05 มีนาคม 2566
1,463

WHO ขอให้ทุกประเทศ เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังไข้หวัดนก H5N1

WHO ขอให้ทุกประเทศ เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังไข้หวัดนก H5N1
Highlight

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั่วโลกอยู่ในระดับน่าห่วงกังวล และเตือนเฝ้าระวัง เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อจากนกที่บินไปรอบโลก โดยพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเสียชีวิตของเด็กหญิงในกัมพูชา ด้านกรมอนามัยแนะวิธีปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยที่ดีห่างไกลจากโรค และหากประชาชนพบเห็นสัตว์ปีกป่วย-ตายจำนวนมาก ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าตรวจสอบ


นสพ. The Guardian รายงานอ้างถ้อยแถลงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั่วโลกอยู่ในระดับน่าห่วงกังวล เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อจากนกที่บินไปรอบโลก และพบรายงานการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งคนเพิ่มมากขึ้น

• WHO จึงเน้นย้ำถึงความเสี่ยงจากการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 พร้อมกับขอให้ทุกประเทศเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังด้วย แม้ว่าเมื่อต้น ก.พ. 66 WHO เคยประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ไปสู่คนว่าอยู่ในระดับต่ำ

• แต่การเสียชีวิตของเด็กหญิงชาวกัมพูชา เมื่อ 23 ก.พ. 66 และตรวจพบว่าคนในครอบครัวของเด็กหญิงติดเชื้อด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 อาจแพร่ระบาดจากคนไปสู่คนได้

กรมอนามัย แจงอย่าเพิ่งตื่นตระหนก โรคไข้หวัดนก เร่งดูแลสุขอนามัย

• กรมอนามัย ชี้แจงประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกการกลับมาระบาดของไข้หวัดนก และแนะนำให้เลือกเนื้อไก่และเป็ดสดจากแหล่งที่มีการรับรอง และปรุงให้สุกอย่างทั่วถึงลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค

• นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีพบเด็กหญิงชาวกัมพูชา อายุ 11 ปี เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา รวมถึงบิดาของเด็กหญิงก็ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ส่งผลให้มีผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชา จำนวน 2 ราย

• สำหรับในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด โดยกรมอนามัยแนะนำประชาชนและผู้ประกอบการ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแต่ไม่ควรประมาท

• หากพบสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ เป็ด ตายเป็นจำนวนมาก หรือ ตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

• นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย และห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปกินหรือให้สัตว์อื่นกินโดยเด็ดขาด กรณีการเลือกซื้อสัตว์ปีกที่มีชีวิต ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอาศัยอยู่ด้วย

• สำหรับผู้ประกอบการค้าอาหารในตลาดสดต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด โดยล้างทำความสะอาดตลาดบริเวณจุดเสี่ยงเป็นประจำทุกวัน และให้ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลเป็นประจำทุกเดือน

• ผู้สัมผัสหรือผู้ปรุงประกอบอาหารต้องไม่ใช้มือที่หยิบจับไก่ดิบหรือเปื้อนมาจับจมูก ตาและปาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับเนื้อสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน

• หากมีบาดแผลที่มือต้องปกปิดแผลให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสอาหาร

• ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่สด เป็ดสด จากเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และเขียงผัก ผลไม้โดยเฉพาะ

• ควรเลือกเนื้อไก่และเป็ดจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานหรือร้านค้าประจำที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจจะตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น เนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก

• การเลือกซื้อไข่ ให้เลือกซื้อฟองที่ดูสดใหม่ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร ควรปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 5 นาที ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรครวมทั้งยาฆ่าแมลงตกค้าง

• หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที กรณีทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์ต้องแจ้งแพทย์ด้วย

 

ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ข้อมูลCOVID19


ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC


ติดต่อโฆษณา!