ปลายปีแนวโน้มติดโควิดพุ่ง เหตุอากาศเปลี่ยนแปลง-กิจกรรมรวมกลุ่มมากขึ้น
Highlight
โควิด-19 กลับมาระบาดเพิ่มในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นผลจากอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ประชาชนมีกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมาก ทั้งนักเรียนเปิดเทอม การเดินทางท่องเที่ยว สังสรรค์ รวมถึงบางส่วนเริ่มผ่อนคลายการสวมหน้ากาก คาดว่าการติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปี ไปจนถึง ก.พ. ปีหน้า จากกิจกรรมและงานรื่นเริงช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เตือนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 45 ของปีนี้ (6-12 พ.ย.65) ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด 19 รวม 3,166 ราย เฉลี่ย 452 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 12.8% มีผู้เสียชีวิต 42 ราย
แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นผลจากอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ประชาชนมีกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมาก ทั้งนักเรียนเปิดเทอม การเดินทางท่องเที่ยว สังสรรค์ รวมถึงบางส่วนเริ่มผ่อนคลายการสวมหน้ากาก ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าการติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปีที่มีกิจกรรมและงานรื่นเริงช่วงใกล้เทศกาล
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กและเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต
นอกจากนี้ ได้ประสานเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนสะดวกที่สุด เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้ช่วยบริการวัคซีนในวันหยุด, สำนักงานประกันสังคม เพื่อเร่งฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ประกันตน และโรงพยาบาลสังกัดทหารหรือตำรวจ เพื่อฉีดวัคซีนให้บุคลากร เป็นต้น โดยมอบหมายกองตรวจราชการกำกับ ติดตาม และสนับสนุนการบริการฉีดวัคซีนในพื้นที่
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 143.7 ล้านโดส ฉีดครบ 2 เข็ม 53.9 ล้านราย คิดเป็น 77.5% และเข็มที่ 3 ขึ้นไป 32.4 ล้านราย คิดเป็น 46.6%
ส่วนโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย 2 ล้านโดสทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.65 ขณะนี้ผ่านมา 2 สัปดาห์ มีประชาชนเข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้น 1.9 แสนโดส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อสม. และกลุ่ม 608 โดย 3 เขตสุขภาพที่ฉีดวัคซีนสูงสุด คือ เขตสุขภาพที่ 6, 5 และ 4 ส่วน 3 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนสูงสุด คือ ชลบุรี นครราชสีมา และสมุทรสาคร ตามลำดับ
นพ.สุเทพ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ จึงเร่งสื่อสารให้ทุกจังหวัดทำแผนและเป้าหมายการฉีดวัคซีนสู่ระดับอำเภอ ทำระบบรายงานผลประจำวันรายหน่วยบริการ เน้นเชิญชวน ค้นหา ติดตามคนที่ยังไม่ได้ฉีดจนถึงระดับหมู่บ้าน
โดย อสม.ร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ด้วยกัน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามารับวัคซีนให้มากที่สุด อาทิ จัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้านให้กับกลุ่ม 608 และผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
พร้อมยืนยันว่า มีวัคซีนเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 4 เดือนขึ้นไปมารับเข็มกระตุ้นที่หน่วยบริการวัคซีนใกล้บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมยาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอเพื่อรองรับการระบาดของโรค ขณะที่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นพ.ยง เผยโควิดแนวโน้มสูงขึ้นตามฤดูกาล และจะระบาดยาวถึง ก.พ. 66
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า โรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบเพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเข้าสู่โรคตามฤดูกาล โดยการระบาดของโรคสำหรับประเทศไทยจะพบมากในฤดูฝน และช่วงปลายปีจนถึงต้นปีอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับการระบาดในสมัยไข้หวัดใหญ่ 2009
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคลดลง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน มียาที่ใช้รักษาที่ดีขึ้นกว่าช่วงแรกๆ คือ โมลนูพิราเวียร์, แพกซ์โลวิด และเรมเดซิเวียร์ และปัจจุบันยาสำหรับโควิด-19 ก็หาได้ง่ายกว่าเมื่อต้นปีมาก
สำหรับจำนวนการฉีดวัคซีนขณะนี้ น้อยกว่าธรรมชาติที่ฉีดวัคซีนให้หรือการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันในประชากรเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้วอยากให้ประชากรไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ไม่แตกต่างกัน ส่วนใครได้มากกว่า 3 เข็มแล้ว ถ้าเข็มสุดท้ายได้รับมาแล้วนานเกินกว่า 6 เดือน ระดับภูมิต้านทานที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอ ก็ควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งหนึ่ง
นพ.ยง กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนไม่ได้ขาดแคลน จึงอยากเชิญชวนให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะรุนแรง ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมาเป็นเวลานานแล้ว 4-6 เดือนขึ้นไป เพื่อช่วยความจำของร่างกาย และเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจากทุกสายพันธุ์
“การระบาดในครั้งนี้ จะยาวไปถึงเดือนก.พ. และหลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลงต่ำมากๆ แล้วจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งคาดว่าในปีหน้า ประชากรเกือบทั้งหมดก็น่าจะมีภูมิต้านทานแล้ว ดังนั้น ในขณะนี้ถ้าไม่ได้กระตุ้นด้วยวัคซีนธรรมชาติ การติดเชื้อก็จะกระตุ้นให้ อย่างไรก็ดี การติดเชื้ออาการแทรกซ้อน จะมากกว่าการฉีดวัคซีน” นพ.ยง ระบุ