05 พฤศจิกายน 2566
1,635
จิตเวชเด็ก สิ่งแวดล้อมหรือตัวบุคคลมีผลกับเด็กวัยรุ่น
จิตเวชเด็ก เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคม หลังจากเกิดข่าวใหญ่ที่เด็กชายคนหนึ่งก่ออาชญากรรมในห้างสรรพสินค้า
รศ. นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน ขณะที่นักจิตเวชมีไม่เพียงพอ โดยสามารถผลิตได้เพียงทีละ 22 คน
ทั้งนี้ นักเรียนคณะแพทยศาสตร์ ใช้เวลาในการเรียน 6 ปี แต่การเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาจิตเวชศาสตร์ จะต้องใช้เวลาเรียนและฝึกอบรมเพิ่มอีก 4 ปี โดย นักเรียนแพทย์ส่วนใหญเมื่อจบออกมาก็มักจะทำงานใช้ทุนก่อนอีกด้วย จึงนับเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนบุคลากรในปัจจุบัน
จากการสำรวจทั่วโลกพบว่าอาการจิตเวชในเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำร้ายตัวเอง รวมทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรง
▪️ สาเหตุของปัญหา
1. มาจากปัจจัยพื้นฐาน ของแต่ละคนที่เกิดมาไม่เท่ากัน เช่น สติปัญญา เชาวน์ปัญญา ภาวะอารมณ์
2. มาจากการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา การเลี้ยงเด็กให้ดี ต้องอาศัย พ่อ แม่ ที่มีสุขภาพจิตดีตามสมควรอีกด้วย ปัจจุบัน พ่อ-แม่ มีหลายแบบ ตั้งแต่ พ่อ-แม่ วัยรุ่น ไม่มีความพร้อม ตลอดจน พ่อ-แม่ที่มีความพร้อมมาก เลี้ยงดูสมบูรณ์ คาดหวังในตัวเด็กมากเกินไป นอกจากนี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวปัจจุบัน มีแนวโน้มมีปัญหาเยอะขึ้น แยกทางกันมากขึ้น และเด็กไม่ได้อยู่ร่วมกับพ่อ - แม่ เป็นต้น
3. ปัจจัยทางสังคม มีการแข่งขันสูง มีการคาดหวังกับเด็กเยอะ เด็กปัจจุบันก็ได้รับอิทธิพลจากภาวะแวดล้อมที่ว่าจะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ทำให้กดดันตัวเอง
4. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ความผูกพันธุ์ระหว่างเด็กและพ่อ - แม่ลดลง ขณะที่มีการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายทำให้เกิด ปัญหา และความเสี่ยงได้ เช่นการเข้าถึงข้อมูลที่มีความรุนแรง ข้อมูลด้านทางเพศ เป็นต้น
สังคมที่มีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เด็กชินชาต่อการใช้ความรุนแรง และสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหล่อหลอมให้เด็กในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการของคน และการจัดการกับความเครียด สุขภาพจิต ด้านอารมณ์ และพฤติกรรม มากขึ้น
▪️ เด็กติดเกมส์
กรณีเด็กอายุ 14 ปีกราดยิงคนในห้าง หลายคนพุ่งเป้าไปที่ครอบครัว และการติดเกมส์ ซึ่งจริงๆแล้ว การติดเกมส์มีผลต่อพฤติกรรมและความรุนแรงขนาดนั้นหรือไม่ ? รศ. นพ.ศิริไชย ระบุว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กอาจมาจากหลายปัจจัย
เกมส์ มีผลวิเคราะห์ วิจัย ทั่วโลกจำนวนมากยืนยันตรงกันว่า การเล่นเกมส์ที่มีความรุนแรง ทำให้เด็กและวัยรุ่นมีความก้าวร้าวมากขึ้น รวมถึงความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ลดน้อยลงด้วย
แต่อาจมีคนโต้แย้งว่า เด็กหลายคนที่เล่นเกมส์ ก็ไม่ได้แสดงอาการก้าวร้าว รุนแรงออกมา ซึ่งในเรื่องนี้ต้องอธิบายว่า ทุกอย่างมันประกอบด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่บ่มเพาะให้เด็กค่อยๆ สะสมความรุนแรง เมื่อประกอบเข้าด้วยกันหลาย ๆ ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา
ดังนั้นพ่อ - แม่ ปัจจุบัน ต้องมีความรู้เท่าทันเรื่องต่างๆ ทั้งเกมส์ เทคโนโลยี การใช้สื่อต่างๆ และต้องรับมือและหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ
ถ้าหากเราไม่ต้องการให้เด็กเล่นเกมส์เยอะ ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า คนทั่วไปเล่นเกมส์เพื่ออะไร ก็เพื่อความสนุก และต้องการเอาชนะ ซึ่งหมายถึงประสบความสำเร็จได้เมื่อชนะ ซึ่งในชีวิตจริงอาจจะทำไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะเล่นแล้วติดได้ง่าย เพราะว่าเวลาเล่นแล้วชนะ ก็จะภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเราก็เก่ง เช่นกัน
ถ้าพ่อแม่ เข้าใจว่า การเล่นเกมส์เป็นความสุข และเด็กรู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จ พ่อแม่ก็ต้องหาสิ่งอื่น เช่น เล่นดนตรี วาดภาพ เล่นกีฬา มาเสริมสามารถและค่อยๆ เดินทางไปจนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัล ก็เป็นการใช้เวลาว่างที่มีคุณค่า และเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ เด็กก็จะภูมิใจกับมันจริง ๆ มากกว่าการได้รางวัลในเกมส์ เด็กก็จะมีเวลากับเกมส์น้อยลง หรือไม่ติดเกมในที่สุด
ปัจจุบันการเรียนก็มีการแข่งขันสูง พ่อแม่ก็ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียน ซึ่งก็จะมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ทำได้ดี มีความสุขกับการเรียน เป็นกลุ่มที่เก่งหน่อย เพราะฉะนั้นเด็กส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าเราด้อยกว่า ไม่มีอะไรดี ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการเรียนเพียงอย่างเดียว
▪️ ปัจจัยบางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ไม่ได้
กรณีแก้ไม่ได้ เช่น การที่เด็กเกิดมา และมียีนติดตัวมา มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงและมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ โดยปัจจุบันมีการศึกษาออกมาชัดเจนแล้วว่า คนบางคนมียีนที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือเสี่ยงต่อการกระทำเหตุรุนแรง สิ่งประกอบสำคัญคือการเลี้ยงดู ที่ลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้ ต้องอาศัยพ่อ - แม่ที่มีความรู้ ใส่ใจลูกอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสมทางอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของพ่อ - แม่ แต่ในบางประเทศสามารถทำได้ เช่น จีน โดยอาศัยอำนาจกระทรวงด้านเทคโนโลยี ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ได้
▪️ เรื่องนี้ จริงมั้ย ?
1. เด็กที่เอาแต่ใจ โตมาจะเป็นคนเห็นแก่ตัว จริงมั้ย ?
คำตอบ: “เป็นเรื่องจริง” เป็นเด็กที่ พ่อแม่ตามใจ มีความเคยชิน อะไรที่อยากได้ ต้องได้ ก็จะไม่รู้ว่าคนอื่นมีความรู้สึกอย่างไร
2. สื่อโซเชียลทำให้เด็กในยุคนี้อารมณ์รุนแรงขึ้นจริงหรือไม่ ?
คำตอบ: “จริง”แม้แต่รายการละครสมัยก่อน ก็ยังมีส่วน แต่สมัยนี้ทุกอย่างไม่มีการ Sensor เข้าถึงง่าย ทำให้ไม่มีการคัดกรอง
▪️ สายด่วน สุขภาพจิต
สายด่วน 1323 รับเรื่องร้องทุกข์ในกรณีการพบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือความต้องการปรึกษาด้านสุขภาพจิต นักจิตวิทยาสามารถประเมินจากการพูดคุยกับผู้ป่วยได้ โดนเฉพาะอาการโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น
ในปี 2565 มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 2564 ปัญหาอันดับแรกมาจากเรื่องความสัมพันธ์ อันดับสอง มาจากปัญหาสุขภาพ ตามด้วยปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาเศรษฐกิจ
กลุ่มที่ฆ่าตัวตายสูงสุดคือช่วงอายุ 15 - 34 ปี และกลุ่มเด็กอายุ 13 - 17 ปี มีความคิดจะตัวตายสูงถึง 17.6% และเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น
เด็กที่ซึมเศร้าอายุลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบจาก 10 ปีที่แล้ว จากมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันลงไปถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 4 นอกจากนี้พบว่าที่เคยลงมือฆ่าตัวตายจาก 1.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 6% เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“ปัญหาเด็กและวัยรุ่นน่าเป็นห่วงจริง ๆ ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ลงมือทำอะไร มัวแต่โทษกันไปมา ถ้าไม่แก้ปัญหาจริงจังแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก” รศ.นพ.ศิริไชย ระบุ
พ่อแม่ต้องสังเกตลูกของตนเอง ถ้าลูกเป็นคนร่าเริง กลับดูเงียบ ไม่ค่อยคุย สีหน้าท่าทางจากเคยยิ้มแย้ม ก็ไม่มีความสุข คิดลบ มองตัวเองไม่มีค่า คิดเรื่องความตาย หรือเด็กที่ผลการเรียนลดลง และเริ่มเสพสารเสพติด ต้องนำลูกไปพบจิตแพทย์
การช่วยเด็กซึมเศร้าต้องอาศัยความเข้าใจ เด็กก็ซึมเศร้าได้ และเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน ต้องพยายามประเมินสาเหตุ ว่ามาจากความกดดัน หรือความรุนแรง ซึ่งบางครั้งสาเหตุอาจมาจากพ่อแม่ ซึ่งต้องปรับจากต้นตอสาเหตุด้วย
▪️ การบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียน ส่งผลต่อการฆ่าตัวตาย และซึมเศร้า
ที่พบมากที่สุด คือการตบหัว ล้อพ่อแม่ พูดจาเหยียดหนาม ดูถูก นินทา การบูลลี่ทางไซเบอร์
การบูลลี่ เป็นปัญหาที่แก้ยาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา โรงเรียนต้องสอนเด็กให้รู้จัก ผิด - ชอบ - ชั่ว - ดี และต้องแก้ในระดับสังคมด้วย ละครก็ควรลดฉากที่มีการ บูลลี่ออกไป ไม่สร้างความรุนแรงในสังคม เป็นต้น
▪️ คลั่งผอม
เด็กและวัยรุ่นในปัจจุบัน มีมุมมองเรื่องรูปร่างของตัวเองผิดไป ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำหนักตัว จากผลวิจัยเด็กในกรุงเทพมหานครพบว่า เด็กที่น้ำหนักตัวปกติ ประมาณ 30% มองว่าตัวเองอ้วนเกินไป กลุ่มนี้พยายามลดความอ้วน ส่วนเด็กที่น้ำหนักน้อยอยู่แล้ว ประมาณ 10% มองว่าตัวเองอ้วนเกินไป
ทำให้เด็กเหล่านี้กังวลและควบคุมน้ำหนัก ทำให้ป่วยเป็นโรค Anorexia (อะนอเร็กเซีย) หรือโรค “คลั่งผอม” กลัวอ้วน ลดจนน้ำหนักต่ำกว่ามารตฐานจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น หัวใจเต้นช้าลง ความดันต่ำลง สมองความคิดความจำแย่ลง แต่ก็ยังพยายามลดน้ำหนักต่อไป โรคนี้มาจากความไม่มั่นใจในตนเอง มาจากการเลี้ยงดูและค่านิยมในสังคม เด็กเหล่านี้ก็มีความทุกข์ มีความเครียด มีแนวโน้มใช้สารเสพติด
การรักษาโรคคลั่งผอมดีขึ้นกว่าอดีต จากเมื่อก่อนนี้เคยเสียชีวิต 5 - 10% ปัจจุบันไม่ค่อยมีการเสียชีวิต จาก Anorexia แล้ว เพราะคนมีความรู้เยอะขึ้น สมัยก่อนบางคนปล่อยผอมจนหัวใจหยุดเต้น