06 กุมภาพันธ์ 2567
621

ไข้เลือดออกระบาดหนัก เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เดือนเดียวยอดพุ่งกว่า 8,000 คน

ไข้เลือดออกระบาดหนัก เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เดือนเดียวยอดพุ่งกว่า 8,000 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ที่พบผู้ป่วย 4,286 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.9 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี พบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง เสียชีวิตแล้ว 13 ราย กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี

ขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้ให้สถานพยาบาลทุกแห่งจ่าย “ยาทากันยุง” ให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอก ป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูก ยุงลายกัด สามารถส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่นได้ นพ.ธงชัย ระบุ 

สำหรับครอบครัวผู้ป่วยที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หรืออาศัยอยู่ในละแวกบ้านเดียวกับผู้ป่วยก็ต้องทายากันยุงเช่นกัน เพื่อป้องกันยุงกัด 

สำหรับอาการของไข้เลือดออก สังเกตได้นี้ มีไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา 

ข้อควรระวังคือ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน, ไดโคลฟีแนค, แอสไพริน รวมถึงยาชุด เพราะจะทำให้เลือดออกมากในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ หากรับประทานยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
ติดต่อโฆษณา!