15 มกราคม 2567
475

One Day with นักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย


การตรวจการได้ยินไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ คือ การวัดหาระดับการได้ยินเริ่มต้น การช่วยแก้ปัญหาของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นเป้าหมายในการทำงานของนักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย 

One Day with Me by RAMA Channel ในวันนี้จะพามารู้จักกับ นักวิทยาศาสตร์สื่อความหมายหรือนักแก้ไขการได้ยิน ในหนึ่งวันจะมีภารกิจอะไรบ้าง ความท้าทายคืออะไร และมีแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

คุณธนากิจ ชวยบุญชม นักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะพาเราไปสัมผัสกับการทำงานว่าพวกเขามีภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไรบ้าง

07.00 น. เพิ่มความกระฉับกระเฉงให้ตัวเองด้วยการดื่มกาแฟก่อน

การทำงานเริ่มต้นขึ้นในเวลา 08.00 น. โดยในช่วง 08.00 - 09.00 น. ของทุกวัน นักแก้ไขการได้ยินจะทำหน้าที่ในการขึ้นไปตรวจคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดบนหอผู้ป่วยใน โดยก่อนจะขึ้นไปก็จะต้องเตรียมเครื่องมือก่อน ซึ่งเป็นเครื่องมือเล็ก ๆ พกพาง่าย สามารถเคลื่อนย้ายไปบนหอผู้ป่วยได้ 

โดยเครื่องมือจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เครื่องตรวจการทำงานของหูชั้นในกับการตรวจที่ก้านสมอง การวัดการทำงานของหูชั้นใน เป็นการวัดคลื่นสะท้อน โดยการใส่เสียงเข้าไปที่ช่องหูของเด็กทารกแรกเกิด ส่วนการคัดกรองการได้ยินที่ดูการทำงานของก้านสมอง จะมีวิธีการตรวจโดยการติดอุปกรณ์บริเวณหน้าผาก แก้ม และท้ายทอย 

งานแรกของแต่ละวันคือ การตรวจคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น และในทุกโรงพยาบาลสนับสนุนให้ทำ ถ้ารู้ว่าเด็กมีปัญหาด้านการได้ยินตั้งแต่กำเนิด สามารถส่งต่อไปยังกระบวนวินิจฉัยและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินได้ 

วิธีการตรวจให้ได้ผลก็คือ เด็กทารกจะต้องเงียบ ไม่ส่งเสียงร้องขณะทำการตรวจเช็ก ถ้าพบเด็กถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมก่อน แต่ในบางสถานการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่กำลังตรวจอีกคน แต่อีกคนที่อยู่ใกล้กันส่งเสียงร้องขึ้นมา ก็ต้องไปปลอบคนที่ร้องให้เงียบลงก่อนถึงจะตรวจต่อได้ 

หลังจากเสร็จภารกิจการตรวจบนวอร์ดหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดแล้ว ก็ไปปฏิบัติหน้าที่ต่อที่แผนกผู้ป่วยนอก ในช่วงเวลา 09.00 - 10.00 น.

20240325-a-01.jpg

ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการได้ยินจะรอคิวตรวจ บางครั้งเจอสถานการณ์ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ยอมสวมเครื่องช่วยการได้ยิน โดยกลัวว่าแบตเตอรี่จะหมดไว จึงไม่ใส่ไว้ตลอดวัน ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ แบตเตอรี่ที่ถูกแกะออกมาใช้ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10 - 15 วัน

การตรวจการได้ยินไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การวัดหาระดับการได้ยินเบื้องต้นคือ เสียงที่เบาที่สุดที่หูแต่ละข้างในแต่ละความถี่ ดังนั้นก็จะไล่ระดับจากจุดเริ่มต้นที่ผู้ป่วยได้ยินดังกว่าเหนือจุดเริ่มต้นที่ได้ยิน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นเสียงนี้ จากนั้นค่อย ๆ ลดระดับลงและหาจุดเสียงที่เบาที่สุดที่ผู้ป่วยจะได้ยิน 

นักแก้ไขการได้ยินอาจจะพูดเป็นคำ ๆ และให้ผู้ป่วยพูดตาม เพื่อเช็กระดับการได้ยิน ซึ่งผลตรวจทั้งสองอย่างจะสอดคล้องกัน ในผู้ป่วยบางรายที่อาจตอบสนองไม่สอดคล้องกัน แปลว่าจะต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดปกติ นักแก้ไขการได้ยินก็จะต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้

สำหรับการตรวจการได้ยินในเด็กต้องดูอายุของเด็กที่เข้ารับบริการการตรวจด้วย โดยเด็กที่มีอายุ 3 ขวบขึ้นไป หรือเข้าใจเงื่อนไขว่า เมื่อไรที่มีเสียงให้เด็กทำกิจกรรม เช่น ให้เด็กโยนลูกบอล ยกมือ หรือพูดโต้ตอบ ว่าเด็กได้ยินเสียงหรือไม่ เช่น กรณีของเด็กชายโจเซฟ มีค่าความถี่ทางการยินที่ 30 เดซิเบล แต่มีบางจุดได้ยินที่ 25 เดซิเบล สาเหตุน่าจะเกิดจากการป่วยเป็นหวัด ภาวะการสูญเสียการได้ยินแบบนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง แต่ถ้าเป็นเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน ต้องปรึกษาแพทย์ 

การตรวจสอบการได้ยินของเด็กเป็นการออกคำสั่งให้เด็กทำตามมีหลายวิธี เช่น กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางหรือนำผ้าปิดตาไว้ เมื่อได้ยินเสียงกลองให้เปิดตาและกระโดด โดยที่เด็กไม่เห็นท่าทางของผู้ที่สัญญาณเสียง 

การฟังเสียงคำพูด ซึ่งเด็กที่หูหนวกตั้งแต่กำเนิดจะไม่สามารถได้ยินได้ เมื่อผ่านการฝึกฟังแล้ว จากนั้นจะเป็นกระบวนการฝึกพูด เน้นเรื่องการสื่อความหมาย การพูดและการออกเสียง

คุณอวิรุทธ์ สร้อยระยับ นักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า วิธีการที่ได้ผลดีสำหรับการฝึกเด็กคือ การใช้ของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการเป็นการดึงดูดความสนใจให้เด็กอยู่กับผู้ฝึกได้นาน ๆ จากนั้นก็สังเกตลักษณะการพูดของเด็ก การสื่อสารของเด็กกับนักแก้ไขการพูดว่าเป็นอย่างไร ก็จะค่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ 

นอกจากนี้ นักแก้ไขการพูดยังมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านหลอดเลือดสมอง ทำให้มีความบกพร่องทางด้านการสื่อสาร ซึ่งจะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์และช่วยฝึกเรื่องเสียงให้ผู้ป่วยอีกด้วย 

การกระตุ้นพัฒนาการในเด็กนั้น ผู้ปกครองควรจะมีเวลาพูดคุยและเล่นกับเด็กไปด้วย  

  • เคสที่ท้าทาย 

คือ เคสเด็กหูหนวกตั้งแต่กำเนิด สมัยก่อนก็ทราบกันว่าเด็กจะไม่สามารถพูดได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถพูดได้เหมือนเด็กปกติ สิ่งที่ท้าทายคือระยะเวลาหรืออายุของเด็กที่เข้ารับบริการ การเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ที่อาจจะเข้าไม่ถึงได้ทุกคน สำหรับการช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ให้สามารถพูดโต้ตอบได้เหมือนเด็กทั่วไป 

“การที่จะทำงานตรงนี้ได้ ทุกอาชีพของบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการที่จะช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นทัศนคติที่สำคัญในการทำงาน เพราะผู้ป่วยฝากชีวิตไว้กับเรา หากทำด้วยความไม่ระมัดระวังอาจเป็นการทำร้ายพวกเขา” คุณธนากิจ กล่าวทิ้งท้าย


รับชมวิดิโอ : https://youtu.be/nNASW7E21ZA?si=LNdKD7R-kI9V5OOE

ติดต่อโฆษณา!