07 มกราคม 2567
1,221

รู้ทัน "อุบัติเหตุ" ป้องกันได้ อุ่นใจกว่า



คนส่วนมากอาจคิดว่าอุบัติเหตุจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้กับตนเอง ถ้าหากเราเพียงแค่มีความระมัดระวังที่มากพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้เราจะระมัดระวังแล้ว หรือ เรามองว่าอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม เพราะอุบัติเหตุก็อาจจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลอื่นที่อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุต่อตัวเราเองก็ได้  เพราะฉะนั้นนอกจากการระมัดระวังหรือการป้องกันตัวเองแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมในการรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน 


การเรียนรู้เรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด โดยทั่วไปการปฐมพยาบาล จะมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ

  • เพื่อช่วยชีวิต
  • เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย
  • เพื่อทำให้บรรเทาความเจ็บปวดทรมาน 
  • เพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาล

ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต้องมีสติ และตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยสามารถปฏิบัติตามหลักต่างๆ ดังนี้


  • เมื่อพบผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ต้องรีบช่วยเหลือทันที ยกเว้นในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ ให้ย้ายผู้ป่วยออกมาในที่ปลอดภัยก่อนจึงดำเนินการช่วยเหลือ
  • ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีที่จะมีอันตรายต่อชีวิตโดยเร่งด่วนก่อน
  • หลีกเลี่ยงกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ป่วยมีอากาศปลอดโปร่ง มีแสงสว่าง และมีบริเวณกว้างขวางเพียงพอในการปฐมพยาบาลด้วย
  • จัดให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่าที่เหมาะสมและไม่เพิ่มอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บด้วย 
  • สังเกตอาการต่างๆ ของผู้บาดเจ็บ และให้การช่วยเหลืออย่างมีสติ 
  • บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ อาการ ลักษณะของผู้บาดเจ็บเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ได้ทำลงไป พร้อมทั้งนำติดตัวไปกับผู้บาดเจ็บเสมอเพื่อประโยชน์ในการรักษา
  • อย่าทำการรักษาด้วยตนเอง ให้เพียงการปฐมพยาบาลเท่าที่จำเป็นอย่างถูกต้อง แล้วนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที

คำแนะนำสำหรับการ ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น ในกรณีต่าง ๆ เช่น 

กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบ บนพื้นที่ที่มีความปลอดภัย พร้อมปั๊มหัวใจ หรือ การทำ CPR เรียกผู้ป่วยด้วยการตบบ่าทั้ง 2 ข้าง พร้อมเรียกชื่อ สังเกตอาการตอบสนอง พร้อมโทรแจ้ง 1669 และขอเครื่อง AED  หลังจากนั้นประเมินการหายใจด้วยการสังเกตหน้าอกว่ามีการขยับขึ้นลงหรือไม่ หากไม่มีให้เริ่มการทำ CPR โดยควรมีผู้ช่วยในการสลับการทำ CPR ด้วย วิธีการกดหน้าอก ให้ใช้ส้นมือข้างหนึ่งวางลงบนกึ่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางทับด้านบน ใช้นิ้วมือทั้งสองข้างล็อกกันไว้แขนทั้งสองข้างเหยียดตรง ไหล่ของผู้ช่วยเหลือตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย ให้ใช้น้ำหนักจากไหล่กดลงมา แขนเหยียดตรง กดลงในแนวแรงตั้งฉากกับพื้นใช้ข้อสะโพกเป็นจุดหมุน เวลาในการกดและปล่อยมือขึ้นต้องเท่ากันในอัตราเร็วในการกดหน้าอก 100 - 120 ครั้งต่อนาที โดยทำติดต่อกันจนกว่า ผู้ประสบเหตุจะหายใจได้เอง

*คำแนะนำการทำ CPR และ การใช้เครื่อง AED สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

https://youtu.be/hoCUvqxGm9k?feature=shared 

กรณีกระดูกแตกหรือหัก ผู้ประสบเหตุจะมีอาการบวมบริเวณผิวหนัง เลือดคั่งหรืออวัยวะผิดรูป ห้ามดึงให้กระดูกกลับเข้าที่ และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ เพราะอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น คำแนะนำในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้พยุงส่วนที่บาดเจ็บไว้ในกรณีที่การช่วยเหลือมาถึงล้าช้า ถ้าแขนหักให้หาอุปกรณ์มาคล้องแขนไว้ ถ้าขาหักให้หาไม้มาแล้วใช้ผ้าพันไม้ก่อนนำมาดามขา อย่าพยายามขยับส่วนที่หักโดยไม่จำเป็น อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้

กรณีเลือดออกมาก ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบกับพื้น พร้อมยกส่วนที่เลือดออกมากให้สูงขึ้นจะช่วยให้ เลือดไหลช้าลง จากนั้นทำการห้ามเลือด โดยนำผ้าสะอาดที่ไม่เป็นขุยกดบริเวณปากแผลโดยตรง สังเกตปริมาณเลือดที่ออกเพื่อแจ้งอาการต่อเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยเหลือ 

กรณีถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก คำแนะนำเบื้องต้น คือ ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อลดอุณหภูมิประมาณ 10 นาที ถอดสิ่งต่างๆ ที่รัดออก ที่สำคัญไม่ควรใส่ตัวยาหรือสารใดๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น  เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น กรณีที่บาดแผลมีขนาดใหญ่และรุนแรงควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล


กรณีหกล้มแผลถลอก แผลลักษณะนี้จะมีผิวหนังลอกหลุด มีเลือดออกเล็กน้อย อาจมีสิ่งสกปรกที่แผล ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการติดเชื้อมีหนองได้ คำแนะนำคือ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลานานพอสมควรหรือล้างด้วยน้ำเกลือฆ่าเชื้อ ใช้ผ้าสะอาดกดแผลห้ามเลือดให้หยุดไหล ใส่ยาสำหรับแผลสด ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าสะอาด


ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยกำลังต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ตั้งสติและแจ้งเหตุผ่าน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง



รับชมวิดิโอเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/ramachannel/videos/1989681891425150/

ติดต่อโฆษณา!