสั่ง ค่าครีเอตามีนสูงขึ้นอนาคตจะเป็นโรคไตหรือไม่
ก็มีความเป็นไปได้ เพราะโรค SLE หรือโรคแพ้ภัยตนเอง มีความเสี่ยงเกิดโรคขึ้นได้หลายอวัยวะ ทั้งกระดูก ข้อ และ ไต หรือโรคลูปัส หรือ SLE ลงไต อาจเกิดภาวะไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงรั่วในปัสสาวะ โปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือทำให้ค่าครีเอติมีนขึ้นได้ แนะนำว่ารักษาควบคุมโรคให้สงบ อาจจะต้องรักษาด้วยยากดภูมิบางอย่าง ถ้าเรารักษาโรคให้สงบแล้ว โอกาสที่โรคไตกำเริบก็จะลดลง ต้องคุมโรค SLE ให้ได้ ถ้าทานยากดภูมิมากๆ ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ การรับประทานอาหารที่ไม่สุก ต้องระวัง เพราะอาจมีพยาธิที่ทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นนิ่วในไตต้องทำอย่างไร ทานน้ำมันตับปลาได้หรือไม่
ต้องติดตามว่าก้อนนิ่วโตขึ้นหรือไม่ ทำให้อุดตันทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ทานน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากอาการแทรกซ้อน เช่น ปวดหลังเฉียบพลัน มีปัสสาวะเป็นเลือด ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจดูว่ามีอาการอุดตันอะไรหรือไม่ น้ำมันตับปลาไม่น่าเกี่ยวข้องกัน
นิ่วในไตมีหลายชนิด ส่วนประกอบของตัวนิ่วเองแตกต่างกัน เช่น แคลเซียม ฟอสเฟส ยูริก แต่ละชนิด มีการปฏิบัติตัว ยา หรืออาหาร ต่างกัน ถ้ารู้ชนิดของนิ่วหรือส่วนประกอบของนิ่ว สามารถเลือกรับประทานอาหารได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น นิ่วในไต และนิ่วในกะเพาะปัสสาวะก็มีการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกัน
นิ่วในไตต้องดื่มน้ำเยอะๆ ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อย ทานโซเดียมให้น้อยลง สำหรับน้ำมันตับปลายังไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้เป็นนิ่วในไต
อายุ 73 กินข้าวแล้วแน่นท้อง เมื่อกดท้องจะมีลมออกมาตลอดจะเกี่ยวกับถุงน้ำดีหรือเปล่า
อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ เพราะการทานอาหารแล้วแน่นท้องดูแล้วไม่จำเพาะเจาะจง ยกตัวอย่างอาการของถุงน้ำดี ถ้ามีนิ่วขนาดใหญ่ในถุงน้ำดี ทำให้การไหวเวียนของระบบน้ำดีมีปัญหาจะมีเรื่องของท้องอืด โดยเฉพาะเมื่อเวลากินอาหารที่มีไขมันค่อนข้างเยอะ เพราะเวลาย่อยไขมันต้องอาศัยน้ำดี ก็จะมีอาการไม่สะดวกสบายท้อง ถ้ามีการอุดตันของท่อจากนิ่วและทำให้ถุงน้ำดีอักเสบ จะเริ่มปวดท้อง เริ่มมีไข้ ปวดขวาบน ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องไปโรงพยาบาล เพื่อเช็คดูว่า เป็นอาการปวดท้องจากถุงน้ำดีอักเสบหรือไม่ ถ้าสงสัยต้องตรวจอุลตร้าซาวน์เพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียด
อย่างไรก็ตาม อาการจุกแน่นท้องอาจจะเป็นอาการของโรคอย่างอื่นก็ได้ เช่น บางคนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ กรดไหลย้อน จะมีอาการในลักษณะนี้ได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและรักษาอย่างถูกต้อง
อายุ 55 ปี ไขมันสูง ทานอาหารเสริมทุกวันจะมีผลต่อไตหรือไม่ ปวดหลังแบบไหนเกี่ยวกับเป็นโรคไต
ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะว่าปวดหลังแบบไหนที่จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคไต แต่ถ้าปวดหลังร่วมกับการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟอง ให้ต้องสงสัยได้ ส่วนใหญ่ปวดหลังจากกล้ามเนื้อ เวลาบิดตัวจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ถ้าปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดหลังมากอย่างไม่เคยปวดมาก่อน หรือปวดตอนที่อายุมากขึ้นและมีไข้ร่วมด้วย ควรจะมาพบแพทย์ดีกว่า แม้จะไม่เป็นโรคไตแต่อาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้ ควรตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รีบรักษา
การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาที่ตรวจพบเจอได้เรื่อยๆ คนที่มีความเสี่ยง หรือถ้าไม่แน่ใจ ควรต้องรีบมาตรวจ หมอสามารถรักษาหรือชะลอการเสื่อมของไตได้ “เป็นไตวาย ไม่จำเป็นต้องตายไว”
การป้องกัน ย่อมดีกว่าการแก้ไขหลังจากที่เป็นโรค เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากมีสุขภาพที่ดี เราต้องมี Mindset ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตัว ถ้าเรามี Mindset ที่ดี เราก็จะไม่เป็นโรค หรือถ้าเป็น เราก็สามารถจัดการได้ทันท่วงที