ตา "ดี" ได้ ตาร้ายต้อง "พบหมอฯ"
ต้อกระจก ภัยร้ายการมองเห็น
ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยจะมีเลนส์แก้วตาขุ่น ไม่ใสเหมือนปกติ ทำให้แสงผ่านเลนส์ตาได้ลดลง จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นผิดปกติไป ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและคุณภาพการมองเห็นลดลง
อาการของโรคต้อกระจก
ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการ สายตาสั้น สายตาเอียง และตามัวมากขึ้น เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบดบังการมองเห็น เนื่องจากการขุ่นมัวของเลนส์แก้วตา บางรายอาจเกิดการมองเห็นภาพซ้อน สู้แสงสว่างไม่ได้ การรับรู้สีผิดเพี้ยน หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้นานไม่ได้รับการรักษา จะทำให้มีโอกาสเกิดต้อหิน ปวดตา ตาแดง ความดันตาสูงขึ้น คุณภาพการมองเห็นลดลงและอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้
สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก แบ่งออกเป็น ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย
ปัจจัยภายนอก
- การผ่าตัดหรือเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา
- การอักเสบภายในดวงตา
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์
- การสัมผัสแสงแดด (UV) เป็นเวลานาน
ปัจจัยภายใน
- การเสื่อมของดวงตาตามวัยและอายุเพิ่มมากขึ้น
- การผิดปกติที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม
- การผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน
วิธีการรักษาโรคต้อกระจก
ในระยะเริ่มแรก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่แว่นตาเพื่อปรับค่าสายตา หากพบว่าผู้ป่วยมีค่าสายตาที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น หากมีอาการมากขึ้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดนำต้อออก อาจจะด้วยวิธีการสลายต้อด้วยเครื่องสลายต้อ หรือ เอาเลนส์ตาที่เป็นต้อออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปทดแทน
วิธีการป้องกันโรคต้อกระจก
- ป้องกันสายตาจากแสง UV เมือต้องอยู่กลางแจ้งด้วยการใส่แว่นกกันแดด
- ควบคุมโรคประจำตัวที่อาจจะก่อให้เกิดโรคต้อกระจกให้ดี
- หลีกเลี่ยงการกินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือ ให้กินภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาและการมองเห็น ควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้นำไปสู่การสูญเสียดวงตาและการมองเห็น ด้วยความปรารถนาดีจาก #ทันข่าวสุขภาพ
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/KX8pRVqhywk?si=W6UA-pLVhkxS4GVh