สตรีสตรอง รับมือปวดรอบเดือน vs สัญญาณเตือนวัยทอง
“สตรี สตรอง” เรื่องต้องรู้ ของคุณผู้หญิง
“ผู้หญิง”เป็นเพศที่มีความซับซ้อนทั้งระบบร่างกายกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยมีอิทธิพลต่อสุขภาพโดยรวมในตลอดช่วงชีวิต ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างสอดคล้องกับความต้องการตลอดช่วงอายุของผู้หญิงคนหนึ่ง นับตั้งแต่การเติบโต การเข้าสู่วัยสาว การแต่งงาน การมีบุตร จนการเข้าสู่วัยทอง
โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผู้หญิง จะมีสองช่วงที่ชัดเจนและส่งผลต่อการใช้ชีวิตมาก คือ การเข้าสู่วัยสาว (เริ่มประจำเดือน) และ การเข้าสู่วัยทอง (หมดประจำเดือน) โดยการมีประจำเดือนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดจากจากฮอร์โมนที่เปลียนแปลงส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ในผู้หญิงบางรายก็อาจจะสามารถรับมือกับการมีประจำเดือนได้อย่างไม่ยากหากไม่ได้มีอาการที่รุนแรง แต่ในผู้หญิงบางคนก็จะมีอาการจากการมีประจำเดือนมากกว่าซึ่งก็ต้องได้รับดูแลและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองก็จะมีอาการจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วยเช่นกันเช่นกัน
โดยบทความวันนี้จะพูดถึงเรื่องของผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากการมีประจำเดือน และ การเข้าสู่วัยทอง พร้อมกับแนะนำแนวทางการรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
การเข้าสู่วัยมีประจำเดือน
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุประมาณ 10 - 13 ปีบางคนอาจจะมาช้าหรือมาเร็วกว่าช่วงอายุดังกล่าวขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของแต่ละบุคคล ซึ่งประจำเดือนก็คือการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกโดยจะสัมพันธ์กับการตกไข่ที่แต่ละรอบเดือนจะมีช่วงเวลาประมาณ 26 - 30 วันทำให้ประจำเดือนเกิดขึ้นเฉลี่ย 1 ครั้ง/เดือน ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นช่วงก่อน - ระหว่าง - หลังมีประจำเดือนอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาจจะมีอาการ เช่น
- อาการเต้านมคัดตึง
- อยากอาหารมากกว่าปกติ
- ความต้องการทางเพศต่ำ
- ปวดกล้ามเนื้อข้อต่อและหลังส่วนล่าง
- ปวดบริเวณท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- อ่อนเพลียหรือไม่มีแรง
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น เศร้า โกรธหงุดหงิดง่ายอารมณ์แปรปรวน หรือ วิตกกังวล
การดูแลดูแลตัวเองในช่วงระหว่างมีประจำเดือนนั้น ก็อาจจะต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนั้นของเดือนบ้าง โดยส่วนใหญ่ในช่วงระหว่างการมีประจำเดือนกล้ามเนื้อที่มดลูกจะบีบและคลายตัวมากกว่าปกติอาจทำให้รู้สึกไม่สบายหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยได้ซึ่งวิธีการบรรเทาอาการนั้นอาจทำได้โดย
- ประคบด้วยถุงน้ำร้อน
- การรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลให้ปวดมากขึ้น
- พักผ่อนให้มาก
- ดื่มน้ำอุ่น
- หากอาการรุนแรงมากหรือเรื้อรังผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
อาการประจำเดือนผิดปกติจะสังเกตได้จาก
- มีประจำเดือนมามากกว่า 7 วันขึ้นไป
- มีประจำเดือนมากจนทำให้ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยผิดปกติ
- ในผู้หญิงที่อายุเข้าใกล้เข้าวัยทองแต่ประจำเดือนกลับมามากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ควรจะน้อยลง
- มีอาการปวดท้องประจำเดือนจนไม่สามารถทนได้ หรือ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
- มีประจำเดือนขาดหาย
วิธีการตรวจหาสาเหตุของการมีประจำเดือนผิดปกติ
- พบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
- ตรวจเลือดเพื่อเช็กปริมาณฮอร์โมน
- ตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ (วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ACOG แนะนำว่า ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจภายใน)
- การอัลตราซาวนด์เพื่อหาสาเหตุของโรคให้มีความชัดเจนมากขึ้น
การเข้าสู่วัยทอง
ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก หมายถึง วัยที่มีการสิ้นสุดของการมีประจำเดือนอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน และเป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธุ์ โดยปกติจะนับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี
อาการของการเข้าสู่วัยทองแบ่งออกเป็น
ระยะสั้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- อาการร้อนวูบวาบ
- นอนไม่หลับ
- ผิวหนังแห้งขาดความยืดหยุ่น
- ช่องคลอดแห้ง
- เต้านมเล็กลงหย่อนคล้อยไม่เต่งตึง
- โอกาสมีบุตรลดน้อยลง
- อาจพบภาวะผิดปกติด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิด หรือ วิตกกังวล
ระยะยาว
- มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- กระดูกพรุน
- ปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะ
- น้ำหนักขึ้น
การดูแลสุขภาพของผู้หญิงวัยทอง
- เลือกกินอาหารดีมีประโยชน์
- พักอาศัยในที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
- ดูแลการเปลียนแปลงทางอารมณ์ มีอารมณ์ที่แจ่มใสอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี
การดูแลเพื่อรักษาอาการวัยทองนั้น แพทย์อาจแนะนำการดูแลรักษาอาการวัยทองด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน จัดเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับผู้หญิงวัยทองที่มีอาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยทอง ไม่ว่าจะเป็นการลดอาการร้อนวูบวาบ อาการซึมเศร้า ความจำเสื่อม ปัญหาด้านระบบทางเดินปัสสาวะและระบบเจริญพันธุ์ เพื่อช่วยให้สตรีวัยทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ฮอร์โมนทดแทนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
เพราะผู้หญิงมีระบบร่างกายที่ซับซ้อน สุขภาพผู้หญิงควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มในทุก ๆ ด้านและทุกช่วงวัยของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว
เมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที “ด้วยความปรารถนาดี จาก ทันข่าวToday”
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/xs5fN0VyH8Q?si=CQi5IGHQUYKee02q