โปรดระวัง !!! “สะเทือนไต”
จากการศึกษาพบว่า คนไทยประมาณ 17.6 % ป่วยเป็นโรคไต หรือคิดเป็นผู้ป่วยราว 8 ล้านคน โดยมีผู้ป่วยกว่าแสนคน จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตและมีแนวโน้มมากขึ้นเป็นทุกปี ๆ ดังนั้น โรคไตจึงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่โรคไตระยะสุดท้าย
ทั้งนี้ ไตถือเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ขับของเสียและรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย โดยไตจะทำหน้าที่กรองน้ำ, เกลือแร่, สารเคมี และของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ แล้วขับออกทางปัสสาวะ นอกจากนี้ไตยังมีหน้าที่ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดด้วย
โดยผู้ป่วยโรคไตนั้น จะมีการทำงานของไตที่ลดลง ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการทำให้ผู้ป่วยหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าตนเองนั้นเป็นโรคไตถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนหน่วยไตเหลือน้อยลง ก็จะแสดงอาการจากของเสียคั่งในอยู่ในกระแสเลือด เช่น ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ฉะนั้นการตรวจสุขภาพไตทุกปีจึงมีความสำคัญเพื่อที่เราจะได้รีบวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุและความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง
- โรคประจำตัวบางโรคที่ส่งผลกระทบต่อไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเกาต์
- การมีภาวะไตผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด
- พันธุกรรมหรือคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต
- การรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป (ไม่ได้แค่เค็มจัด แต่หมายรวมถึง หวานจัด และเผ็ดจัดด้วย)
- การได้รับยาบางชนิดเช่นยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs หรือ สารพิษที่ทำลายไต
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป จนเกิดภาวะขาดน้ำ
อาการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคไตในช่วงแรกแทบไม่มีสัญญาณเตือนหรือแสดงอาการ โดยอาการมักจะปรากฏในช่วงระยะท้าย ๆ เนื่องจากไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว ทั้งนี้สามารถสังเกตอาการดังนี้
- ความผิดปกติเรื่องการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะเป็นฟองจากโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ หรือ ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
- อาการบวมบริเวณใบหน้าหรือเท้า
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ผิวหนังจะซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไต
- ตรวจหาโปรตีนและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ โดยปกติโปรตีนและเม็ดเลือดแดงจะไม่ผ่านการกรองออกมาในปัสสาวะ ในภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจพบโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วออกมากับปัสสาวะ ได้
- ตรวจเลือดเพื่อหาค่าครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งเป็นค่าของเสียในเลือด โดยผลที่ได้จะนำมาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไตหรือ GFR (Glomerular Filtration Rate)
- การตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ทำการตรวจอัลตราซาวนด์ไตและทางเดินปัสสาวะ และในบางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อไตส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย
วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไต
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) จะเป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยแล้วผ่านตัวกรองเพื่อกำจัดของเสีย ปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่างเพื่อให้กลายเป็นเลือดดีก่อนที่เครื่องไตเทียมจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชม. และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการตัดต่อเส้นเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือดเสียก่อน
- การล้างไตทางผนังช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องผ่านทางสายยางที่ฝังไว้ในช่องท้องผู้ป่วยเพื่อกรองของเสียในร่างกายออก วิธีนี้จำเป็นต้องทำทุกวัน ผู้ป่วยจึงมักทำที่บ้านและเรียนรู้วิธีการทำด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีข้อจำกัดที่ผู้ป่วยหลายรายไม่สะดวก และมีข้อควรระวังเรื่องความสะอาดที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว โดยไตใหม่นั้นอาจได้มาจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตาย หรือผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่และมีไตเข้ากับผู้ป่วยได้ วิธีนี้มีข้อจำกัดเรื่องไตที่ต้องรอรับบริจาค
การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการเป็นพิเศษ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 แก้ว/วัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงการกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือ ยาชุด
หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก #ทันข่าวสุขภาพ
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/ZQDR6_FLdTs?si=uIgFxB2fHlYFA-pC