One Day with นักกำหนดอาหาร
วันนี้ One Day with Me by RAMA Channel จะพาคุณมารู้จักกับ “นักโภชนาการอาหาร” หรือ “นักกำหนดอาหาร” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำดูแลสุขภาพด้านอาหารการกิน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของเราในระยะยาว
คุณกนกนันทน์ วิทยาเกษมสันต์ หรือคุณเหมียว นักวิชาการโภชนาการ งานโภชนบำบัดและโภชนศึกษา ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าให้ฟังเบื้องต้นว่า
นักโภชนาการอาหาร เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำงานคล้ายกับอาชีพทั่วไป การทำงานที่เริ่มขึ้นในช่วงเวลาเช้าของทุกวัน เป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่างเวลา 08.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 16.00 น. โดยที่คุณเหมียวจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้ป่วยด้านโภชนาการในทุก ๆ วัน ที่แผนกผู้ป่วยนอก OPD
สำหรับผู้ป่วยที่คุณหมอส่งมาจะคุยในลักษณะ Case By Case หรือตัวต่อตัว ต้องเข้าใจผู้ป่วย ละลายพฤติกรรม หรือ Ice Breaking
นักโภชนาการอาหารจะถามถึงความเป็นมาว่า ปกติผู้ป่วยกินอาหารอะไรเป็นประจำ จากนั้นจึงจะมาคำนวณดัชนีมวลกาย ประกอบกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
จากนั้นแนะนำการกินอาหารที่เหมาะสมกับภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น การควบคุมน้ำหนัก แนะนำผู้ป่วยต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของเขา เพื่อให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล
ปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินจะเป็น Stage of Change ก็จะให้ความรู้ไปเต็มที่ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทำตามนักกำหนดอาหาร 100% ก็ได้ เพียง 50 - 60% ก็พอ เมื่อค่อย ๆ ปรับไป ก็จะพบว่าผลเลือดดีขึ้น ภาวะน้ำตาลดีขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีกำลังใจที่จะทำตามคำแนะนำต่อไป
ผู้ป่วยทั่วไปมักจะเชื่อคำแนะนำและใช้ได้ผล แต่ในบางกลุ่ม เช่น วัยรุ่นหรือผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี อาจจะดื้อรั้นกว่ากลุ่มอื่น และมักจะกินตามใจตัวเอง การปรับพฤติกรรมอาจจะยากกว่ากลุ่มอื่นบ้าง
นอกจากการให้คำแนะนำผู้ป่วยแล้ว "นักกำหนดอาหาร" ยังมีหน้าที่ประเมินภาวะโภชนาการที่หมวดอายุรกรรมหญิงและชายในช่วงบ่ายทุกวันอีกด้วย
ซึ่งทางวอร์ดก็ประเมินมาระดับหนึ่งแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงภาวะขาดอาหาร ถ้ามีความเสี่ยงแล้ว จะประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ คือ
- A ไม่พบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ
- B พบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ให้นักโภชนาการทำการประเมินภาวะโภชนาการ
- C มีภาวะทุพโภชนาการรุนแรง ส่งต่อแพทย์เพื่อการดูแลทางโภชนบำบัดภายใน 24 ชั่วโมง
ซึ่งที่โรงพยาบาลก็จะปรับพฤติกรรมการกินของผู้ป่วย นักกำหนดอาหารก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกินอาหารได้เพียงพอ หรือจะปรับแบบไหน รวมทั้งการให้คำแนะนำก่อนกลับบ้านเพื่อดูแลตัวเองได้
นอกจากนี้ยังดูแลโภชนาการอาหารของผู้ป่วยในของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้กินอาหารที่เหมาะสม โดยการกำหนดส่วนผสมอาหารผู้ป่วยโรคต่าง ๆ รวมถึงอาหารเหลวที่ต้องให้ทางสายยางที่ต้องมีคุณค่าอาหารครบถ้วน และนมของเด็กทารกแรกเกิดเพื่อทดแทนนมแม่
ในส่วนนี้ นักกำหนดอาหารจะผลัดเปลี่ยนเวรกันเข้ามาดูแล โดยเริ่มตั้งแต่ 06.00 - 14.00 น.
นักกำหนดอาหาร ยังต้องคอยกำกับดูแลไลน์การปล่อยถาดอาหารให้กับผู้ป่วยสามัญ แยกประเภทอาหารรสเกลือและอาหารปรุงรสไม่ให้ปะปนกัน เนื่องจากผู้ป่วยบางคนแพ้อาหารปรุงรส และยังมีแผนกอาหารซึ่งเป็นครัวเฉพาะโรคโภชนบำบัด เช่น อาหารลดไขมัน อาหารสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ง่าย อาหารเจ อาหารมังสวิรัติ
- เคสประทับใจ
คุณเหมียวเล่าว่า มีเคสประทับใจในการดูแลผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่สามารถให้คำแนะนำผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน จนสามารถลดอาหารบางประเภทและควบคุมอาหารได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยเป็นเคสที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด – 19 และให้บริการผ่าน Telemedicine - นักโภชนาการอาหาร ขาดแคลนหรือไม่
ก็ถือว่าเป็นอีกสาขาอาชีพที่ขาดแคลนอยู่ คนที่จะทำอาชีพนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ต้องเป็นคนที่มี Service Mind เพราะนักกำหนดอาหารเป็นอาชีพที่ให้บริการทางความรู้ ต้องใจเย็น รักการบริการ ไม่ใจร้อน เพื่อรับมือกับผู้ป่วยได้ ไม่จำเป็นต้องทำอาหารได้ แต่ต้องชิมได้ รู้จักอาหารชนิดต่าง ๆ พอสมควร และต้องเรียนในสาขาอาหารและโภชนาการ ตามกองประกอบโรคศิลป์กำหนด ซึ่งจะมีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่เปิดสอนในสาขานี้ ที่สามารถรับรองการเป็นนักกำหนดอาหารได้ ซึ่งสามารถเปิดจาก พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ สาขาการกำหนดอาหารดูได้ ซึ่งสาขานี้เพิ่งขึ้นประกอบโรคศิลป์เมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้ว โดยจะมีการสอบเป็นนักกำหนดอาหาร ซึ่งมีเพียง 9 - 10 มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขานี้ - ทำอาชีพนี้แล้วมีความสุขหรือไม่
คุณเหมียวเล่าว่า ถือว่าเป็นความประทับใจและมีความสุขที่ได้ทำงานนี้ เมื่อได้ให้คำแนะนำผู้ป่วยแล้ว เขานำคำแนะนำไปปฏิบัติ ก็สามารถควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ทำให้ภาวะโรคที่เป็นอยู่ทุเลาลงไป กินอาหารได้เยอะขึ้น มีแรง สดใสขึ้น คนที่ให้คำแนะนำก็มีความสุขไปด้วย
ในฐานะที่เป็นนักกำหนดอาหาร ก็อยากให้ผู้ป่วยมีความรู้และดูแลตัวเองได้ เพราะเชื่อว่า “สุขภาพที่ดี เริ่มจากอาหาร”
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/HSJiErCnWio?si=oVXMvFbOrAGQca5m