สธ. เผย ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 3 สายพันธุ์ย่อย XBB, BF.7, BN.1 วอนประชาชน อย่าตื่นตระหนก ป้องกันตัวเองให้เต็มที่
Highlight
ไทยพบ XBB แล้ว 2 ราย มาจากฮ่องกงและสิงคโปร์ ชี้แพร่เร็วสูงสุดระดับ 6 หลบภูมิสูงสุด แต่อาการไม่รุนแรง รวมทั้งเชื้อ BF.7,BN.1 กรมวิทย์เผย เป็นเชื้อในตระกูลโอมิครอน อย่าเพิ่งตกใจ อาการไม่รุนแรงมาก แม้อาจติดเชื้อเพิ่ม ภาพรวมโควิดในไทยยังเป็น BA.5 การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อต้องทำเป็นปกติ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงไม่ได้เพิ่มรายชื่อเชื้อที่น่ากังวลตัวใหม่ แต่ยังคงมีเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ เป็นเครื่องชี้ว่า โควิดไม่หายไปจากโลกนี้ง่ายๆ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB จำนวน 2 ราย โดยรายแรกเป็นหญิงชาวต่างชาติ อายุ 60 ปี ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยผู้ป่วยไม่ได้ให้ประวัติไว้ แต่ผู้ป่วยแจ้งที่อยู่กับทางโรงพยาบาล คือ ฮ่องกง ขณะป่วยอาศัยที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ระหว่างกักตัวผู้ป่วยไม่มีอาการไอ ไม่มีไข้ และหายเป็นปกติแล้ว
ส่วนรายที่สอง เป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี ผู้ป่วยให้ประวัติอาศัยอยู่ในประเทศไทย ขณะป่วยอาศัยที่บ้าน เบื้องต้นมีประวัติเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ ระหว่างกักตัวผู้ป่วยมีอาการไอ ระคายคอ ไม่มีไข้ และหายเป็นปกติแล้ว
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ BJ.1 (หรือ BA.2.10.1.1) และ BM.1.1.1 (หรือ BA.2.75.3.1.1.1) โดย BJ.1 และ BM.1.1.1 มีบรรพบุรุษร่วมกัน คือ BA.2
2 รายที่พบ XBB กรมควบคุมโรคจะทำการสืบหากลุ่มเสี่ยงต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ ประเทศสิงคโปร์ที่พบ XBB เพิ่มขึ้น รายงานว่าจำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักเป็นไปตามสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่พบมากขึ้นเป็นปกติ, นพ.ศุภกิจ กล่าว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพบสายพันธุ์ BF.7 ทั้งหมด 2 ราย รายแรกเป็นชายชาวต่างชาติ อายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในประเทศไทย กรุงเทพมหานคร มีอาการไอ เจ็บคอเล็กน้อย ส่วนรายที่สองเป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรืออยู่ในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์)
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 ทั่วโลกพบจำนวน 13,911 ราย โดยพบในประเทศจีน และแพร่กระจายไปยังเบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอังกฤษ และไทย จากการคำนวณทางสถิติพบว่า BF.7 มีการเติบโต (growth rate) มากกว่า BA.5 ประมาณ 17.95%
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยพบสายพันธุ์ BN.1 (หรือ BA.2.75.5.1) จำนวน 3 ราย และพบเพิ่มเติมจำนวน 7 ราย แต่ยังอยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ทั้งนี้ จากฐานข้อมูล GISAID ทั่วโลกพบ 437 ราย และจากการคำนวณทางสถิติพบว่า BN.1 มี growth rate ใกล้เคียงกับ BA.5
ส่วนสายพันธุ์ BQ.1.1 (หรือ BA.5.3.1.1.1.1.1.1) ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย ทั่วโลกมีรายงาน 1,284 ราย ทั้งนี้ ต้องจับตา BQ.1.1 เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี และในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ทั่วโลกพบจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ BA.2.75 และ BA.2.75.x ในประเทศไทย จากฐานข้อมูล GISAID มีรายงาน BA.2.75 และ BA.2.75.x [(BA.2.75.1 (5 ราย), BA.2.75.2 (5 ราย), BA.2.75.3 (2 ราย), BA.2.75.5 (1 ราย)] พบในไทยรวม 19 ราย และพบเพิ่มเติมในประเทศไทย (อยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID) อีก 11 ราย ได้แก่ BA.2.75.1 (4 ราย), BA.2.75.2 (3 ราย), BA.2.75.3 (1 ราย) และ BA.2.75.5 (3 ราย) หรือถ้ายืนยันทั้งหมดคือพบ 30 ราย ซึ่งถือว่าจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับ BA.5
อย่างไรก็ดี จากการจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-14 ต.ค. 65 ยังพบว่าสายพันธุ์ BA.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในไทย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ สายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด อันดับหนึ่งคือ XBB รองลงมาคือ BQ.1.1 ตามด้วย BN.1 และ BF.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจำนวนที่พบและตำแหน่งการกลายพันธุ์ ซึ่งยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์จริงต่อไป
“ขอประชาชนอย่าเพิ่งกังวล ส่วนใหญ่ลูกหลานของโอมิครอนจะแพร่เร็ว แต่อาการไม่รุนแรง มาตรการที่มีอยู่ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่ อย่างไรก็ดี ยังมีสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม (Variants under monitoring) ได้แก่ BA.5, BA.2.75, BJ.1, BA.4.6, XBB และ BA.2.3.20 ในปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังเป็นโอมิครอน ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยมากมาย โดย WHO ยังคงเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์
ทั้งนี้ WHO ระบุว่า BA.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั้งโลก สายพันธุ์ย่อยต่างๆ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโอมิครอนสายพันธุ์หลัก คือ มีความสามารถในการแพร่ได้ไวมากกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน แต่ไม่พบความแตกต่างในด้านความรุนแรงของโรค
“สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป (ตำแหน่งจำนวนที่เกิดการกลายพันธุ์) เช่น BA.2.3.20, BA.2.75.2, CA.1, BR.2, BN.1, BM.1.1.1, BU.1, BQ.1.1 และสายพันธุ์ลูกผสม XBB เป็นต้น ซึ่งพบว่า มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่ระบาดเมื่อเทียบกับ BA.5 หรือถ้ามีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเยอะเท่าไร โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็มากขึ้นเท่านั้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยส่งข้อมูลรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ไปที่ฐานข้อมูล GISAID ทาง GISAID เมื่อรับข้อมูล เบื้องต้นอาจระบุว่าเป็นสายพันธุ์หนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั่วโลกมีข้อมูลมากขึ้น รหัสพันธุกรรมที่ส่งไปอาจกลายเป็นสายพันธุ์อื่นได้ ดังนั้น จึงอาจเห็นกรณีที่ส่งข้อมูลไปให้ GISAID นานแล้ว แต่เพิ่งพบสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีที่ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB ทั้งหมด 3 รายข้อมูลเบื้องต้นทั้ง 3 รายเป็นคนฮ่องกงไม่ใช่คนไทย แต่มีประวัติเดินทางกลับจากประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติมว่าติดเชื้อตอนอยู่ประเทศไทย ติดเชื้อบนเครื่องบิน หรือติดเชื้อที่ฮ่องกง
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเสียชีวิต ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่บางประเทศแถบยุโรป และสิงคโปร์ เริ่มมีสัญญาณพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้ หลายประเทศบริหารจัดการโรคโควิด-19 แบบการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง เป็นไปตามคาดการณ์หลังลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาล และสถานที่เสี่ยง เพื่อตรวจจับการระบาด รวมทั้งการตรวจหาสายพันธุ์กลายพันธุ์ด้วย
นพ.จักรรัฐ กล่าวเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 และเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยคงระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคสูงต่อเนื่อง
“การระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากนี้ คาดการณ์ว่าการระบาดของโรคจะเป็นไปตามฤดูกาลเทียบเคียงโรคไข้หวัดใหญ่ คือพบมากในช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว” นพ.จักรรัฐ กล่าว
ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว จะพบประชาชนที่มีอาการคล้ายไข้หวัดมากขึ้น สิ่งที่ประชาชนควรปฏิบัติเบื้องต้น คือ ดูแลตนเอง และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก่อนที่จะไปพบแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ถูกต้อง เนื่องจากช่วงนี้มีไข้หวัดที่ไม่ใช่โควิดเกิดขึ้น
ในส่วนของระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ ขณะนี้มีการตรวจ RT-PCR น้อยลง จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลผ่านศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ให้มีการประสานงาน เลือกเก็บกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ กลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต, กลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศและป่วยโควิด-19, กลุ่มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน, กลุ่มที่ภูมิต้านทานบกพร่อง, กลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปแล้วภายใน 3 เดือน ติดโควิด-19 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อปริมาณมาก