สัญญาณ “โรคเลือด” เร่งรักษาก่อนเสี่ยงต่อชีวิต
โรคเลือด เป็นความผิดปกที่เกิดขึ้นกับเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ปกติแล้วร่างกายของเราจะมีเลือดไหลเวียนเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงระบบต่าง ๆ หากระบบเลือดมีปัญหาก็จะส่งผลต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
สำหรับบทความในวันนี้ จะพูดถึงโรคเลือดและภาวะที่เกิดขึ้นในระบบเลือดที่พบบ่อยในคนไทย นั่นก็คือ ภาวะโลหิตจาง และ โรคธาลัสซีเมีย
ภาวะโลหิตจาง คือ ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติทำให้ผู้ป่วยมีอาการซีด ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีดมากขึ้นอาจจะทำให้เริ่มรู้สึกเวียนหัวและจะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย
สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจาง
- การเป็นโรคธาลัสซีเมีย (เป็นโรคทางพันธุกรรม)
- การที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก (กินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ, เสียเลือดมาก, การมีประจำเดือนมากผิดปกติ, ช่วงการตั้งครรภ์ ฯลฯ)
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง
- ผิวหนังดูซีดหรือเหลืองกว่าปกติ (หน้า, ฝ่ามือ, เปลือกตาด้านใน)
- ความดันต่ำ หรือ ลดลงผิดปกติ
- มีอาการวิงเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม
- ถ้าในกรณีเด็ก การเติบโตจะช้ากว่า หรือ อาจจะตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่น เหนื่อยง่าย
- ถ้ากรณีผู้ใหญ่ อาจจะมีอาการเหนื่อยง่ายจากปริมาณออกซิเจนในร่างกายไม่เพียงพอ
- ถ้าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางแบบเฉียบพลัน โดยมีเม็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง
- การกินอาหารให้ครบห้าหมู่อย่างพอดีและสมดุล
- การกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดง (เนื้อวัว, เนื้อหมู, เครื่องใน), ไข่แดง, ผักใบเขียว
- การกินวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก, โฟลิก
ธาลัสซีเมีย คือ โรคที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลหิตจาง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงทำให้ผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อยลงและเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย จากสถิติพบว่าคนไทยประมาณ 40 - 50% เป็นพาหะนำโรคธาลัสซีเมีย (ไม่แสดงอาการและอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นพาหะ)
การตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย
- การตรวจคัดกรอง Screening Test
- การตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน Hemoglobin Typing
- การตรวจดีเอ็นเอ DNA Analysis
- การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมของทารกในครรภ์ NIPT
อาการของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
อาการธาลัสซีเมียในแต่ละบุคคลนั้นจะแสดงอาการไม่เท่ากันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพาหะธาลัสซีเมียที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
กลุ่มพาหะธาลัสซีเมียที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic/no symptoms) อาจมีอาการ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ไม่มีอาการเลย
กลุ่มผู้ที่มีระดับอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (Mild to moderate symptoms) ที่อาจต้องรับเลือดเป็นครั้งคราว อาจมีอาการดังนี้
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ซีดเล็กน้อย
- เจริญเติบโตช้า
- หัวใจทำงานหนัก
- เข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า
- มีความผิดปกติของกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน
- มีภาวะม้ามโต
กลุ่มผู้ที่มีระดับอาการรุนแรง (Severe symptoms) ที่จำเป็นต้องได้รับเลือดอย่างสม่ำเสมอ มักมีอาการดังต่อไปนี้
- เบื่ออาหาร
- ผิวซีดจางรุนแรง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- กระดูกเปราะหรือกระดูกแตกหักง่าย
- หายใจลำบาก
- มีโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น มีกะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มสูง หน้าผากสูง เนื่องจากมีการขยายตัวของไขกระดูก
- การเสียชีวิตของทารกในครรภ์มารดาหรือหลังคลอดจากภาวะซีด บวมน้ำ และหัวใจวาย
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย
- การรับเลือดเพื่อเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง และฮีโมโกบินที่มีความสมบูรณ์ ในเด็กเล็กที่เป็นธาลัสซีเมีย แพทย์อาจจะพิจารณาให้เลือดทุก ๆ 1 - 2 เดือน เพื่อช่วยเรื่องการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันการดูดซึมธาตุเหล็กในทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้โครงสร้างกระดูกบนใบหน้าผิดรูป รวมถึงช่วยผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียมาก
- การให้ยาขับธาตุเหล็กสำหรับผู้ป่วนที่รับเลือดเป็นประจำ อาจทำให้มีการสะสมของธาตุเหล็กในปริมาณมากที่อาจทำให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหาย โดยแพทย์จะให้ยาขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายร่วมในการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหาย
- การให้กรดโฟลิกเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ที่แข็งแรงและมีคุณภาพ
- การผ่าตัดม้าม แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดม้ามในเคสที่ผู้ป่วยเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่มีอาการ เช่น ม้ามโต ซีดรุนแรง ต้องการเลือดมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือ เกร็ดเลือดต่ำจากภาวะม้ามโต
- การปลูกถ่ายไขกระดูกและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเป็นวิธีการรักษาธาลัสซีเมียเพียงวิธีเดียวในปัจจุบันที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ในการรักษาพบว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีโดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
การป้องโรคธาลัสซีเมีย
อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียหรือเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติสู่ลูกหลานได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงเป็นพาหะธาลัสซีเมียควรเข้ารับการตรวจทารกในครรภ์ก่อนคลอด ผู้ที่วางแผนแต่งงานควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือการตรวจสุขภาพก่อนการมีบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แต่งงานที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นธาลัสซีเมีย เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เป็นพาหะนำโรคธาลัสซีเมียสู่ลูกหลานได้
การรักษาโรคธาลัสซีเมียและภาวะโลหิตจางควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและระบบเลือด การตรวจสุขภาพประจำสามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที “ด้วยความปรารถนาดี จาก ทันข่าวToday”
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/G7ffjK-5c3A?si=6PNSd4QeaJ4hJxov