08 มกราคม 2564
7,144

“หมอชนะ” กับ “ไทยชนะ” ต่างกันยังไง ทำไมต้องใช้คู่กัน ?

“หมอชนะ” กับ “ไทยชนะ” ต่างกันยังไง ทำไมต้องใช้คู่กัน ?
Highlight
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘แอปหมอชนะ’ กับสแกน QR Code ‘ไทยชนะ’  นอกจากช่วย ”ชนะโควิด19” ตามที่ภาครัฐออกมาบอกแล้ว การทำงานของเครื่องมือในการช่วยติดตามข้อมูลของประชาชนทั้ง 2 อย่างนี้ ทำงานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? 


จำเป็นต้องมีแอปหมอชนะไหม ถ้าสแกน QR Code ไทยชนะแล้ว ทันข่าว จะมาบอกความต่างของทั้ง ‘ไทยชนะ’ และ ‘หมอชนะ’ กัน

"ไทยชนะ"

ใช้งาน 
▪️ “QR Code” ใช้เช็กอิน เช็กเอาท์ตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย คิวอาร์โค้ด
▪️ เก็บข้อมูลการเข้าพื้นที่ต่างๆ ผ่านเบอร์โทรศัพท์

การแจ้งเตือน
▪️ มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS ถ้ามีผู้ป่วยโควิด 19 เคยมาอยู่ในพื้นที่ที่เราเข้าเช็คอิน

ข้อดี 
▪️ บันทึก สถานที่ ระยะเวลาอยู่ในสถานที่ที่ใช้บริการ 
▪️ ช่วยสอบสวนไทม์ไลน์ของผู้ป่วย

ข้อมูลผู้ใช้งาน 
▪️ ข้อมูลประวัติการเช็กอินของเรา จะถูกลบอัตโนมัติทุก 60 วัน

"หมอชนะ"

ใช้งาน
▪️ “แอปพลิเคชัน” ตรวจสอบพิกัดของเราจาก GPS และ Bluetooth เพื่อประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่เราอยู่
▪️ เก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของเราหากมีอนุญาตให้แอปเข้าถึง GPS และ Bluetooth
▪️ Track ไทม์ไลน์การเดินทางของผู้ใช้งาน (ไม่รู้หรอก ว่า มือถือเครื่องนี้เป็นใคร) 
▪️ มีแบบสอบถามช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งานเบื้องต้น

การแจ้งเตือน
▪️ มีข้อความแจ้งเตือนผ่านแอป ถ้ามีผู้ป่วยโควิด 19 เคยมาอยู่ในพื้นที่ที่เราเคยไป
▪️ ต้องเปิดให้มีการเข้าถึง GPS ได้ตลอดเวลา แอปถึงจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ

ข้อดี 
▪️ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบไทม์ไลน์ของผู้ป่วยและประชาชนกลุ่มเสี่ยง
▪️ ประหยัดเวลาในการสอบสวนโรค - หยุดการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น
▪️ คิวอาร์โค้ด  “เขียว ส้ม แดง” เตือนผู้ใช้งาน - ร้านค้า - เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
▪️ อุตสาหกรรมโรงงาน ใช้ช่วยมีบันทึกไทม์ไลน์ของพนักงาน ยับยั้งการแพร่เชื้อได้ทันท่วงที

ข้อมูลผู้ใช้งาน
▪️ ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ และจะมีการลบออกโดยอัตโนมัติเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด

สรุปง่ายๆ ก็คือ “ไทยชนะ” - เป็นระบบลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานในพื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพียงผู้เดียว เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามข้อมูลและกักโรคได้อย่างรวดเร็ว ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี และง่ายต่อการสแกน QR Code เช็กอิน เช็กเอาท์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลากรแพทย์ในการสอบสวนไทม์ไลน์ของผู้ป่วย

ส่วนแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อพบว่าผู้ใช้งานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็จะส่งข้อความแนะแนวทางปฏิบัติตัวมายังแอปพลิเคชัน ข้อความจะระบุให้กักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือหากมีความเสี่ยงสูงก็จะให้โทรติดต่อไปที่กรมควบคุมโรคเพื่อเข้ารับการรักษา

สำหรับข้อมูลผู้ใช้งานในหมอชนะจะมีเพียงไทม์ไลน์การเดินทางของผู้ใช้งานและภาพถ่ายเท่านั้น  โดยผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลจะมีเพียงกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะมีหน้าที่พัฒนาแอปพลิเคชันและประมวลผลข้อมูล

“คิวอาร์โค้ดสามสีของแอปฯ หมอชนะ คือ “เขียว ส้ม แดง” จะแบ่งตามความเสี่ยง นอกจากจะใช้เตือนผู้ใช้งานเมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแล้ว อีกนัยหนึ่งยังมีประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งร้านค้าที่สามารถสแกนตรวจสอบผู้ใช้บริการได้ว่า เป็นบุคคลเสี่ยงหรือไม่ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานถือว่ามีประโยชน์สำหรับบันทึกไทม์ไลน์ของพนักงาน เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อได้ทันท่วงที

ใช้ "ไทยชนะ" หรือ "หมอชนะ" ดีกว่า ?


บอกเลยว่าคำตอบ คือ “ควรใช้ทั้ง 2 รูปแบบ” ไทยชนะ จะทำให้ตรวจสอบได้ว่าเราเข้าใช้หรือกลับออกจากห้าง ร้าน แห่งไหน ช่วงเวลาใด ง่ายต่อการแจ้งและติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งอยู่ในสถานที่และช่วงเวลาเดียวกัน ส่วน หมอชนะ จะเป็นตัวช่วยบันทึกการเดินทางที่เห็นตำแหน่งได้แม่นยำ

ทั้ง 2 แอปพลิเคชัน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวผู้ใช้งาน และสามารถอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ถ้ามี Smart Phone ก็แนะนำให้ดาวน์โหลดอย่าลังเล  ดาวน์โหลดฟรี มีทั้ง iOS และ Android เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาปลอดภัย ห่างไกลจากโควิด19 ได้อีกครั้ง 

ติดต่อโฆษณา!