18 กุมภาพันธ์ 2567
2,282

รักปลอดภัย ใส่ใจโรคทางเพศสัมพันธ์

เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้นโรคที่เกิดขึ้นจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ทุกเพศต้องให้ความใส่ใจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก แม้คนที่สุขภาพแข็งแรงดีก็มีโอกาสได้รับเชื้อเช่นกัน ดังนั้นการเข้าใจในปัจจัยเสี่ยงก็จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ STDs ได้มากขึ้น

 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases) คือ กลุ่มโรคที่ผู้ป่วยติดเชื้อจำพวก ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต ถ่ายทอดจากคนสู่คน ผ่านการมีเพศสัมพันธ์, แม่สู่ทารกในครรภ์ และ การสัมผัสทางเลือด

 

การติดโรคทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง ?

การติดโรคทางเพศสัมพันธ์นั้น จะเป็นส่งผ่านเชื้อจากคนสู่คนผ่านเลือด น้ำอสุจิ อวัยวะเพศ และของเหลวในร่างกายร่างกาย อาจจะส่งผ่านโดยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่นอนที่มีประวัติการติดเชื้อในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่ป้องกันด้วยถุงยาง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือจะเป็นการส่งต่อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ก็ได้

 

โรคทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง ?

  • หนองใน ( Gonorrhea ) - เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้
  • หนองในเทียม ( Chlamydia ) - เกิดจากการติดเชื้อคลามัยเดีย ( Chlamydia trachomatis ) อาการใกล้เคียงกับโรคหนองใน
  • เริมที่อวัยวะเพศ ( Genital Herpes ) - เป็นผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HSV ( Herpes Simplex Virus ) 
  • โลน ( Pubic Lice ) - เป็นปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ แพร่กระจายด้วยการสัมผัสโดยตรง
  • ซิฟิลิส ( Syphilis ) - เกิดจากแบคทีเรีย สามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ ในบางกรณีซิฟิลิสร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • พยาธิในช่องคลอด ( Trichomoniasis ) - ที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 5 - 28 วัน 
  • ไวรัสตับอักเสบบี ( HBV ) - เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus)  ซึ่งการอักเสบของตับ จะทำให้เซลล์ตับตายเกิดพังผืด ทำให้ผู้ป่วยเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้
  • การติดเชื้อ HIV - การติดเชื้อไวรัสที่จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 และนำไปสู่โรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ 
  • การติดเชื้อ HPV - การติดเชื้อไวรัส HPV ที่มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจจะทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณปากมดลูก และกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในผู้ป่วยบางรายได้

 

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำได้อย่างไร ?

โรคทางเพศสัมพันธ์นั้นสามารถป้องกันได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากการแพร่เชื้อสามารถกระตุ้นได้จากหลายสาเหตุ การเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยก็จะช่วย ลดโอกาสในการติดเชื้อได้

  • ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • รักษาความสะอาดร่างกายและบริเวณอวัยวะเพศ
  • การตรวจคัดกรองโรคทางเพศสัมพันธ์ตามคำแนะนำ ( หญิงมีเพศสัมพันธ์แนะนำการตรวจคัดกรองที่อายุ 25 ปี และ หญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์แนะนำการตรวจคัดกรองที่อายุ 30 ปี )
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV

 

การแนะนำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์

ปัจจุบันก็ทางการแพทย์ก็มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์บางโรค เช่น 

  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เป็นการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอที่สามารถติดต่อทางการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระ หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนัก คำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนตับอักเสบเอจำนวน 2 เข็ม โดยหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี รัฐบาลมีนโยบายให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2535 ดังนั้น ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป น่าจะได้รับวัคซีนแล้วและอาจขอตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่โรงพยาบาลได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีภูมิหรือเกิดก่อนปี 2535 และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็สามารถมาขอรับบริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลได้ โดยจะเป็นการรับวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1 และ 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีน HPV) สามารถป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ รวมทั้งสามารถป้องกันการเป็นหูดหงอนไก่ได้ถ้าเป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปีแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

 

เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก อย่าทำให้รักหวานกลายเป็นยาขมในความสัมพันธ์เพียงชั่วข้ามคืน ควรดูแลการมีเพศสัมพันธ์ให้มีความปลอดภัยด้วยการป้องกันที่ถูกวิธีเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก 

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้นำไปสู่โรคที่ร้ายแรงมากขึ้น


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/q_q5NULGMnk?si=RIS9WB45LjHb49am

ติดต่อโฆษณา!