04 ธันวาคม 2566
1,513

Stay Healthy Special ! by RAMA Channel วันเอดส์โลก


องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี คือวันเอดส์โลก โดยปีนี้เป็นปีที่ 35 เครือข่ายชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงพลังและสร้างความตระหนักในโรคเอดส์ และ เชื้อ HIV ที่อยู่กับเรามายาวนาน 

โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันเอดส์โลก ที่บริเวณลานกิจกรรม อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ร่วมกับรายการ Stay Healthy Special by RAMA Channel โดยได้รับเกียรติจาก ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสนับสนุนพันธกิจและสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พิธีกรร่วมกับคุณแพท ณปภา ตันตระกูล

อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ พญ.ลลาวรรณ์ พินิจทรัพย์สิน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับ โรคติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ในครั้งนี้ 


20231204-a-01.jpg


▪️ เอชไอวี คืออะไร โรคเอดส์ คืออะไร ต่างกันอย่างไร

HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือ เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การเป็นโรคเอดส์จะมาจากการติดเชื้อไวรัสก่อนแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องและป่วยในที่สุด เช่น ติดเชื้อราในปอด เชื้อราขึ้นหัว เป็นต้น 


20231204-a-02.jpg

▪️ การติดเชื้อ HIV  มีความเป็นมาอย่างไร

การติดเชื้อ HIV ติดได้หลายทาง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด  น้ำเหลือง น้ำอสุจิ  น้ำในช่องคลอด ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น 

การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ เช่น  เข็มตำ มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น

การติดต่อจากแม่สู่ลูก  ทั้งระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ แนะนำให้ทั้งสามี และภรรยามาตรวจพร้อมกันเพื่อป้องกันการติดต่อ 

การรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน การปลูกถ่ายอวัยวะ  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน 


20231204-a-03.jpg

▪️ ระยะของการติดเชื้อ HIV 

การติดเชื้อ มี 4 ระยะ คือ ระยะฉับพลัน ระยะไม่มีอาการ ระยะเริ่มมีอาการ ระยะเอดส์

1. ระยะฉับพลัน  ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น  เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เป็นแล้วหายไปได้เอง คล้ายอาการไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น  

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อ HIV จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (Carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อ HIV จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่รับการรักษา ระดับ CD4 ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จะทำให้ป่วยเป็นเอดส์ได้

3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ  ผู้ป่วยอาจมีการเจ็บป่วยนานนับเดือน อาจมีอาการที่ปรากฏให้เห็น เช่น ฝ้าขาวข้างลิ้น  โรคเชื้อราที่เล็บ แผลร้อนในช่องปาก ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ในระยะนี้มากที่สุด 

4. ระยะเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้ว มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างอื่น 


20231204-a-04.jpg


▪️ การวินิจฉัยโรค ทำอย่างไร ตรวจเลือด ตรวจน้ำลาย ตรวจเองได้หรือไม่

ปัจจุบันนี้การวินิจฉัยโรคทำได้หลายแบบ และสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง โดยรับชุดตรวจไปตรวจเองได้  โดยการตรวจเลือดจากการหยดจากนิ้วมือ หรือ กระพุ้งแก้ม โดยไม่ต้องตรวจเลือดดำ อย่างไรก็ตาม ควรมาตรวจซ้ำที่โรงพยาบาล โดยรับการตรวจฟรี 

20231204-a-05.jpg



▪️ การรักษาการติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์

การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV แพทย์จะจัดยาต้านไวรัส ซึ่งมีชนิดเม็ดเพื่อความสะดวกในการกินยา เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรค ต้องกินยาทุกวันและตรงเวลา และต้องในกินตลอดชีวิต ในอนาคตอาจจะยาชนิดที่สามารถเว้นระยะห่างได้มากขึ้น  เช่นสัปดาห์ละครั้ง หรือฉีดยา 6 เดือนครั้ง มาโรงพยาบาลน้อยลง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา ต้องติดตามกันต่อไป 


▪️ ถาม - ตอบ ปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์ 

โดย รศ. พญ.อังสนา ภู่เผือกรัตน์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ นพ.วศิน จัตุโพธิ์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์  ร่วมกับ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสนับสนุนพันธกิจและสื่อสารองค์กร


20231204-a-08.jpg

1. โรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี คืออะไร
เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV  ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสติดเชื้อเหล่านี้ ซึ่งการติดเชื้อฉวยโอกาสในกลุ่มนี้มักจะไม่เจอในคนไข้ทั่ว ๆ ไป มักจะเจอเฉพาะในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ติดเชื้อ HIV จะเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะดูจากเซล CD 4 ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรค ถ้าสูงกว่า 200 - 300 ขึ้นไป ก็จะแข็งแรงดีไม่มีปัญหา แต่ถ้าเริ่มต่ำลงมา เช่น ต่ำกว่า 200 อาจจะติดเชื้อราในปอด และถ้าต่ำกว่า 100 ก็อาจจะติดเชื้อราในสมอง ถ้าต่ำกว่า 50 จะมี CMV ที่ตา เป็นต้น


20231204-a-07.jpg

2. ทำไมผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ห้ามเก็บอุจจาระแมว 

สาเหตุ: เนื่องจาก ในอุจจาระแมวมีเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii 

การติดเชื้อ: กินเชื้อปรสิตที่ปนมากับอุจจาระแมว, รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก

อาการ: มีอาการของการติดเชื้อในสมองหรือกล้ามเนื้ออักเสบ

เชื้อที่อยู่ในอุจจาระแมวสามารถเจริญเติบโตแพร่กระจายได้ดีกว่าสัตว์เลี้ยงอื่น มีเชื้อเยอะปนเปื้อนอยู่ในน้ำในพืชผัก ถ้าใครสัมผัสมีโอกาสรับเชื้อได้ แมวเป็นแหล่งที่เชื้อเจริญเติบโตและพัฒนาได้ดีที่สุด 

วัณโรค เป็นโรคฉวยโอกาส  อีกโรคที่มักพบกับผู้ป่วย HIV โดยอาการจะมีไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเหงื่อออกตอนกลางคืน

โรคปอดอักเสบ จากเชื้อรา จะเจอจากคนที่ CD4 น้อยกว่า 200  มักจะมีไข้ เหนื่อยง่าย ไอแห้ง 

โรคเชื้อราจากนกพิราบ อาการ จะมีไข้ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด มีปัญหาทางการมองเห็น เชื้อขึ้นสมอง อาจเป็นไข้ หมดสติ 


▪️ HIV ติดต่อทางไหนได้บ้าง 

โดย อ. พญ.พรพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ. พญ.พรรณระพี ศรีชมพู แพทย์ประจำบ้าน สาขาวิชาวิชาโรคติดเชื้อ ร่วมให้ความรู้และคำแนะนำดังนี้ 

เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้ จากแม่สู่ลูก, มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ, การสัมผัสเลือด หรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ และการรับเลือด 


▪️ HIV ป้องกันได้หรือไม่ ทำวิธีใดได้บ้าง 

การป้องกันจากแม่สู่ลูกต้องพยายามหลีกเลี่ยงโดยการงดให้น้ำนมลูก, การป้องกันการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ ทำได้โดยการใช้ถุงยางอนามัย, ใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ HIV (PreP), ใช้ยาหลังสัมผัสเชื้อ HIV (PEP), การใช้เข็มฉีดยาสะอาด


20231204-a-06.jpg

▪️ PrEP และ PEP ต่างกันอย่างไร 

สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี, PreP คือยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ โดยการกินทุกวัน วันละ 1 เม็ด ตรงเวลาทุกวัน เป็นยารวมเม็ด หรือ On demand สมมุติ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ต้องกินยาล่วงหน้า 1 วัน และหลังมีเพศสัมพันธ์กินยาต่ออีก 2 วัน 

PEP (Post -exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยยับยั้งเชื้อ ไม่ให้แบ่งตัว ใช้หลังสัมผัสเชื้อ HIV กินทันทีหลังจากสัมผัสเชื้อ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง กินต่อเนื่องนาน 28 วัน เช่น กรณีถุงยางแตก และไม่มั่นใจในคู่ว่ามีความเสี่ยง HIV หรือไม่ หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ถูกเข็มตำ 


▪️ นพ.ธีระพงศ์ รัตนเรืองทรัพย์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาวิชาโรคติดต่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้แบ่ง PEP ออกเป็น 2 ชนิดคือ

1. การกินยาป้องกันการติดชื้อเอชไอวี ในบุคลากรทางสาธารณสุข หรือ OPEP เช่น กรณีที่ เข็มตำ โดนสารคัดหลั่ง หรือเลือดผู้ป่วยกระเด็นเข้าตา เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจจะสอบถามรายละเอียดย้อนหลังเกี่ยวกับช่วงเวลา ในการสัมผัส เพื่อประเมินความเสี่ยง

เมื่อถูกสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา ต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ แจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ เพื่อจะได้ประสานงาน พบแพทย์เพื่อประเมิน และจัดยาทาน และประเมินผลเลือด ในช่วง 1 เดือน และ 3 เดือน

2. การติดเชื้อของประชาชนทั่วไป  หรือ NPEP ส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ ซึ่งแพทย์อาจต้องสอบถามรายเอียด ถึงวันเวลา ที่มีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อประเมินการรักษา

หัวใจหลักของการรักษา คือการให้ยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง  เพราะเชื้อจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจะต้องยับยั้งโดยเร็วที่สุด การกินยา จะต้องกินนาน ต่อเนื่อง 28 วัน วันละครั้ง เป็นยาเม็ดรวม 

รศ. พญ.ดรุณี โชติประสิทธิ์สกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีประชาชนทั่วไป ถ้าหากไม่มั่นใจในคู่ครองหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็ควรตรวจตรวจเลือด หากพบติดเชื้อก็รีบรักษาให้เร็วที่สุด เมื่อทานยาครบ 28 วัน ก็มาตรวจเลือดซ้ำอีกที ในช่วง 1 เดือน และ 3 เดือน หลังกินยา จากการสำรวจผู้ติดเชื้อ HIV ช่วงแรก ๆ มีร่างกายที่แข็งแรง และดำเนินกิจกรรมในชีวิตได้ตามปกติ 


▪️ การดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้สูงอายุ 

รศ. นพ.พอพล โรจนพันธุ์ และ ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้สูงวัย ก็พบผู้ติดเชื้อเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นการรักษาต่อเนื่องจากในอดีต  และเจอผู้ป่วยรายใหม่บ้างประปราย ในกลุ่มนี้จะมีอาการและการดำเนินโรคเร็วและรุนแรงมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว 

หลายคนมีโรคประจำตัวเป็นทุนเดิม เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ทำให้การรักษายากขึ้น แพทย์ต้องดูแลใกล้ชิด การดูแลรักษา จะควบคู่ไปกับโรคประจำตัว 


▪️ วัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV และโรคฉวยโอกาส

สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV อาจจะต้องหลีกเลี่ยงวัคซีนจากเชื้อเป็น ส่วนวัคซีนเชื้อตายก็อาจไม่มีผลอะไร เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ก็ฉีดได้ตามปกติ รวมทั้งวัคซีนอื่น ๆ เช่นไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค เป็นต้น ถ้าหากผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงและมีการควบคุมการติดเชื้อที่ดี 

ทีมสหวิชาชีพ เช่น เภสัชกร หรือ ญาติผู้ป่วยเอง ก็มีส่วนจำเป็นในการเข้ามาดูแลผู้ป่วยกเมื่ออายุมากขึ้น เพราะอาจมียาหลายรายการ มีปัญหาทางสายตา หรือาการหลงลืม เป็นต้น 

▪️ ติดเชื้อ HIV ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้ตามปกติ 

โดยสรุป เมื่อรู้ตัว หรือมีความเสี่ยงว่าติดเชื้อ HIV ก็ต้องเข้ารับการรักษา เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ การรักษาวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันดีขึ้นกว่าอดีตมาก สามารถควบคุมโรค ให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ สังคมรอบข้างก็ไม่ควรตีตราผู้ป่วย เพราะอาจเกิดจากความผิดพลาดในช่วงหนึ่งของชีวิตในอดีต 


วันเอดส์โลก 1 ธันวาคมของทุกปี ทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ก็ยังคงต้องตระหนัก เพราะโรคนี้ยังคงอยู่ และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ









ติดต่อโฆษณา!