18 พฤศจิกายน 2566
1,043
เด็กร้องดิ้นอาละวาด ปัญหาที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ
หลายคนคงจะเคยได้ยินมาว่าเด็กเล็กอายุ 1 - 3 ปี มักจะถูกเรียกว่าเป็น “วัยต่อต้าน” บางครั้งอาจทำให้ผู้ปกครองโกรธหรืออับอายได้ เพราะมักจะเห็นเด็กแสดงอาการ กรีดร้อง อาละวาด แผดเสียง กระทืบเท้าไปมา ในที่สาธารณะบ้าง
อาการเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาที่ปกติของเด็ก การเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง และไม่ง่ายนักที่จะจัดการ แต่การเลี้ยงดูโดยใช้ความรัก ความเข้าใจกับเด็กจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป
ผศ. นพ.ศิวดล วงค์ศักดิ์ ภาควิชาออโธปิดิกส์ และ อ. พญ.กนกวรรณ ชูโชติถาวร สาขาวิชาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นำคำแนะนำดี ๆ ฝากถึงผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กในช่วงวัยนี้ เรามาติดตามกันเลย
▪️ สาเหตุที่เด็กกรีดร้องอาละวาดมาจากอะไร ?
เด็กช่วงวัย 1 - 4 ปี มักจะเห็นการร้องดิ้น อาละวาด ขว้างปาสิ่งของ ทำร้ายตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพัฒนาการตามวัยตามปกติ
ช่วงวัย 2 ปี กำลังสร้างความต้องการของตนเอง แต่การใช้ภาษาของเด็กวัยนี้ยังจำกัดอยู่ ไม่สามารถใช้ภาษาในการสื่อสารกับพ่อแม่หรือคนรอบข้างได้มากนัก จึงแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้องดิ้น อาละวาด หรือขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น
1. ถ้าเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการ การควบคุมอารมณ์อาจไม่ดีนัก พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็จะมากขึ้น
2. สิ่งที่เด็กที่ติดตัวมา ลักษณะพื้นอารมณ์ของเด็ก บางคนเป็นเด็กเลี้ยงยาก หรือ ถูกกระตุ้นได้ง่าย ก็จะหงุดหงิดง่าย เด็กจะอาละวาดง่ายขึ้น
3. ความเจ็บป่วยทางกาย เช่น หูชั้นกลางอักเสบ นอนไม่พอ ทำให้ง่วงหลับช่วงกลางวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความหงุดหงิด
4. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยากันชัก ก็กระตุ้นให้อาละวาดง่ายขึ้น
5. การเลี้ยงดู เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อเด็กหงุดหงิดแล้วใช้วิธีตีเด็ก เด็กจะเรียนรู้ การใช้ความรุนแรง และเลียนแบบแสดงพฤติกรรมจากผู้ปกครอง ทำให้อาละวาดเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเราต้องรู้ว่า เด็กอารมณ์ไม่ดีมาจากสาเหตุอะไร ก็ไปแก้จากสาเหตุนั้น จะทำให้เด็กสงบขึ้นได้ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
▪️ ร้องดิ้นอาละวาด จัดการอย่างไร
เมื่อเด็กมีอาการ เราสามารถใช้วิธีเหล่านี้
1. เพิกเฉย
2. เบี่ยงความสนใจ
3. สะท้อนอารมณ์
4. จับหยุดเมื่อพฤติกรรมรุนแรง
5. เมื่อสงบลงให้ทำกิจกรรมได้ตามปกติ
▪️ การป้องกัน การร้องดิ้นอาละวาด
1. หาสาเหตุและปัจจัย ถ้าเป็นปัญหาด้านพัฒนาการ ต้องนำเด็กมาพบแพทย์
2. จัดตารางกิจกรรมประจำวันที่ชัดเจน เพื่อเด็กจะได้รู้ในสิ่งที่เขาจะได้ทำ
3. ให้โอกาสเลือกในตัวเลือกที่กำหนด โดยเฉพาะเด็กที่มีความเป็นตัวเองสูง ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองในสิ่งที่ พ่อแม่กำหนดให้
4. สอนให้บอกความรู้สึกด้วยคำพูด
5. มีเวลาคุณภาพให้กับเด็ก พ่อแม่ต้องมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกันเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พ่อแม่ พูดชมเด็กบ้าง เพื่อให้เด็กมีความภูมิใจในการที่จะควบคุมอารมณ์ตนเอง
พฤติกรรม ร้องดิ้น อาละวาด จะค่อย ๆ ลดลงหลังอายุ 3 ขวบ และค่อยๆ หายไปช่วงอายุ 4 ขวบ กรณีที่อายุเกิน 4 ขวบแล้วยังเป็นอยู่ พฤติกรรมร้องดิ้น อาละวาด ลากยาวหลายชั่วโมง หรือเป็นวันละหลายครั้ง ก็ควรนำเด็กมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ผิดปกติ
บางครั้งเด็กก็สามารถเรียนรู้อารมณ์ลบได้บ้าง เช่น รู้สึกเสียใจก็ให้ร้องไห้ออกมา แต่ พ่อแม่ ก็ควรปลอบประโลมและให้คำแนะนำที่ดี เช่น เมื่อเสียใจก็ร้องไห้ได้ แต่ไม่ควร อาละวาด ขว้างปาสิ่งของ หรือ เมื่อสงบลงก็ชวนกินขนมที่ชอบ ทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป
▪️ เด็กร้องดิ้นอาละวาดที่โรงเรียน ต้องทำอย่างไร
ส่วนใหญ่เมื่อเด็ก เข้าสู่ระบบการศึกษา หรือไปโรงเรียน ถ้าเป็นเด็กเล็ก มักจะไม่ได้เรียนวิชาการมาก เวลาส่วนใหญ่จะเป็นการทำกิจกรรม คุณครูจะมีวิธีการรีบมือที่ดี เบี่ยงเบนความสนใจ หรือให้เล่นของเล่นที่เด็กชอบ จะทำให้เด็กผ่อนคลายและเล่นกับเพื่อน ๆ ต่อไปได้
▪️ การเพิ่มความสูงในเด็ก ทำได้อย่างไรบ้าง
ปัจจัยความสูงมาจากพันธุกรรมเป็นหลัก แต่องค์ประกอบที่จะช่วยให้ความสูงในเด็กมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่ควรจะเป็นคือ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพราะ GROWTH HORMONE (โกรทฮอร์โมน) เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตในเด็ก ช่วยเพิ่มความสูงและทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขยายขนาดเพื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ GROWTH HORMONE จะหลั่งออกมาในช่วงที่นอนหลับ
การกินอาหารที่มีแคลเชียมสูง เช่น นม อาจจะดื่ม 4 กล่องต่อวันหรือ 1,000 มิลลิกรัม และการเล่นกีฬาที่มีการกระโดด ซึ่งทำให้ข้อต่อกระดูกยืดได้มากขึ้น
รับชมเพิ่มเติมได้ที่: https://youtu.be/dcH7rTRMs4Q?si=nbz0NbtoE8uPVG9I