05 มกราคม 2564
1,900

คนไทย ...จะได้ฉีดวัคซีน COVID-19 เมื่อไหร่ ?

คนไทย ...จะได้ฉีดวัคซีน COVID-19 เมื่อไหร่ ?
Highlight
หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ให้พลเมืองหาก
ทุกประเทศทั่วโลกจะควบคุม COVID-19 และกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติ
ประชากรของแต่ละประเทศจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร
คำถามคือ...และเมื่อไหร่คนไทยจะได้ฉีดวัคซีน COVID-19 ?

อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ (นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์) ยืนยันว่า วันนี้ยังคงเป้าหมายที่จะให้ฉีดวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ฟรีกับประชาชน
ไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนประชากร หรือมีวัคซีน 70 ล้านโดส

ล่าสุด 3 มกราคม 2564 ได้มีการอัพเดทความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ว่าไทยเริ่มผลิตวัคซีน COVID-19 ในประเทศแล้ว
และการสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ดังนี้

ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้คนไทย

  • กุมภาพันธ์ 64 สั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากจีน  200,000โดส
  • มีนาคม 64 สั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากจีน 800,000โดส
  • เมษายน 64 สั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากจีน 1 ล้านโดส
  • พฤษภาคม 64 ส่งมอบล็อตแรก สำหรับวัคซีนที่ไทย เริ่มเดินสายการผลิต โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca กำลังผลิตปีละ 200 ล้านโดส (ตามเงื่อนไขจองซื้อ 26 ล้านโดส)

อยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย “ฉีดวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ฟรีกับประชาชนไม่น้อยกว่า 50%ของจำนวนประชากร หรือมีวัคซีน 70 ล้านโดส”

วัคซีนแบบไหนที่ไทยยอมรับ

ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีน COVID-19 ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย 4 ชนิดวัคซีน เช่น mRNA, Viral Vector, Inactivated
และ Sub unit protein

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้รายละเอียดว่าในประเทศไทยจะยอมรับการขึ้นทะเบียนที่มีผลของเฟส 3 มีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับมีเพียง 3 ชนิดคือ

  • บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)
  • โมเดอร์นา (Moderna)
  • แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา และวัคซีน COVID-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง‼️

ซึ่งทั้งของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังสามเดือน ในขณะที่ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยจองซื้อได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของอังกฤษแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ภาคเอกชน กับนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ ทำได้หรือไม่?

นายแพทย์ศุภกิจ ยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามบริษัทเอกชนที่นำเข้าวัคซีน แต่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยก่อน

ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องผลการทดลองว่ามีความน่าเชื่อหรือไม่ โรงงานผลิตเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และทุกล็อตที่จะนำสู่การฉีดต้องได้รับการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ ว่ามีคุณภาพตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ประเทศไทยเรามีหนทางได้รับวัคซีน COVID-19 มาจาก 3 วิธี 


วิธีแรก ร่วมมือวิจัยกับสถาบันวิจัยวัคซีนระดับโลกเพื่อให้ได้มา
วิธีที่สอง สั่งซื้อจาก AstraZeneca 26 ล้าน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่าจะได้วัคซีนประมาณกลางปีหน้า และคงต้องหาทาง
ต่อรองจัดซื้อกับ บริษัทอื่นๆ ด้วย 
วิธีที่สาม พัฒนาวัคซีน-19 ในประเทศไทย ซึ่งทั้งสามวิธีนี้เราจะไม่พึ่งพาแค่การซื้ออย่างเดียว

ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแย่งชิงวัคซีนของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้วิธีที่สาม คือ การผลิตเองใช้เองของคนไทยจะกลายเป็นความหวังที่ปลายอุโมงค์

ถึงแม้ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนฝีมือคนไทยจะยังอยู่ในการทดลองระยะที่ 2 คือการทดสอบในสัตว์ทดลอง แต่สุดท้ายในระยะยาว วัคซีนจากฝีมือคนไทยจะทำให้คนไทยมีวัคซีนเพียงพอในการต่อสู้กับ COVID-19 อย่างครอบคลุมในวงกว้างก็เป็นได้

สุดท้าย ...ต่อให้มีวัคซีน COVID-19 แล้ว หน้ากากยังต้องใส่ และดูแลตัวเองดีๆ‼️
ไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วไม่ต้องดูแลตัวเอง หน้ากากคุณก็ยังคงต้องใส่
หมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาวิธีการป้องกันตัวเองให้เป็นนิสัย งดกิจกรรมที่ไปพบปะผู้คนในสถานที่แออัด

ติดต่อโฆษณา!