24 กุมภาพันธ์ 2567
1,556

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ อาการปวดฝ่าเท้าที่เกิดขึ้นตลอดเวลา


เคยหรือไม่ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า และก้าวเท้าลงพื้น จะมีอาการปวดที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า ถ้าเคยหมายถึงคุณอาจเริ่มเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือที่เรียกกันว่า รองช้ำ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการบาดเจ็บ หรืออักเสบของเอ็นฝ่าเท้า บริเวณที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า โดยเอ็นฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้า ไปยังนิ้วเท้าเพื่อช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเดินหรือวิ่ง 

ผู้ที่เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ จะมีอาการปวดเจ็บกดเจ็บบริเวณส้นเท้า โดยในอาการระยะแรก อาจเกิดอาการภายหลังการออกกำลังกาย เดินหรือยืนนาน ๆ แต่ถ้าอาการมากขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา 

รายการวาไรตี้ ลัดคิวหมอรามาฯ วันนี้เรามารู้จักโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ สาเหตุ สัญญาณเตือน และวิธีการรักษา เป็นอย่างไร 

พบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผศ. พญ.ศิริสุชา โศภณคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ ผศ. นพ.สรวุฒิ ธรรมยงค์กิจ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ไว้เป็นความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันอาการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า


20240224-b-02.jpg

▪️ เอ็นฝ่าเท้าเกิดจากอะไร 

อายุเพิ่มขึ้น การใช้งาน โรคเฉพาะตัว ลักษณะฝ่าเท้าที่แบนหรือโก่งผิดปกติ เอ็นร้อยหวายตึง ก็จะทำให้เอ็นฝ่าเท้าอักเสบได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากมีการบาดเจ็บของเอ็นฝ่าเท้า บริเวณที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า โดยเอ็นฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้าไปยังนิ้วเท้า เพื่อลดแรงกระแทก เมื่อเดินหรือวิ่ง 

สัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง เมื่อตื่นนอนตอนเช้า และก้าวเท้าลงพื้น จะมีอาการปวดที่ฝ่าท้าและส้นเท้า ก็น่าสงสัยได้ว่าจะเป็นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 


▪️ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ อาจมาจากหลายปัจจัย 

1. อายุที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เส้นเอ็นเสื่อมไปได้ ตามอายุ และการใช้งาน

2. การใช้งาน ถ้าใช้งานเยอะ ในการยืนหรือเดินนาน ๆ 

3. โรคประจำตัว 

4. ลักษณะฝ่าเท้า เช่น เท้าแบนหรืออุ้งเท้าที่โก่งมากกว่าปกติ ก็เป็นปัจจัยทำให้เอ็นฝ่าเท้าอักเสบง่ายขึ้น 

5. ลักษณะของกล้ามเนื้อที่ตึงมาก ๆ เช่น เอ็นร้อยหวายตึงมาก ๆ เมื่อใช้งานก็ก็มีความเสี่ยง มีโอกาสที่เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้น 


20240224-b-01.jpg



▪️ ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้าง 

- ผู้หญิง เนื่องจากชั้นไขมันใต้ส้นเท้าบางกว่าผู้ชาย 
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากขึ้น
- ผู้ที่มีอาชีพยืนหรือเดินมาก ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึง 
- ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูง หรือแบนผิดปกติ 
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะให้เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 

หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยควรจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ถ้าต้องเดินหรือวิ่งนาน ๆ อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นรองเท้ากีฬา ที่เหมาะกับรูปเท้าของตัวเอง เช่นเท้าโก่งเยอะ ๆ อาจจะหารองเท้าที่ด้านในมีความนิ่ม ลักษณะเท้าแบนก็ควรหาวัสดุรองด้านในรองเท้าให้พอดี การใส่รองเท้าส้นสูงเดินเป็นเวลานานอาจทำให้เอ็นร้อยหวายผิดปกติ และทำให้เอ็นข้อเท้าอักเสบได้


20240224-b-03.jpg

▪️ การรักษา เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ โดยวิธีไม่ผ่าตัดเป็นหลัก 

- การทำกายภาพบำบัด
- การใช้ยา
- ลดน้ำหนัก
- หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านาน ๆ 
- เลือกใส่รองเท้าที่พื้นนุ่ม 

ส่วนใหญ่เมื่อตรวจพบว่าเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ แพทย์จะแนะนำผุ้ป่วยทำกายภาพบำบัดตามขั้นตอนควบคู่ไปกับการใช้ยา, ลดน้ำหนัก, หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านาน ๆ หรือการเลือกใส่รองเท้า โดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัด 

ถ้าเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ใช้วิธียืดเอ็นฝ่าเท้า การยืดเอ็นร้อยหวาย ผ่อนทำได้คลายป้องกันการเป็นซ้ำ ทำได้โดย การกระดกส้นเท้าขึ้น กระดกนิ้วเท้าขึ้น การยืดเอ็นร้อยหวายทำได้โดยยืนบนแผ่นไม้เอียง ยืดกับกำแพงมือดันกำแพง เหยียดขาด้านนั้นไปด้านหลังให้ส้นเท้าติดพื้น หรือนอนบนเตียง ใช้ผ้าดึงฝาเท้าดึงเข้าตนเอง เป็นการช่วยยืดเอ็นร้อยหวาย นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็จะช่วยลดอาการปวด อาการบวมได้เช่นกัน 

การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการ บำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ การผ่าตัดจะค่อนข้างน้อย ยกเว้นกรณีที่มีอาการเยอะ เช่น มีหินปูนเกาะกระดูก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

การดูแลหลังการผ่าตัด ก็ใช้หลักปฏิบัติที่คล้ายกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน การยืดเหยียด หรือการเลือกรองเท้าให้เหมาะสม 

การนวดเท้าด้วยยาหม่อง เพื่อผ่อนคลายก็ช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ควรแก้ไขที่สาเหตุหลัก ลดการใช้งานหนัก เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการอักเสบในระยะยาว

รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/L7s47zk4izc?si=y_r2dfx_DapwmKEi



ติดต่อโฆษณา!