26 พฤศจิกายน 2565
1,292

พฤติกรรมวัยรุ่นเสี่ยงหูหนวก ใส่หูฟังนานเกินไป เที่ยวที่เสียงดัง

พฤติกรรมวัยรุ่นเสี่ยงหูหนวก ใส่หูฟังนานเกินไป เที่ยวที่เสียงดัง
Highlight

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยผลวิจัยชี้ วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวนับพันล้านคนเสี่ยงสูญเสียการได้ยิน เพราะพฤติกรรมการใช้หูฟัง และการไปดูคอนเสิร์ตหรือไปในสถาที่ที่เปิดเพลงเสียงดัง ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 430 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 5 ของประชากรโลก สูญเสียการได้ยิน ซึ่งประเมินว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคนภายในปี 2593 หมอจุฬาฯ ชี้จะทำให้ประสาทหูชั้นในเสี่ยม แนะเสียงหูฟังไม่ควรดังเกิน 80 เดซิเบล และฟังไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


เยาวชน 1 พันล้านคนเสี่ยงหูหนวกจากการใส่หูฟัง การศึกษาที่นำโดยองค์การอนามัยโลก เตือนให้คนหนุ่มสาวระมัดระวังเกี่ยวกับนิสัยการฟังของพวกเขามากขึ้น หลังพบว่าเยาวชนประมาณ 1 พันล้านคน เสี่ยงสูญเสียการได้ยินจากนิสัยชอบใส่หูฟัง และไปในสถานที่ส่งเสียงดัง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Global Health โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัย 33 เรื่องที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมผู้เข้าร่วมมากกว่า 19,000 คนที่มีอายุระหว่าง 12-34 ปี พบว่าคนหนุ่มสาวร้อยละ 24 มีพฤติกรรมในการฟังที่ไม่ปลอดภัย ขณะใช้หูฟังกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน และพบว่าร้อยละ 48 ได้รับเสียงในระดับที่ไม่ปลอดภัยในสถานบันเทิง เช่น คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับ

เมื่อรวมงานวิจัยเหล่านี้ ผลการศึกษาประเมินว่า คนหนุ่มสาวระหว่าง 670,000 ถึง 1.35 พันล้านคนอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน Lauren Dillard นักโสตสัมผัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์เซาท์แคโรไลนา และผู้นำงานวิจัยกล่าวว่า จำนวนการประมาณการที่กว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนหนุ่มสาวบางคนอาจมีความเสี่ยงจากทั้งสองปัจจัย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากหูฟัง คือการลดระดับเสียงลง และฟังเป็นระยะเวลาสั้นๆ

แต่เธอยอมรับว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักชอบเพลงที่มีเสียงดังมาก ดังนั้นผู้ใช้หูฟังควรใช้การตั้งค่า หรือแอพบนสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบระดับเสียง และในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หูฟังตัดเสียงรบกวนสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเปิดเพลงให้ดังขึ้นเพื่อพยายามกลบเสียงรอบข้าง ขณะเดียวกัน ก็ควรสวมที่อุดหูในงานที่มีเสียงดัง เช่น คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับ  เพราะแม้อาจสนุก แต่นั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว 

Dillard เรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการฟังอย่างปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบสถานที่และจำกัดระดับเสียงดนตรี รวมทั้งยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ที่ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์ สร้างระบบเพื่อเตือนผู้ฟังเมื่อเปิดเสียงดังเกินไป และให้รวมระบบล็อคสำหรับผู้ปกครองเพื่อจำกัดการเข้าถึงของเด็ก

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 430 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 5 ของประชากรโลก สูญเสียการได้ยิน ซึ่งประเมินว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคนภายในปี 2593

ใส่หูฟังดังและบ่อย ต้องระวังโรคเกี่ยวกับ “หู”

วัยรุ่นหนุ่มสาวทุกวันนี้จะนิยมใช้หูฟังกันมาก แต่การใช้เป็นประจำและเสียงดัง จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินในอนาคตอย่างไร?  ผศ. พญภาณินี จารุศรีพันธุ์ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยแพร่บทความเกี่ยวกับอันตรายของการใช้หูฟังไว้ดังนี้

การใส่หูฟังเป็นประจำและฟังเสียงดังเกินกว่าระดับเสียงปกติที่ควรได้ยินอาจส่งผลให้ประสาทหูชั้นในเสื่อมได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจจะเกิดความเสี่ยงทำให้เกิดอาการหูตึง หูหนวก หรือมีเสียงรบกวนในหู ตามมา

ระวัง! อาการประสาทหูชั้นในเสื่อม

  • เกิดเสียงรบกวนในหูตลอดหรือเป็นครั้งคราว เช่น เสียงวัด เสียงซ่า เสียงคล้ายจิ้งหรีด
  • ได้ยินเสียงไม่ชัด รู้สึกหูอื้อ
  • รู้สึกปวดหูเมื่อได้ยินเสียงดัง

ป้องกันได้อย่างไร?

  • ใช้หูฟังด้วยระดับเสียงไม่เกิน 80 เดซิเบล ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • ไม่ควรใช้หูฟังตลอดเวลา และลดระดับความดังของเสียง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่เสียงดัง
  • หมั่นตรวจสอบระดับการได้ยินของตนเอง

หมั่นทำความสะอาดหูฟัง เพื่อลดความเสี่ยงโรคอื่น ๆ เช่น โรคหนองในหู การอักเสบของหู

ติดต่อโฆษณา!